เมื่อ รมต.สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร ที่ยกทับเข้าสังกัดบ้านเดิมเพื่อไทย ตั้งเป้าแลนด์สไลด์ยกจังหวัด หวังเก้าอี้เจ้ากระทรวงตัวใหญ่พรีเมียมขึ้น และคาดหวังน้องสาวป้องกันแชมป์เขตเลือกตั้งที่ 1 ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ เบอร์ 1 จากพรรคเพื่อไทย แชมป์เก่า ยังถูกจับวางป้องกันแชมป์เขตนี้ ในฐานทัพบ้านใหญ่ “เทพสุทิน” เจ้าตัวมีเสียงสนับสนุนจากครั้งนั่งเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และแรงเชียร์เอฟซีคนรักบ้านใหญ่ ยังปักธงป้องกันแชมป์ ส.ส. ในเขตนี้ เรียกว่าเบอร์ 1 เขต 1 เป็นจุดความหวังในการยกทีมแลนด์สไลด์ของสุโขทัย คอการเมืองต่างมองกันว่า แชมป์เก้าอี้เขต 1 นี้ ดร.พรรณสิริ มีประสบการณ์บริหารในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมาแล้ว จึงมีคะแนนตุนไว้ทั้ง อสม. เอฟซีฟุตบอล และเอฟซีบ้านใหญ่ และคู่ชิงครั้งที่แล้วคืออดีต ส.ส. นายประศาสตร์ (แก้ว) ทองปากน้ำ ก็มารวมทีมรวมบ้านกันเข้าเพื่อไทย น่าจะเทคะแนนมาสมทบมากพอสมควร รวมกับคะแนนเสียงและความนิยมของแชมป์เก่าเอง ยังเป็นสุภาพสตรีเพียงรายเดียวที่ได้รับการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ส่วนคู่ชิงคงหนีไม่พ้นอดีต ส.ส. หน้าเดิมเช่นกัน นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เบอร์ 3 เป็นอดีต ส.ส. ในเขตนี้มาหลายสมัย และเหนียวแน่นกับพรรคเก่าประชาธิปัตย์มายาวนาน ครั้งนี้ลงทวงเก้าอี้คืนในสีเสื้อใหม่ รวมไทยสร้างชาติของลุงตู่ มาเรียกคะแนน บวกกับฐานคะแนนเดิมที่คาดว่ามีคะแนนเสียงทุนเดิมติดมืออยู่พอสมควร ยังเป็นตัวเลือกของประชาชนในเขตอำเภอเมือง อำเภอศรีสำโรง เป็นหลัก โดยมีบางตำบลของอำเภอกงไกรลาศ ที่เข้ามาเพิ่มเติมในเขตพื้นที่นี้

ต่อกันที่ศึกสายเลือด “อาสู้หลาน”…การเมืองเขต 1 เพชรบูรณ์  ศึกช้างชนช้างโค้งสุดท้าย เพื่อไทย-ก้าวไกล คึก!…สำหรับ เพชรบูรณ์ มี ส.ส. ได้ 6 คน จาก 6 เขตเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวนราว 780,000 คน สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 1 มีผู้สมัคร 11 คน แต่เมื่อพิจารณาแล้ว ที่จะแข่งกันสูสี มี 3 คน คือ น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ พรรคพลังประชารัฐ นายวิจิตร พรพฤฒิพันธุ์ พรรคชาติไทยพัฒนา และ นายสุทัศน์ จันทร์แสงศรี พรรคเพื่อไทย ทั้ง 3 คน มีดีกรีเป็นอดีต ส.ส.เพชรบูรณ์ ด้วยกันมาก่อน แต่ที่น่าจับตาเป็นพิเศษ ก็ระหว่าง น.ส.พิมพ์พร กับนายวิจิตร เพราะทั้งสองเป็นอาหลานกัน กลายเป็น “ศึกสายเลือด” ของตระกูลดังเมืองมะขามหวาน หลานก็ไม่เกรงใจอา และอาก็ไม่เกรงใจหลาน…ต่างฝ่ายต่างก็แย่งชิงฐานคะแนนเพื่อหวังแชมป์ หากดูพื้นฐานเดิมเมื่อสมัยที่แล้ว นายวิจิตรและนายสุทัศน์ ได้คะแนนเสียงเกือบ ๆ 15,000 คะแนน พ่ายแพ้ น.ส.พิมพ์พร อย่างขาดลอย ที่ได้กว่า 37,000 คะแนน น.ส.พิมพ์พร จึงมีความได้เปรียบในขณะนี้ เนื่องจากได้แรงสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองบ้านใหญ่ ที่มี นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และกลุ่มการเมืองในเครือข่ายระดมทีมช่วย ส่วนอีกคนแม้จะไม่เป็นที่รู้จักของคนพื้นที่ แต่ก็ได้กระแสพรรคคือ นายกฤติเดช แก้วเพียร พรรคก้าวไกล อย่างไรก็ตาม การเมืองรอบนี้ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า แพ้ชนะอ่านยาก เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

สำหรับการเลือกตั้งของ จังหวัดพิษณุโลก มีพื้นที่ 9 อำเภอ แบ่งเขตการเลือกตั้งเป็น 5 เขต มีจำนวน ส.ส. ได้ 5 คน ซึ่งหลังจากมีการสมัคร ส.ส. ที่ผ่านมา พบว่าผู้สมัครแต่ละคนออกหาเสียงตามพื้นที่ของตนเองกันอย่างคึกคัก ทั้ง 5 เขต ซึ่งส่วนใหญ่แล้วยังคาดว่าผู้สมัครจากพรรคหลัก ๆ ยังมีความเป็นไปได้ในการนำคู่ต่อสู้ในโค้งสุดท้ายนี้ โดยเฉพาะเขตเลือกตั้งที่ 1 ของจังหวัดพิษณุโลก ที่คอการเมืองคาดว่า คะแนนจะกระจายตามฐานเสียง เป็นไปได้ว่าคะแนน 20,000 ต้น ๆ อาจจะได้เป็น ส.ส.เขตนี้ ซึ่งเต็งหนึ่ง หลายคนเทใจไปให้ นายอดุลวิทย์ วิวัฒน์ธนาฒย์ หรือ ส.จ.อั้ม อดีต ส.จ.พิษณุโลก ผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ยังต้องรอลุ้นอีก เนื่องจาก น.ส.ณัฐทรัชต์ ชามพูนท อดีตรองนายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย ยังคงเดินหน้าหาเสียงกันอย่างเต็มที่ ซึ่งทั้ง 2 คนนี้ ยังคงต้องจับตา ส่วนคนที่ 3 ที่น่าจับตาคือ หมออ๋อง-ปดิพัทธ์ สันติภาดา ที่เป็นแชมป์เก่าเดิมจากพรรคก้าวไกล และนายบวรเดช หล้าแหล่ง จากพรรคภูมิใจไทย ที่ยังเดินหน้าหาเสียงตามฐานเสียงของตนเอง ส่วนผู้สมัครจากพรรคอื่น ต้องรอลุ้นกันอีกครั้ง

เขตเลือกตั้งที่ 2 เขตนี้ฟันธงให้กับแชมป์เก่า คือ นายนพพล เหลืองทองนารา อดีต ส.ส. ในพื้นที่ 2 สมัยจากพรรคเพื่อไทย เป็นอีกตัวเต็งในพื้นที่ที่มีฐานเสียงมากในเขตอำเภอพรหมพิราม ส่วนที่ยังน่าจับตาคือ นายอิทธิพล บุบผะศิริ อดีตนายอำเภอพรหมพิราม อดีตนายอำเภอเมืองพิษณุโลก และอดีตรองนายก อบจ.พิษณุโลก จากพรรคภูมิใจไทย ที่ยังขยันเดินหน้าหาเสียงไม่แพ้กัน

ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 3 นั้นน่าจับตาไม่แพ้เขตอื่น เนื่องจากฐานเสียงเขตนี้ยังคงแน่น แต่ที่สูสี น่าจะเป็น นายพงษ์มนู ทองหนัก อดีตรองนายก อบจ.พิษณุโลก จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่แข่งขันกับ นายอนุชา น้อยวงศ์ จากพรรคภูมิใจไทย ขณะที่เขตเลือกตั้งที่ 4 สนามนี้พรรคเพื่อไทย ส่ง นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ หรือ ส.จ.ปานทิพย์ เป็นอดีต ส.จ.เขตอำเภอบางระกำ มาชิงเก้าอี้กับ นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส. แชมป์เก่า ที่เคยอยู่กับพรรคเพื่อไทย แต่ได้ย้ายไปซบอกพรรคภูมิใจไทย แต่นายนิยมยังน่าจะมีฐานเสียงดีกว่า นางสาวพิมพ์พิชชา แต่ก็จับตาดูอีกครั้ง หลังจากผลการเลือกตั้ง ขณะที่ นายอัศวิน นิลเต่า ส.จ. อดีตผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐ ยังคงเดินหน้าหาเสียงของตนเองอย่างไม่ย่อท้อ

ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 5 คอการเมืองได้จับตา นายนคร มาฉิม ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย และเคยเป็นอดีต ส.ส. เก่าในพื้นที่ ส่วนพรรคเพื่อไทย ได้ส่ง นายธนวิน โรจน์สุนทรกิตติ พรรคก้าวไกล ส่ง นายศุภปกรณ์ กิตยาธิคุณ และ นายชนะชน อ่อนอ้าย จากพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งแต่ละคนยังมีฐานเสียงของตนเอง

จังหวัดอุตรดิตถ์ หากย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองที่ครองใจคนอุตรดิตถ์มาอย่างยาวนาน โดยปี 2562 กวาด ส.ส. มาได้ทั้ง 2 เขต คือ เขต 1 กนก ลิ้มตระกูล และเขต 2 ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ มาถึงปี 2566 ทาง กกต. กำหนดเขตเลือกตั้งเพิ่มจากเดิม 2 เขต เป็น 3 เขต เขตเลือกตั้งที่ 3 ซึ่งเป็นเขตเกิดใหม่ กลายเป็นสนามที่ช่วงชิงกันดุเดือด เพราะเป็นการเจอกันระหว่าง “รุ่นใหญ่” กับ “รุ่นใหม่” โดย “พี่หนวดงาม” ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ แชมป์จากเขตเลือกตั้งที่ 2 ที่มีความโชกโชนบนสนามการเมือง จนกลายเป็นดาวเด่นในสภาสมัยอยู่เพื่อไทย ด้วยลีลาการอภิปรายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ก่อนย้ายขั้วสลับข้างมาซบลุงตู่ “รวมไทยสร้างชาติ” ด้วยเหตุผลที่อ้างเรื่องอุดมการณ์จุดยืน และความจงรักภักดี

แม้ดูเป็นเบอร์ใหญ่ แต่ใช่ว่าจะทำให้ “ส.ส.ศรัณย์วุฒิ” นอนมา เพราะเพื่อไทย ได้ส่งผู้สมัครหน้าใหม่ “รวี เล็กอุทัย” หนุ่มน้อยหน้ามน คนรุ่นใหม่ วัย 32 ปี ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ “ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย” อดีต ส.ส. หลายสมัย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาสู้แทนพ่อ หลังมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยมีแรงสนับสนุนจากหลายส่วน และมีกลุ่ม อบจ.อุตรดิตถ์ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ช่วยพาเดินสายหาเสียงเก็บคะแนน

ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ จึงน่าจับตา หลังปิดหีบ 14 พ.ค. 2566 ระหว่าง “ช้างรุ่นใหญ่” กับ “ช้างรุ่นใหม่” ช้างรุ่นไหนจะได้นั่งเก้าอี้ ส.ส.

ศูนย์ข่าวภาคเหนือตอนล่าง