“คนรุ่นใหม่” วัยนักศึกษา มีมุมมองต่อขั้นตอนสำคัญนี้อย่างไรบ้าง ชวนมาแลกเปลี่ยนกันอีกครั้งเป็นการ “อุ่นเครื่อง”
น.ส.อริสา ห่วงภักดี นักศึกษาภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ข้อกังวลที่อาจเกิดการทุจริตหรือโกงคะแนนเลือกตั้ง ดังนั้น การสังเกตการณ์จึงสำคัญเพราะอาจทำให้ทุจริตยากขึ้น
“การไม่นับคะแนนเรียลไทม์ ทำให้เกิดความไม่โปร่งใส อาจเปลี่ยนคะแนนจากกาเบอร์หนึ่งเป็นอีกเบอร์หนึ่ง หรือไม่ก็เอาบัตรนั้นออกใส่เป็นบัตรใหม่ เพื่อให้คะแนนตรงกับจำนวนคนที่มาเลือกตั้ง เพราะถ้าไม่มีเจตนาแอบแฝง การนับคะแนนให้ประชาชนดูแบบเรียลไทม์เลย มันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้เห็นถึงความโปร่งใสอยู่แล้ว”
การจับตาเลือกตั้ง อาจต้องพึ่งพาประชาชนที่ไม่ใช่หัวคะแนนของผู้สมัครให้ช่วยกันสอดส่อง แต่ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก ที่จะมีการจับตาดูจากประชาชน เพราะบางพื้นที่อาจวางเฉยทางการเมือง ดังนั้น คิดว่าควรให้ประชาชนที่สนใจด้านการเมืองจริง เป็นผู้สอดส่องและให้กลุ่มที่ได้ผลประโยชน์สอดส่องกันเอง
ส่วนพลังตรวจสอบภาคประชาชนและอาสาสมัคร ส่วนตัวคิดว่าสามารถเชื่อได้บ้าง ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่มีความตื่นตัวทางการเมืองมากน้อย ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ
“หากในชุมชนท้องถิ่นนั้น มีคนที่สนใจการเมืองกันมาก ก็อยากมาเป็นอาสาสมัครเพื่อจับผิด จับจ้องการโกง คนที่เป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์ คิดว่าน่าจะเชื่อถือได้ ด้วยความที่อาจจะเป็นคนที่สังเกตให้กับผู้สมัครด้วย เลยต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเองไว้”
นายชรัณดนุสรณ์ จิตราภิรมย์ นักศึกษาสาขาการพัฒนาชุมชนตรีควบโท คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี มองกรณีที่ กกต. ไม่รายงานผลต่อเนื่องที่เป็นปัจจุบัน จะทำให้ผู้สมัคร หรือประชาชนที่ตั้งตารอไม่ค่อยเชื่อมั่นในการประกาศผลนัก เนื่องด้วยระยะเวลาที่ขาดตอน อาจจะเกิดการทุจริตขึ้นได้ ส่วนการจับตาทุจริตอย่างการซื้อเสียง จังหวะนี้ต้องดูในส่วนของชุมชนต่าง ๆ ที่ประชาชนหาเช้ากินค่ำ อาจยอมรับไว้ เพราะสามารถนำไปประทังชีวิตได้ โดยการเลือกนั้น อาจจะไม่ได้มาจากความสมัครใจ หรือเห็นการทำงานของผู้ลงสมัครคนนั้น ๆ
อย่างไรก็ตาม หากถามความเชื่อมั่นพลังการตรวจสอบภาคประชาชน-อาสาสมัครสังเกตการณ์ ส่วนตัวคิดว่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง การตรวจสอบยังไม่เข้มงวด และไม่เข้าถึงมากพอ
นายพัชรพล สุระเสียง นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ระบุ การเลือกตั้งเปรียบได้ทั้งอนาคตและชีวิตของประชาชน ทุกสิ่งทุกอย่างฝากความหวังไว้ที่การเลือกตั้งครั้งนี้ หน่วยงานของรัฐจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนโดยใช้หลักสุจริต โปร่งใส และเปิดเผย
ยกตัวอย่าง การรายงานการนับคะแนนแบบเรียลไทม์ ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงเจตนาชัดเจนที่สุดแล้วว่า การนับผลคะแนนการเลือกตั้งครั้งนี้โปร่งใสที่สุด หากไม่ทำเช่นนั้น ย่อมเกิดความเคลือบแคลงใจสงสัยจากประชาชน
ส่วนการจับตาเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. นี้ สามารถทำได้คือ การเป็นอาสาสมัครช่วยสังเกตการณ์ระหว่างการนับคะแนน ช่วยสอดส่องการทำงานของหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งเชื่อว่าการตรวจสอบจากภาคประชาชนจะมีพลังอย่างมาก เนื่องจากไม่มีการเลือกตั้งมาเป็นเวลานาน ประชาชนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทย และปัจจุบันมีช่องทางโซเชียลซึ่งมีผู้คนใช้งานเป็นจำนวนมาก
“จึงถือไว้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนคนไทยทุกคน รวมพลังกันตรวจสอบความโปร่งใส”
น.ส.ภัณฑิรา ขาวนวล นักศึกษาสาขาการประชาสัมพันธ์และการสื่อสารองค์การ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ย้ำบทบาทว่า ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่เลือกคนที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารประเทศ ในรูปแบบ
ประชาธิปไตย แต่กรณีไม่มีการนับคะแนนแบบเรียลไทม์ ทำให้มองว่าการนับคะแนนอาจไม่โปร่งใส
ส่วนการที่ให้ประชาชนและอาสาสมัครมีส่วนร่วมตรวจสอบในกระบวนการต่าง ๆ เช่น คอยช่วยดูหรือตักเตือนในเรื่องการกระทำที่ผิดกฎของการเลือกตั้ง การนับคะแนนแบบเรียลไทม์ จะช่วยให้ผลที่ออกมามีความโปร่งใสมากขึ้น
“ทั้งนี้ทั้งนั้น ประชาชนหรืออาสาสมัครที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ ต้องมีความน่าเชื่อถือ ซื่อสัตย์ยุติธรรมและไว้วางใจได้ด้วย”
พรุ่งนี้มาติดตามต่ออีกหลากความเห็น ต่อการสังเกตการณ์เลือกตั้งจากเสียงอนาคตชาติ.