“ทุกคนต่างมีเรื่องเล่า” เป็นสิ่งที่ “นัท ณัฐวุฒิ นานุสิทธิ์” นักตัดต่อละคร ผู้เข้าประกวดที่เสนอแคมเปญเรื่อง “human library” หรือห้องสมุดมนุษย์ ที่มองว่า เรื่องเล่า ความคิดของคนธรรมดาๆ ก็มีความน่าสนใจ มันน่าจะมีประโยชน์ทั้งในการถอดบทเรียนเพื่อปรับใช้ในชีวิต หรือแม้แต่การได้ระบายเรื่องในใจของตัวเอง ก็เป็นการแก้ปัญหาหนักหน่วงในใจได้ อาจได้ที่ปรึกษา .. สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ใช้จำกัดความของการนำเสนอแคมเปญเพื่อรณรงค์ทางสังคมในการจัดประกวดเวที Mr Gay World Thailand 2023 ซึ่งจัดเป็นปีที่ 5 หลังจากเว้นวรรคไปด้วยเหตุจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด

หัวใจของเวทีนี้ ไม่ใช่เวทีในการประกวดความงาม แต่เป็นพื้นที่เพื่อการปะทะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนทางความคิด และเสนอแนวทางอะไรต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ทั้งการแก้ไขปัญหาระดับตัวตนไปถึงนโยบาย การส่งเสริมบทบาท ทำให้การเลือกผู้เข้าประกวดมีความเปิดกว้างมาก ตั้งแต่ช่วงอายุที่ตั้งแต่ 18 ไปถึง 50 ปีได้ และไม่ยึดเรื่องมาตรฐานความงาม เมื่อได้ผู้ชนะในเวทีไทย ก็จะไปแลกเปลี่ยนบทเรียน ประสบการณ์ในเวทีระดับโลก ซึ่งในปีนี้จัดที่กรุงเคปทาวน์ แอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 23-29 ต.ค. นี้  

โดยอาจนำ “ไทยโมเดล” ไปเสนอให้เห็นถึงพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชน หรือปัญหาด้านนี้ของเราด้วย มีประเทศไม่มากนักที่มีความเสรีพอที่จะจัดประกวดเวที Mr Gay World ได้ เพราะยังไม่มีการยอมรับในเรื่องอัตลักษณ์ความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเมื่อย้อนดูในประเทศไทย เราสามารถจัดได้ มันเป็นการยอมรับในระดับไหน? ระดับรับรู้ว่ามีตัวตนก็พอ แต่ไม่ต้องให้สิทธิที่เท่าเทียมทางกฎหมาย, ระดับที่ยอมรับเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ แต่ละคนคงมีคำตอบในตัวเอง

ที่น่าสนใจสำหรับผู้เข้าประกวดทั้ง 30 คนในปีนี้ คือ มีหลายคนที่มาจากสายอาชีพครู และทำแคมเปญเกี่ยวกับเยาวชน เพื่อการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ การปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติในตัวตนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กกลุ่มหลากหลายทางเพศ  ซึ่งนำไปสู่ผลของการลดการตีตรา การเลือกปฏิบัติ การใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่บุคลากรทางการศึกษาโดยตรง หรือเคยผ่านเรื่องการดูระบบการศึกษา ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น

การป้องกันการกลั่นแกล้ง

ปัญหาพื้นฐานเบื้องต้นของกลุ่มหลากหลายทางเพศ เริ่มจากความไม่เข้าใจในเรื่องตัวตน ซึ่งในโลกเสรีนิยมปัจจุบัน เปิดกว้างยอมรับมากขึ้นแล้ว ว่าเพศเป็นเรื่องของอัตลักษณ์หนึ่ง ขึ้นกับรสนิยมและการแสดงออก ไม่จำเป็นต้องยึดเพศกำเนิด แต่ในช่วงความแตกต่างระหว่างรุ่น (generation) พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจยังไม่มีความเข้าใจ และนำเอาความเชื่อเดิมไปสอนบุตรหลานตัวเอง เมื่อเด็กเห็นว่า “เพื่อนไม่ปฏิบัติตัวตามบรรทัดฐานทางเพศที่ถูกสอนมา” ก็เริ่มจากการกลั่นแกล้งรังแก (bully) ซึ่งอาจเริ่มจากการล้อเลียนด้วยวาจา ไปจนถึงการประทุษร้ายต่อร่างกาย การล้อเลียนขยายไปถึงการกีดกัน เลือกปฏิบัติและการสร้างความเกลียดชัง ทำให้เด็กที่โดนกลั่นแกล้งมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต

ทีม นัซมาดี มะทีม หนูจันทร์” ปัจจุบันเป็นเกษตรกร เป็นผู้เข้าประกวดที่ผ่านการโดนกลั่นแกล้งรังแกด้วยเหตุแห่งเพศ โดยเฉพาะการที่เขาเติบโตมาในสังคมมุสลิม การไม่ยอมรับมีสูงมาก แต่ต่อมา เขาได้มีโอกาสไปทำงานที่โรงเรียนนานาชาติ และพบว่า “เด็กและเยาวชนที่นั่นไม่กลั่นแกล้งกันด้วยเรื่องเพศ” ทีมจึงออกแบบแคมเปญ where the be wildbeests ความหมายของมันเปรียบเสมือนการข้ามแม่น้ำของสัตว์ในแอฟริกา ที่ต้องมี “ผู้นำ” เป็นผู้เสียสละต่อตัวเป็นสะพานไปข้างหน้าเรื่อยๆ เพื่อนำฝูงเดินข้ามได้..และเขาก็จะเป็นผู้นำคนนั้น ทีมต้องการบูรณาการหลักสูตรการศึกษานานาชาติ เข้ากับการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ให้อยู่ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ด้วยความคิดว่า ระบบแกนกลางของการศึกษาไทยควรบรรจุประเด็นของการเคารพอัตลักษณ์ที่แตกต่าง ทั้งความหลากหลายทางเพศ เพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมเข้าไปในระบบการศึกษา สำหรับในส่วนของบุคลากรครู ควรมีการให้มีการสอบวัดระดับความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ทัศนคติ หากบุคลากรมีส่วนในการกลั่นแกล้งรังแกเด็กเอง จะต้องมีบทลงโทษ และเด็กต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในการร้องเรียนได้

“นัท กรภัทร วิกรมวงศา” เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ก็ให้ความสำคัญเรื่องการปรับหลักสูตร โดยที่ผ่านมา หลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษายังมีการพูดถึง “ความภูมิใจในความเป็นเพศหญิงหรือชาย” ไม่ได้พูดถึงความหลากหลายทางเพศนัก และยังไม่ได้ชำระหลักสูตร เขานำเสนอแคมเปญ “Who I am? ฉันเป็นคนเลือกเพศ ไม่ใช่เพศเลือกฉัน” ในความหมายเชิงเพศเป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากเพศกำเนิดได้ ดังนั้น เมื่อเราเป็นเพศไหนจึงไม่ควรบังคับให้เราต้องปฏิบัติตัวตามบรรทัดฐานของเพศกำเนิด โดยแคมเปญของนัทต้องการสื่อสารไปยังผู้มีอำนาจในกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีการชำระหลักสูตรแกนกลางเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศใหม่ สร้างความเคารพในเพศของผู้อื่น แก้ไขความไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นต้นตอหนึ่งของความรุนแรงที่กลุ่มหลากหลายทางเพศต้องประสบ ไปจนถึงพัฒนาสิทธิและความเท่าเทียมในภายภาคหน้า

“ตะขบ ติณห์ดรัณภพ กลั่นประเสริฐ” ครูอาสา ก็ให้ความสำคัญกับการป้องกันการกลั่นแกล้งรังแกในโรงเรียน โดยโครงการของตะขบคือ “3S Space เรา ขับเคลื่อนเยาวชนให้มีพื้นที่แสดงตัวตน” มีลักษณะคล้ายกับการเป็น soft power ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศในการออกแบบการทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นกิจกรรม เช่น การเล่นดนตรี การทำอาหาร ที่ทำให้เด็กๆ ค่อยๆ สร้างความรับรู้ ยอมรับตัวตนของเด็กที่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศจากการได้แสดงความสามารถในด้านต่างๆ ซึ่งความสามารถของเด็กหลากหลายทางเพศ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบที่ความเป็นเพศสภาพกำหนด เด็กหลากหลายทางเพศอาจเก่งกีฬาที่เป็นภาพบทบาททางเพศของชาย เด็กชายหญิงก็อาจเก่งเรื่องการทำอาหาร ซึ่งเป็นภาพบทบาททางเพศของหญิง เป้าหมายคือเด็กเมื่อโตไป จะได้ใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพิสูจน์ตัวเองกับสังคม ที่มักจะมีเงื่อนไขกำกับว่า “เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศก็ได้แต่ขอให้เป็นคนดี”

การแก้ไขปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกในมุมมองของ “กัณห์ กุลอัฐภิญญา” ประกอบธุรกิจส่วนตัว มองว่า เป้าหมายที่ต้องสื่อสารต้องครบวงจรทั้งระบบ คือ สำหรับผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งรังแก ผู้สนับสนุนการป้องกันการกลั่นแกล้งรังแก และผู้กลั่นแกล้งรังแก กัณห์ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศถูกกลั่นแกล้งรังแกมากกว่าเด็กที่ชายเด็กหญิงมากถึง 2 เท่า และนำไปสู่ปัญหาทางด้านอารมณ์ เป็นโรคซึมเศร้า ไปถึงการฆ่าตัวตายได้ กัณห์จึงออกแบบแคมเปญ “AKINNITY สร้างนิเวศที่ปราศจากการกลั่นแกล้ง” โดยออกแบบเครื่องมือการสื่อสารออนไลน์ที่สื่อสารไปยังทั้ง 3 กลุ่ม ในด้านการให้คำแนะนำผู้ถูกกลั่นแกล้งในการแก้ปัญหา การให้เขาเข้าถึงแนวร่วมในการป้องกันการกลั่นแกล้งรังแก และสื่อสารไปยังผู้กลั่นแกล้งรังแกเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ต่อผู้อื่นมากขึ้น ซึ่งเขาได้ลองปฏิบัติโครงการของเขามาระดับหนึ่งแล้ว และได้พัฒนาการปฏิบัติการในพื้นที่จริงด้วย ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่ออนไลน์

การป้องกันอันตราย

เรื่องเซ็กซ์เป็นธรรมชาติวิสัยของมนุษย์ หลักการสำคัญคือความยินยอมพร้อมใจ แต่บางครั้งก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดข้อตกลง การหลอกลวง การใช้ยา เรื่องเซ็กซ์ไม่ควรต้องซุกอยู่ใต้พรมด้วยมายาคติว่า “เมืองพุทธเขาไม่พูดกัน” ผู้เข้าประกวดมีการเสนอแคมเปญในเรื่อง “การให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน” ในสถานการณ์ไม่พึงประสงค์ทางเพศหรืออะไรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลายคนอาจมองว่า “เมื่อเอาตัวเข้าไปเสี่ยงก็ต้องยอมรับ” แต่จะยิ่งตอกย้ำวิธีคิดเรื่องการโทษเหยื่อ และในสถานการณ์เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ไม่มีทางรู้ว่ามีการละเมิดเงื่อนไขข้อตกลงอะไรหรือไม่ อย่างกรณีที่มีข่าวการเล่น SM หรือการเล่นซาดิสต์ (ผู้กระทำ) และมาโซคิสม์ (ผู้ถูกกระทำ) อย่างเลยเถิดโดยไม่มี “รหัสข้อตกลง” ว่ามันข้ามเส้นของความปลอดภัยไปแล้ว และทำให้ผู้ถูกกระทำบาดเจ็บ แต่นั่นคือรสนิยมทางเพศ ที่หากเกิดจากความยินยอมพร้อมใจ (consent) แต่แรก และไม่ใช่รสนิยมในลักษณะผิดกฎหมาย เช่นความใคร่เด็ก มันก็ไม่ควรถูกตีตราเป็นอาชญากรรม

“เต้ย สุทธิพันธุ์ บุญแจ้ง” ผู้เข้าประกวดจากสายการจัดงานอีเวนท์ ได้ออกแบบโครงการ SAVE WE SAFE : A security for diversity หรืออาจแปลได้ว่า คือการสร้างความปลอดภัย diversity ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มหลากหลายทางเพศ แต่มันเป็นโครงการที่นำไปปรับใช้กับใครก็ได้ เต้ยใช้ตัวอย่างเรื่องยาเสพติดที่ปัจจุบันมีมากในสังคมไทย และถูกนำไปแอบใช้ในสถานบันเทิง เขามองว่า “การสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเป็นความจำเป็น อย่างกรณีในผับ บาร์ มีการเล่นยาหรือหลอกให้ใช้ยา แล้วเกิดมีคนแพ้ หรือน็อก ต้องมีผู้ที่เข้าไปแก้ปัญหาได้เร่งด่วนเพื่อกู้ชีพก่อน สิ่งที่ต้องทำคือ การมีแคมเปญให้ความรู้กับผู้ประกอบการ หรือคนทั่วไป โดยใช้พื้นที่ออนไลน์ก็ได้ หรือการฝึกซ้อมก็ได้ โครงการนี้จริงๆ แล้วอยากขยายไปถึงกรณีที่มีการกระทำที่เลยเถิด มีการล่วงละเมิดทางเพศ ที่เขาอยู่ในภาวะอันตราย จะมีเครื่องมืออะไรบางอย่าง ในการให้ผู้ถูกกระทำสามารถส่งสารไปยังแนวร่วมป้องกันอันตรายเข้ามาช่วย”

เมื่ออธิบายถึง “การขอความช่วยเหลือในการกระทำที่เลยเถิด” ทำให้นึกถึงโมเดลของผู้ค้าประเวณีในประเทศจีน ที่การค้าประเวณีผิดกฎหมาย แต่ถ้าเกิดมีการกระทำที่แขกเกินเลยกว่าข้อตกลง หรือทำให้ผู้ค้าประเวณีตกอยู่ในบรรยากาศอันตรายบางอย่าง กระทั่งเบี้ยวค่าตัว จะมีช่องทางในการแจ้งเครือข่ายกลุ่มผู้ค้าประเวณีในละแวกเดียวกัน มีความเป็นพี่น้อง (sisterhood) กัน พาพวกเข้ามาช่วยแก้ปัญหา

นอกจากเต้ย ยังมี “เก่ง ปัณณธร รุผักชี” ผู้ฝึกสอนคนพิการ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องช่องทางการแก้ปัญหาเร่งด่วน แต่ของเก่งจะเจาะจงในส่วนที่เกี่ยวกับเพศค่อนข้างชัด คือรสนิยมในการมีเพศสัมพันธ์มากกว่าคนเดียว หรือเซ็กซ์หมู่ (orgy) ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่าจะยอมรับได้หรือไม่ แต่ขอให้อยู่ในขอบเขตของการไม่ผิดกฎหมาย ไม่หลอกล่อ เป็นความยินยอมพร้อมใจของทุกคน ไม่ใช้ยา ในกรณีเซ็กซ์หมู่หลายครั้ง มีการละเมิดข้อตกลง จึงออกแบบโครงการชื่อ “desire and orgy” ซึ่งเก่งมองว่า เมื่อมี “กิจกรรม” เกิดขึ้น มันก็มีความ “เพริดไปตามอารมณ์” โดยลืมควบคุม ทำให้เกิดปัญหาอย่างเช่นการไม่ใช้ถุงยางอนามัย การเวียนเทียนใช้ถุงยางอนามัย การใช้ยาเสพติดเพื่อเพิ่มอารมณ์หรือ chem sex กระทั่งการละเมิดข้อตกลง เช่น ทำร้ายร่างกายอีกฝ่าย

สิ่งที่เก่งคิดในเรื่องการปรับโครงการ อันดับแรกคือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ทำอย่างไรที่การมีเซ็กซ์หมู่นั้น จะไม่ทำให้เกิดการกระจายเชื้อเอชไอวีออกไปอีก อาจมีการต้องตกลงเกี่ยวกับเรื่องการใช้ถุง การไม่ใช้ chem sex (เนื่องจากขณะนี้ อัตราผู้ติดเชื้อหน้าใหม่สูงสุด คือมาจากกลุ่มใช้ยาเสพติดแบบใช้เข็ม หรือ chem sex) และจะต้องมีความตกลงเรื่องรหัสบางอย่าง ที่ชี้ให้เห็นว่า คนในกลุ่มมีความไม่พอใจ หรือละเมิดข้อตกลงจนอาจทำให้เกิดอันตราย จนถึงการให้ความรู้ในเรื่องการป้องกันโรคติดต่อทันทีหลังการมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยง อย่างในปัจจุบันนั้น สำหรับสิทธิบัตรทองสามารถรับยา PEP คือยาที่ใช้กินทันทีใน 72 ชั่วโมง เมื่อผ่านภาวะเสี่ยงเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ …โดยตัวเนื้อหาแล้ว แคมเปญตัวนี้มีความท้าทายมากในการ “สร้างข้อตกลง” ในภาวะที่อารมณ์ของแต่ละคนอยู่ในภาวะที่ความอยากนำสติ

พื้นที่ปลอดภัย

การเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ บ่อยครั้งที่มีเงื่อนไขให้ต้องปกปิดตัวเอง เพื่อการได้รับการยอมรับหรือการไม่ถูกกลั่นแกล้งรังแก เช่นในครอบครัวชาวจีน ที่คิดแบบเก่าคือ บทบาทของลูกชายต้องมีไว้เพื่อสืบสกุล หรือการอยู่ในพื้นที่ที่ถูกมองว่าเป็น “พื้นที่ชายแท้” อย่างพื้นที่ของตำรวจ ทหาร ศาล การเปิดเผยรสนิยมทางเพศอาจมีผลต่อการไม่เติบโตในหน้าที่การงาน หรือถูกกลั่นแกล้งรังแก ในภาวะโควิดที่ผ่านมา มีการ lock down เมือง มีข่าวที่พูดถึงความเจ็บปวดของผู้ที่เป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศที่ต้องอยู่ร่วมในครอบครัวที่รังเกียจเพศสภาพของตัวเอง พวกเขาจึงต้องการหา “พื้นที่ปลอดภัย” ทั้งในรูปแบบ on ground หรือ on line ..พื้นที่นั้นต้องเป็นพื้นที่ที่เขาได้แสดงออกตัวตน ได้ระบายอารมณ์ ระบายความทุกข์

“เฮดิส เอกราช เพลินจรเคน” ศิลปินอิสระ ออกแบบแคมเปญชื่อง่ายๆ ตรงๆ “Art therapy” มองว่า ศิลปะคือเครื่องมือหนึ่งที่ให้ได้ปลดปล่อยตัวเอง โดยการสาดสีออกมาเป็นภาพ abtract (นามธรรม) ที่ไม่พูดความหมายตรงๆ แต่ปล่อยให้ระบายอารมณ์บนผืนผ้าใบ มันจะสามารถผ่อนคลายความทุกข์ และหากมีการทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด จะสามารถถอดรหัสความทุกข์จากภาพที่ถูกถ่ายทอดออกมาเพื่อนำไปสู่การแก้ไข โดยเฮดิสอยากให้มีพื้นที่ในการจัดกิจกรรมร่วมกัน และได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกกัน ถ่ายทอดการเป็นผู้ฟังที่เข้าอกเข้าใจต่อกันและกัน ส่งพลังบวกให้กันไปจนถึงการแนะนำการแก้ไขปัญหา

“อาร์ต-ศุภอัฑฒ์ สัตยเทวา” อาจารย์ที่สอนด้านมานุษยวิทยาความตาย เขามีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องปัญหาสุขภาพทางจิตของกลุ่มหลากหลายทางเพศ และคิดว่า จำเป็นจะต้องมีพื้นที่ปลอดภัย ที่เรื่องเล่าของผู้มีปัญหาจะไม่ถูกเผยแพร่ต่อ เพื่อให้เขาได้ระบายความทุกข์และได้คำปรึกษา แคมเปญของอาร์ตคือ “I can hear your siren” เปรียบเหมือนเราพร้อมฟังเสียงที่ตะโกนก้องในใจของคุณ โดยเป้าหมายหนึ่งของอาร์ตไม่ใช่เพียงแค่การแก้ปัญหาในใจให้แต่ละคน แต่ต้องการขยายให้ออกไปเป็นลูกโซ่โดยการฝึกสร้าง “ผู้รับฟังที่มีความเห็นอกเห็นใจ” เพิ่มมากขึ้น โดยอาร์ตเริ่มทำภาคปฏิบัติของตัวเองร่วมกับ Krubb sauna ไปแล้ว ซึ่งการฝึกผู้รับฟังที่มีความเห็นอกเห็นใจ จะเป็นตัวพื้นฐานแรก และจะขยายไปสู่การสร้างผู้รับฟัง ให้คำแนะนำในประเด็นปัญหาที่แตกต่างกัน เพราะต้นตอของความทุกข์ ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องการไม่ได้รับการยอมรับ การถูกกลั่นแกล้ง บางคนอาจมีเรื่องการไม่สามารถเลิกยาเสพติดได้ ต้องอาศัยผู้แนะนำที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สิ่งที่อาร์ตคาดหวังคือ แคมเปญนี้จะเข้ามาช่วยสังคม ในขณะที่จิตแพทย์และนักจิตบำบัดขาดแคลน

ในกลุ่มหลากหลายทางเพศที่เข้าวัยกลางคน หรือเตรียมเข้าสู่ภาวะสูงวัย ตามที่ไทยก็ต้องมียุทธศาสตร์สำหรับสังคมผู้สูงอายุ ก็มีผู้เสนอแคมเปญเพื่อสร้างความสุข เช่น “ดอดจ์ พรพัฒน์ จิโรจน์วงศ์” อาชีพทำธุรกิจส่วนตัว ได้ออกแบบแคมเปญ “บ้านสายรุ้ง house of rainbow” ซึ่งเป็นรูปแบบ “บ้านพักสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศสูงวัยแบบเสมือนจริง” เพื่อเป็นสังคมออนไลน์ในการแจ้งเหตุ อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ความปลอดภัยในการใช้ชีวิตอยู่ตามลำพัง อย่างที่เราเคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับการส่งภาพสวัสดีรายวันในกลุ่มต่างๆ เพื่อให้รู้ว่า วันนี้คนๆ นี้ยังแข็งแรง ใช้ชีวิตตามปกติอยู่ ถ้ามีความผิดปกติในกลุ่มหรือผู้ควบคุมระบบเว็บไซต์สามารถติดต่อสอบถามได้ นอกจากนี้ บ้านสายรุ้งยังมีการบริการทางข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมถึงความบันเทิง สำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศสูงวัย

“โอ๊ต รังสิต เมฆารักษ์ภิญโญ” ทันตแพทย์ ก็เป็นผู้เข้าประกวดที่ออกแบบโครงการสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศสูงวัย โดยเขามองว่า ในต่างประเทศ ผู้สูงวัยก็ยังมีศักยภาพในการทำงานต่างๆ เขาเสนอแคมเปญ “the old not the end” สูงอายุไม่ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้ โดยเขาคิดถึงเรื่องการสร้างแพลตฟอร์มในการรวมตัวกลุ่มหลากหลายทางเพศวัยกลางคนหรือสูงวัยที่มีความชอบเหมือนกัน มาทำกิจกรรมร่วมกัน จะเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม หรือกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานก็ตาม ให้สังคมเห็นศักยภาพของความ “แก่แล้วยังมีไฟ” และเป็นการสร้างพลัง (empower) กับผู้เตรียมเข้าสู่ช่วงสูงอายุและสูงอายุ ซึ่งแคมเปญนี้เป้าหมายของโอ๊ต คือพัฒนาไปสู่การจ้างงานผู้สูงอายุไม่ให้อยู่อย่างเงียบเหงา ซึ่งกลุ่มหลากหลายทางเพศสูงอายุ ที่ต้องอยู่คนเดียวก็มีมากในสังคมไทย

ที่กล่าวมาทั้งหมด คือเสียงของคนธรรมดาๆ ที่ต้องการจะรณรงค์ในสิ่งที่ตัวเองเห็น หรือประสบปัญหามาโดยตรง หรืออาจมองถึงปัญหาที่อาจต้องพบข้างหน้า ต้องหาทางป้องกันไว้ก่อน ซึ่งมันอาจไม่แตะในเชิงนโยบายมากนัก แต่มันเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวในชีวิต วันหนึ่ง เสียงเหล่านี้อาจพัฒนาไปสู่การสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น สำหรับการประกวด Mr Gay World Thailand จัดงานวันเสาร์ที่ 13 พ.ค. งานเริ่มเวลา 18.00 น. ณ โรงละครแมมโบ้ ถนนยานนาวา พระราม 3