ตอนนี้เสียงกระหน่ำก่นด่ารัฐบาลแรงมาก จากกรณีที่โยนกันไปโยนกันมาเมื่อไม่กี่วันก่อน เรื่องสัญญาโมเดอน่า อยู่ๆ นพ.บุญ วนาสิน จาก รพ.กรุงเทพธนบุรี ออกมาเปิดเผยว่า ได้ติดต่อไปยังตัวแทนโมเดอน่าที่รู้จัก เขาบอกว่า ทางองค์การเภสัชกรรมไทย ( อภ.) ยังไม่ได้ส่งสัญญามาให้เซ็นเลย บ่ายวันเดียวกัน สำนักงานอัยการสูงสุด ( อสส.) ก็กระทืบซ้ำว่า อภ.ไม่เคยส่งสัญญามาให้ตรวจใดๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เหมือนจะมีการพูดกันว่า “เร่งรัดวัคซีนอยู่”
แล้วก็กลายเป็น จังหวะซิทคอม ที่ตลกไม่ออกประจำวันไป เมื่อตอนเช้าหมอบุญออกมา ตอนบ่าย อสส.ออกมา ตอนเย็น อภ.สามารถส่งสัญญาให้ อสส.ได้ทันที คนอ่านข่าวเขาก็บอกว่า “แล้วจะไม่ให้เรียกว่าประเทศนี้ต้องขับเคลื่อนด้วยการด่าได้อย่างไร” ในเมื่อถ้าไม่มีใครฉีกหน้ากันขึ้นมาก่อน สงสัยก็ยังไม่มีการขยับตัวอะไร แต่ท่องเอาว่า “ได้วัคซีนไตรมาสสี่ๆๆๆ” แล้วก็จะมะกอกสามตะกร้าปาไม่ถูก คือบอกว่า “ไม่ได้หมายถึง 1 ต.ค.นี่ 31 ธ.ค.ก็ได้”
รัฐบาลนี้นับว่าล้มเหลวในเรื่องการสื่อสารค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องนโยบายขอความร่วมมือชักเข้าชักออกจนประชาชนปรับตัวกันไม่ค่อยจะทัน ง่ายสุดก็เร็วๆ นี้ที่ให้เปิดนั่งกินอาหารในร้านได้สองอาทิตย์ สั่งปิดอีกแล้ว ทั้งที่ทางผู้ประกอบการร้านอาการเขาอุทธรณ์มาว่า “ยังไม่เคยเกิดคลัสเตอร์ร้านอาหาร” มีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับวัคซีน แล้วก็ยังมีปัญหาเรื่องอวัจนภาษาของผู้นำอีกที่ชาวบ้านเขามองว่า “มาเล่นอะไรในภาวะซีเรียส”
แต่จะให้เขียนตำหนิรัฐบาล เขาก็ทำกันไปเยอะแล้ว เลยลองเปลี่ยนมุมมาฟัง สิ่งที่รัฐบาลต้องการสื่อสารบ้างดีกว่า อันดับแรก เรื่องวัคซีน รัฐบาลพยายามสื่อสารคือ “ไม่ว่าวัคซีนตัวไหนก็ยังป้องกันการติดเชื้อไม่ได้” นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดประเด็นนี้บ่อย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า มันจริง ตัวอย่างจากอิสราเอลที่ฉีดไฟเซอร์ ก็ยังมีคนติด
แล้วการพัฒนาวัคซีนโควิดเพิ่งทำกันปีก่อนเอง มันรับรองร้อยเปอร์เซนต์ยังไม่ได้หรอกว่าทำให้เชื้อสูญหายจากโลก แบบไข้ทรพิษ และไวรัสก็พัฒนาสายพันธุ์ได้ เผลอๆ ในอนาคตเกิด เชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่ดื้อไฟเซอร์ ดื้อโมเดอน่าอีกล่ะ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลและหมอพยายามย้ำคือ “การปรับใช้ชีวิตใหม่” ( new normal ) เน้นความสะอาด เน้นการใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารมากกว่าพบหน้าค่าตากันสักพัก เอาโมเดลสิงคโปร์มาใช้ก็ได้
สิ่งที่รัฐบาลต้องสนใจคือเรื่องของการจัดการชุมชนแออัดใน กทม. ตรวจคัดกรองเชิงรุก เพราะรัฐบาลไม่ได้สั่งซีลชุมชนแออัด ถ้ามีการระบาดในนั้น คนเป็นพาหะออกมาทำงานข้างนอก เช่นมาขายอาหารรถเข็น ไปเป็นลูกจ้าง ก็อาจแพร่เชื้อได้ และต้องสร้างความเข้าใจเรื่องวัคซีนตัวหลักทั้งแอสตราเซเนกาและซิโนแวคว่า “มันช่วยป้องกันการแพร่และการเกิดอาการรุนแรงได้แค่ไหน” โดยเฉพาะกับ สายพันธุ์เดลตา ที่กำลังเป็นปัญหาขณะนี้ว่าติดเร็ว
เอาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาย่อยให้เข้าใจง่าย ประชาชนจะได้อุ่นใจ และเน้นการสื่อสารเรื่อง “โควิดเป็นแล้วถ้ารักษาทันก็ไม่ลงปอด หายดี” เอาตัวอย่างดาราที่เคยหายจากโควิด หรือนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมที่เคยติดโควิดมาย้ำก็ได้ เพราะตอนนี้เรามีปัญหาเรื่องเตียงไม่พอและกระทรวงสาธารณสุขมีความคิดเรื่องคนที่อาการไม่รุนแรงให้กักตัวที่บ้านและรับยา ตรวจโดยใช้ อสม.หรือระบบ tele-MED
แต่ทั้งนี้ จะเน้นเรื่อง “โควิดเป็นแล้วถ้ารักษาทัน ไม่ลงปอด ก็หายดีได้” มันก็ต้องมีมาตรการอะไรให้รู้ตัวว่าติดเชื้อและรับยา เฝ้ากักตัวเร็วที่บ้าน ดังนั้น อาจต้องคิดถึงเรื่องหาเครื่องให้ประชาชนตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองได้แล้ว ไม่ใช่ไปรอคิว swab กันสี่ห้าชั่วโมงกรณีฟรี หรือจะไปโรงพยาบาลเอกชนก็ล่อไป 3,000 บาทต่อรอบ แถมเขายังไม่ค่อยอยากรับทำให้อีกเพราะกลัวเจอขึ้นมาต้องรับเป็นเคสรักษาที่โรงพยาบาลนั้น เตียงก็เต็ม
ประเด็นต่อมาคือเรื่องวัคซีนไฟเซอร์ จากที่ฟังเสียงบุคลากรทางการแพทย์หลายคน รวมถึงประชาชน อยากได้ไฟเซอร์เป็นวัคซีนหลัก เพราะมี ความมั่นใจในประสิทธิภาพ มากกว่าวัคซีนหลักสองตัวที่เราใช้อยู่ ซึ่งก็เห็นมีบุคคลระดับสูงในสาธารณสุขบอกว่า การทำสัญญายังเสียเปรียบ ทำให้ต้องเจรจาต่อรองใหม่ ซึ่งสัญญาไฟเซอร์จะเข้า ครม.6 ก.ค.นี้ เรื่องนี้ถ้าเป็นไปได้ ประชาชนจะมีโอกาสรู้ได้หรือไม่ว่า “เราเสียเปรียบเขาอย่างไร”
ถ้ารัฐบาลชี้แจงได้ก็ดี คนจะได้ลดเสียงก่นด่ารัฐบาลลงบ้าง ซึ่งมันอาจมีดีลอะไรบางอย่างที่ทำเราน้ำท่วมปากรึเปล่า ? หรือมีปัญหาเรื่องถ้าจะลัดคิวการส่งมอบให้เร็วขึ้น ( แบบที่ให้อิสราเอลเร็ว ) เราจะต้องจ่ายแพงขึ้นหรือต้องแลกกับการซื้ออะไรจากสหรัฐฯ หรือไม่ อาวุธกับเวชภัณฑ์เป็นสินค้าที่ใช้ต่อรองทางการเมืองกันเสมอ เพราะถึงเวลาจำเป็นต้องใช้ ผู้ผลิตโขกราคาเท่าไรก็ต้องยอม ยิ่งเราไม่ใช่ผู้ผลิตเองได้ยิ่งลำบากต้องเป็นเบี้ยล่าง
และพอพูดถึงเรื่องสัญญา ถ้าเรามีโอกาสได้วัคซีนที่ดีที่สุด ณ ขณะนี้ คือแอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซแอนด์ อันนี้อยากให้เปิดสัญญาให้ประชาชนดูได้ไหมว่าการส่งมอบเป็นอย่างไร ? ล่าช้าหรือทันเวลา ส่งได้ครบโดสตามสัญญาก่อนผลิตขายชาติอื่นหรือไม่ ? และสัญญาต่อมาคือโมเดอน่า ที่ให้ข่าวกันจนเละเทะ พอถูกด่าก็เนรมิตสัญญาได้ไว กลายเป็นตัวย้ำเรื่อง “ประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยเสียงด่า” อย่างที่ว่าไปตอนต้น
มีคำอธิบายว่า โมเดน่าล่าช้า มันล่าช้าเพราะต้องเกลี่ยวัคซีนใหม่ เดิมโรงพยาบาลเอกชนสั่งซื้อผ่านตัวแทน แต่ปัญหาคือ ความต้องการซื้อมันล้น ประมาณว่าลอตที่จะได้เดือนตุลามีจำนวนเท่านี้ แต่ออเดอร์จากโรงพยาบาลเอกชนที่รวมส่งนายหน้ามันเกินจำนวนที่เขาส่งให้ได้ในไตรมาสสี่ไปมาก ทำให้ตัวแทนต้องให้โรงพยาบาลเอกชนไปเกลี่ยความต้องการมาใหม่ก่อนแล้วถึงร่างสัญญาได้ อันนี้แหละที่รัฐบาลควรพูดให้ชัดว่า “มันคือสาเหตุที่สัญญามันช้า”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัคซีนทางเลือก แต่ภาครัฐยืนยันสัญญาว่า “อย่างไรก็ต้องได้ในไตรมาสสี่” ถ้าเร็วสุดก็ตุลา ซึ่งรัฐบาลไม่ได้พูดครั้งแรกว่าของมาไตรมาสสี่ พูดหลายรอบแล้ว อันนี้ต้องพึ่งพา ความไว้ใจต่อรัฐ ( ที่หลายคนเหลือน้อยเต็มทนแล้ว ) ว่า ได้ชัวร์ คืออาจเชื่อเอาก็ได้ว่ามีการดีลไว้แล้วแต่ตัวสัญญามันยังไม่เสร็จ อย่างไรก็ได้ของตามที่ดีลปากเปล่าก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้มาไตรมาสสี่ ( โดยเฉพาะเดือนตุลา ) รัฐบาลก็เตรียมรับก้อนอิฐเต็มๆ
ทั้งนี้ เมื่อโมเดอน่าเป็นวัคซีนทางเลือก ก็อยากให้พิจารณาเอาไฟเซอร์เป็นวัคซีนหลัก ที่ประชาชนสามารถฉีดเพิ่มภูมิเป็นเข็มที่สามได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะเอามาใช้กับเยาวชนด้วย เพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดได้เสียที เดี๋ยวนี้ระดับ ม.ต้นก็มีวิชาที่ต้องเข้าแลปแล้ว เราเรียน-สอนผ่านอินเทอร์เนตกันทุกวิชาไม่ได้หรอก ..และสรุปสุดท้าย คือรัฐบาลต้องปรับวิธีการสื่อสารให้มีความซีเรียส จริงจังกับสถานการณ์มากกว่านี้ ข้อมูลแข็งแรง
นี่คือความพยายามมองรัฐบาลอย่างเข้าใจ ถ้าคิดว่า ตำหนิไปก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่รัฐบาลก็ต้องปรับปรุง.
………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”