กระทรวงการต่างประเทศแคนาดาประกาศเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา ว่านายจ้าว เหว่ย นักการทูตจีนประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโทรอนโต มีสถานะเป็น “บุคคลไม่พึงปรารถนา” และต้องเดินทางออกจากแคนาดา “ภายในระยะเวลาที่กำหนด” จากการ “ข่มขู่คุกคาม” นักการเมืองของแคนาดา

CBC News: The National

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นภายในเวลาไม่นาน หลังกระทรวงการต่างประเทศแคนาดาเชิญนายกง เพ่ยอู๋ เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงออตตาวา เข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับรายงานของ “เดอะ โกลบ แอนด์ เดอะ เมล” ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อใหญ่ของแคนาดา อ้างเป็นข้อมูลจากหน่วยข่าวกรอง ว่าจีนกำลังค้นหาและรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับนายไมเคิล ชอง สมาชิกสภาสามัญสังกัดพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้าน และครอบครัว โดยมีวัตถุประสงค์ “เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่นักการเมืองแคนาดา” ที่ “แสดงจุดยืนต่อต้านจีน”

แม่ลูกชาวจีนคู่หนึ่ง ที่สถานกงสุลใหญ่แคนาดา ประจำนครเซี่ยงไฮ้

อนึ่ง ชองมีชื่ออยู่ในบัญชีดำการคว่ำบาตรของรัฐบาลปักกิ่ง เมื่อปี 2564 หลังเป็นแกนนำให้สภาสามัญของแคนาดารับรองมติ ประณามจีน “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ต่อกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

ต่อจากนั้นไม่นาน กระทรวงการต่างประเทศจีนประกาศ การขับนางเจนนิเฟอร์ ลินน์ ลาลองด์ กงสุลใหญ่แคนาดา ณ นครเซี่ยงไฮ้ ให้เดินทางออกไป ภายในวันที่ 13 พ.ค. พร้อมทั้งระบุด้วยว่า “รัฐบาลปักกิ่งมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการเพิ่มเติม” ต่อ “การกระทำที่ไร้เหตุผลของแคนาดา”

Global News

ด้านนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ผู้นำแคนาดา กล่าวว่า การประกาศให้นักการทูตคนใดมีสถานะเป็น “บุคคลไม่พึงปรารถนา” ถือเป็น “เรื่องที่ร้ายแรงอย่างมาก” อย่างไรก็ตาม รัฐบาลออตตาวาจะยังคงดำเนินการ “ที่จำเป็นตามกฎหมาย” เพื่อปกป้องพลเมืองทุกคนจาก “การถูกคุกคามและการแทรกแซงโดยต่างชาติ” และไม่ว่าจีนจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แคนาดาจะไม่มีทางตกเป็นฝ่ายถูกข่มขู่อยู่ฝ่ายเดียว

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแคนาดาตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัฐบาลอตตาวาดำเนินการตามคำร้องของสหรัฐ ในการจับกุม น.ส.เมิ่ง หว่านโจว ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน ( ซีเอฟโอ ) ของหัวเว่ย โดยเธอเป็นบุตรคนโตของนายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งบริษัท เมื่อเดือนธ.ค. 2561 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติแวนคูเวอร์ ตามหมายจับของศาลที่นครนิวยอร์ก ว่าเธอละเมิดกฎหมายของรัฐบาลวอชิงตัน ว่าด้วยการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลเตหะราน ด้วยการที่เธอตั้งบริษัทบังหน้าในอเมริกา เพื่อส่งออกสินค้าของหัวเว่ยไปยังอิหร่าน

ทั้งนี้ น.ส.เมิ่งได้รับการปล่อยตัว เมื่อเดือนก.ย. 2564 และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน รัฐบาลปักกิ่งปล่อยตัวพลเมืองแคนาดา 2 คน คือนายไมเคิล สปาวอร์ และนายไมเคิล คอฟริก ซึ่งถูกจับกุมและคุมขังในจีน ภายในเวลาไม่นาน หลังทายาทหัวเว่ยถูกจับกุมที่แคนาดา

ขณะเดียวกัน ทั้งสองประเทศยังมีความขัดแย้งกันในอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี การที่แคนาดาแบนบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งของจีน ล่าสุดคือติ๊กต็อก นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของการสนทนาระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน กับทรูโด ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ “จี20” ซึ่งจัดที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย เมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน สนทนากับนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ผู้นำแคนาดา ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำจี20 ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย พ.ย. 2565

ผู้นำจีนแสดงความไม่พอใจอย่างมาก เมื่อได้ทราบว่า ประเด็นที่มีการหารือเป็นการภายในกับทรูโด หลุดออกมาถึงสื่อมวลชน มีทั้งประเด็นแคนาดากล่าวหาจีนจารกรรมข้อมูลลับ และ “แทรกแซง” การเลือกตั้งทั่วไปของแคนาดา เมื่อปี 2564

BBC News

อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ รัฐบาลปักกิ่งไม่เคยยืนยันหรือปฏิเสธ เนื้อหาของการพูดคุยในวันนั้น แต่กล่าวเพียงว่า ทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศจะเป็นอย่างไรในอนาคต “ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและการดำเนินการ” ของรัฐบาลออตตาวา

ไม่ว่าทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศจะเป็นอย่างไรนับจากนี้ มีความเป็นไปได้มากพอสมควร ว่ารัฐบาลปักกิ่งจะยังคงเดินหน้า “สร้างอิทธิพลทางการทูต” ต่อไป ด้วยความเชื่อมั่น และการคำนวณสถานการณ์มาเป็นอย่างดีแล้วว่า แม้สหรัฐจะคอยจับตา และกำกับการตอบโต้ของแคนาดา แต่รัฐบาลวอชิงตันต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังเช่นกัน เพื่อไม่ให้ความสัมพันธ์กับจีนตึงเครียดไปมากกว่าที่เป็นอยู่.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP