อย่างที่เราทราบกันดีว่า บริเวณช่องท้องประกอบไปด้วยอวัยวะสำคัญมากมาย เช่น กระเพาะอาหาร ตับ ม้าม ไต ถุงน้ำดี ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ ซึ่งอยู่ทั้งในจุดที่ใกล้เคียงและห่างกันในแต่ละอวัยวะ

และแน่นอนว่า แต่ละคนคงจะเคยมีอาการปวดท้องหลายๆครั้งเกิดขึ้นในชีวิตกันไม่ใช่น้อย แต่เคยทราบไหมว่า “อาการปวดท้อง” บอกโรคได้มากกว่าที่เราคิด!

วันนี้ Healthy Clean มีโอกาสได้พูดคุยกับ นพ.อุดมรัช โกวิททวิพัฒน์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ เผยว่า การประเมินอาการ “ปวดท้อง” จากตำแหน่งต่างๆ นั้น เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุเบื้องต้นได้ว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุหรือเป็นโรคใด เพื่อการตรวจเพิ่มเติมให้แน่ชัด และวางแนวทางการรักษาให้ตรงโรค

7อาการปวดท้อง ตรงไหนบอกอะไรบ้าง?
-ตำแหน่งท้องขวาช่วงบน 
อาจเป็นภาวะของโรคที่เกิดบริเวณตับ ถุงน้ำดี ลำไส้ที่อยู่ตรงตำแหน่งนั้น รวมถึงไตข้างขวา เช่น โรคตับอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี กรวยไตข้างขวาอักเสบ เกิดนิ่วในไตข้างขวา เป็นต้น
-ตำแหน่งขวาช่วงล่าง
อาการปวดท้องบริเวณนี้อาจแสดงถึงโรคที่เกิดจากไส้ติ่ง ลำไส้ที่อยู่ตำแหน่งนี้ หรือปีกมดลูกด้านขวา เช่น อาการไส้ติ่งอักเสบ ปีกมดลูกข้างขวาอักเสบ เป็นต้น
-ตำแหน่งใต้ลิ้นปี่ 
อาจเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร หรือถุงน้ำดี เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคกรดไหลย้อน หรือนิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น
-ตำแหน่งรอบสะดือ 
โรคที่เกิดจากลำไส้เล็ก อาจเกิดจากลำไส้อักเสบ และเป็นอาการเริ่มต้นของไส้ติ่งอักเสบได้ หากเป็นไส้ติ่งอักเสบอาการปวดท้องจะค่อยๆ ย้ายไปบริเวณด้านขวาช่วงล่างแทน
-ตำแหน่งเหนือหัวหน่าว 
อาจเป็นโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะหรือมดลูก เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มดลูกอักเสบ เนื้องอกมดลูก เป็นตัน
-ตำแหน่งด้านซ้ายช่วงบน 
อาจเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะอาหาร ม้าม ตับอ่อน ลำไส้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้ และไตข้างช้าย เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคตับอ่อนอักเสบ ม้ามแตก กรวยไตข้างช้ายอักเสบ นิ่วในไตข้างช้าย เป็นต้น
-ตำแหน่งซ้ายช่วงล่าง 
อาจเป็นโรคที่เกิดจากลำไส้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้ ปีกมดลูกด้านซ้าย เช่น โรคลำไส้อักเสบ ปีกมดลูกข้างซ้ายอักเสบ เป็นต้น
อาการปวดท้องมักเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้ามหรือเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งความจริงอาจมีโรคร้ายแรงซ่อนอยู่ภายใต้อาการปวดนั้น โดยอาการปวดในช่องท้องในแต่ละตำแหน่งจะมีโอกาสเกิดโรคที่แตกต่างกันไป

แต่ที่สำคัญแล้ว เพื่อการหาสาเหตุหรือที่มาของอาการปวดท้องได้อย่างถูกต้อง “แนะนำว่าควรจดจำตำแหน่งที่ปวด ระยะเวลาที่ปวด เพื่อแจ้งแก่แพทย์เมื่อเข้ามารับการตรวจ” ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เห็นที่มาที่ไปเหมือนได้เริ่มการวินิจฉัยตั้งแต่มีอาการ ซึ่งแพทย์จะทำการสอบถามอาการ ตรวจด้วยวิธีและเครื่องมือต่างๆ ก่อนสรุปตัวโรคเพื่อทำการรักษาอย่างตรงจุดให้เหมาะกับโรคและความรุนแรงของอาการต่อไป…

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”
ขอบคุณภาพ : โรงพยาบาลขอนแก่น