และเมื่อต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ประกอบกับการที่ต้องเว้นระยะห่าง ลดการออกไปเจอสังคมรอบข้าง จึงเกิดความนิยมในการหาสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงเพื่อช่วยบรรเทาความเหงาและเยียวยาจิตใจ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ผู้คนต้องกลับไปทำงานตามเดิม ทำให้สัตว์เลี้ยงบางส่วนถูกละความสนใจและรู้สึกถูกทอดทิ้ง จนเกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้

ทำความรู้จักภาวะซึมเศร้าในสัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือแมว มีอารมณ์พื้นฐานเหมือนกับคน เช่น ความสุข ความเศร้า ความกลัว ความสับสน เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเจอสถานการณ์ที่กระทบกับความรู้สึก สัตว์เลี้ยงจึงแสดงพฤติกรรมที่ต่างไปจากปกติออกมาได้ และจากการศึกษาพบว่า การที่สมองหลั่งสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า เซโรโทนิน (serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข ควบคุมอารมณ์ให้ผ่อนคลาย คลายเครียด และสารนอร์เอพิเนฟรีน (norepinephrine) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ทำให้สมองมีการตื่นตัว และจดจ่อกับกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันต่ำผิดปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในสัตว์เลี้ยงได้เช่นเดียวกันกับในคน สำหรับในคน จิตแพทย์จะใช้แบบทดสอบและการสัมภาษณ์เพื่อวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้น แต่สำหรับสัตว์เลี้ยงไม่สามารถตอบแบบทดสอบให้เราได้ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ต้องคอยสังเกตอาการและพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ผิดปกติไป

สัญญาณเตือนของภาวะซึมเศร้าในสัตว์เลี้ยง ซึมผิดปกติ หงอย ไม่ร่าเริง ไม่แสดงอาการตื่นเต้นหรือสนุกสนาน, เก็บตัวมากขึ้น ชอบหาที่ซ่อน หลบอยู่ใต้ชั้นหรือตู้ แยกตัวออกจากสังคม แยกตัวจากกลุ่มสัตว์เลี้ยงขี้ตกใจ หรือกลัวไปหมด, นอนเยอะขึ้น ไม่ทำกิจกรรมที่เคยชอบ ไม่สนใจเล่นของเล่นชิ้นโปรด, ทำร้ายตัวเอง เช่น การกัดแทะขนในตำแหน่งเดิมซ้ำ ๆ จนขนร่วง แทะปลายเท้า ไล่กัดหางตัวเอง หรือเลียทำความสะอาดร่างกายมากกว่าปกติ, มีอาการเดินวนย้ำคิดย้ำทำ, เบื่ออาหาร ทั้งนี้ต้องพิจารณาร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เนื่องจากการเบื่ออาหารอาจเกิดจากความเจ็บป่วยทางกายได้เช่นกัน, ขับถ่ายไม่เป็นที่ ในสัตว์เลี้ยงที่ก่อนหน้านี้ขับถ่ายเป็นที่ปกติ แต่มีพฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนไปอาจเกิดจากภาวะเครียดสะสมได้, ก้าวร้าวมากขึ้น หรือพฤติกรรมเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี หรือตรงข้ามกับพฤติกรรมเดิม

สาเหตุของภาวะซึมเศร้าในสัตว์เลี้ยง สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เช่น การเปลี่ยนที่อยู่ใหม่ เปลี่ยนครอบครัวใหม่ มีสัตว์ตัวอื่นเข้ามาอาศัยในบ้าน สิ่งเหล่านี้ทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดความไม่คุ้นชินและเกิดความกังวลมากกว่าปกติ เกิดภาวะเครียดสะสมตามมาได้, ถูกปล่อยทิ้งไว้ตัวเดียวเป็นเวลานาน ไม่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากคนเลี้ยง จนเกิดความเครียดเป็นระยะเวลานาน, การสูญเสีย ไม่ว่าทั้งจากคนเลี้ยง คนในครอบครัว หรือสัตว์เลี้ยงตัวอื่นในบ้าน, แสงอาทิตย์น้อยในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะในต่างประเทศที่มีเวลาของกลางคืนยาวนานกว่ากลางวันมาก ๆ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดภาวะซึมเศร้าในช่วงฤดูหนาวได้ เรียกว่า “Winter blues” เนื่องจากแสงอาทิตย์จะช่วยให้ร่างกายสร้างสารเซโรโทนินในระดับที่เหมาะสม เมื่อแสงอาทิตย์น้อยลงในช่วงฤดูหนาว สารนี้จึงถูกสร้างน้อยลงไปด้วย

การรักษาและการดูแลสัตว์ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า หาสาเหตุให้เจอ และแก้ที่สาเหตุเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาภาวะซึมเศร้า เจ้าของยังสามารถช่วยลดความเครียด ทำให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกผ่อนคลาย และสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยง ได้ด้วยการนวดสัมผัสตามใบหน้า ขมับ เท้าหรือขา รวมทั้งสามารถเปิดเพลงสบาย ๆ ให้ฟังเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีด้วยเสียงเพลงขณะอยู่บ้าน แต่ถ้าพยายามแก้ไขสาเหตุและปรับปรุงการเลี้ยงให้ดีขึ้นแล้ว แต่สัตว์เลี้ยงก็ยังมีอาการไม่ดีขึ้น ในบางรายการใช้ยาเพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองก็อาจช่วยได้ ทั้งนี้การใช้ยาควรอยู่ในความดูแลของสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสัตว์ เนื่องจากยาเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ หรืออาจทำให้อาการแย่ลงได้

วิธีป้องกันภาวะซึมเศร้าในสัตว์เลี้ยง เอาใจใส่ดูแลสัตว์เลี้ยงให้มากขึ้น ใช้เวลาร่วมกับสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ, หมั่นพาออกไปเดินเล่นนอกบ้าน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ ทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกัน, ให้รางวัลเช่น ขนม หรือของเล่นที่ชอบ เมื่อสัตว์เลี้ยงทำสิ่งที่ถูกต้อง และหาของเล่นชิ้นใหม่ให้เพื่อกระตุ้นความสนใจอยู่เสมอ

ไม่ใช่แค่คนเราที่ต้องการความรัก การเอาใจใส่ดูแล สัตว์เลี้ยงของเราก็เช่นกัน แน่นอนว่าการแก้ไขภาวะซึมเศร้าหรือการปรับเปลี่ยนอารมณ์ของสัตว์เลี้ยงอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การหมั่นเอาใจใส่ดูแล สังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ของเจ้าของอย่างเรานี่แหละค่ะ ที่จะสามารถช่วยรักษาภาวะซึมเศร้าของสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราได้.

สพญ.วีรินทร อรุณราษฎร์
สัตวแพทย์ประจำหออภิบาลสัตว์ป่วยใน (IPD)
โรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ