การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ของตุรกี จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. นี้ โดยจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติชุดใหม่ทั้ง 600 ที่นั่ง และการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งหากไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนเกิน 50% ตั้งแต่รอบแรก จะมีการชิงชัยในรอบตัดสิน ที่จะเป็นการแข่งขันระหว่างผู้สมัครสองคน ซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดจากรอบแรก ในวันที่ 28 พ.ค. ที่จะถึง
กำหนดการดังกล่าวเรียกได้ว่า เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือน คือวันที่ 18 มิ.ย. โดยมีการวิเคราะห์ว่า ประธานาธิบดีเรเซป เทย์ยิป เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี “ถือเคล็ด” ด้วยการจัดการเลือกตั้งทั่วไปวันเดียวกับเมื่อ 73 ปีที่แล้ว นั่นคือเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2493 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่พรรครัฐบาลในเวลานั้น มีชัยเหนือพรรคสาธารณรัฐประชาชน (ซีเอชพี) ที่ปกครองตุรกีต่อเนื่อง 27 ปี นับตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐ ปัจจุบัน พรรคซีเอชพีเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้านของตุรกี
ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะเป็น “บททดสอบทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุด” สำหรับ เออร์โดกัน วัย 69 ปี ซึ่งครองอำนาจสูงสุดทางการเมืองของตุรกี ยาวนานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 เริ่มจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนรั้งตำแหน่งประธานาธิบดี ตั้งแต่ปี 2557
ท่ามกลางความท้าทายทางภูมิศาสตร์การเมืองในภูมิภาค การรับสวีเดนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่ตอนนี้ขึ้นอยู่กับตุรกี ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งตุรกีสวนกระแสกับประเทศส่วนใหญ่บนโลก ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และธรณีพิบัติภัยในภูมิภาคทางตอนใต้ของตุรกี เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลเผชิญกับเสียงวิจารณ์อย่างหนักว่า ดำเนินการช่วยเหลือล่าช้า
ด้านพันธมิตรพรรคฝ่ายค้านตุรกี 6 พรรค นำโดยพรรคสาธารณรัฐประชาชน (ซีเอชพี) มีมติส่ง นายเคมัล คิลิกดาโรกลู ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคซีเอชพี เป็นตัวแทนในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยยืนยันว่า หากชนะการเลือกตั้ง จะ “พลิกโฉมด้านนโยบาย” ทั้งหมดของเออร์โดกัน และพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (เอเคพี) โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ สิทธิพลเมือง และการต่างประเทศ
ปัจจุบัน ตุรกีในยุคศตวรรษที่ 21 ภายใต้การนำของเออร์โดกัน เดินตามรอยยุคสมัยเมื่อครั้งนายมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก บิดาแห่งชาติของชาวตุรกี ก่อร่างสร้างประเทศในช่วงศตวรรษที่ 20 ทั้งสองคน “มีความเหมือนกัน” ในฐานะการเป็นประธานาธิบดีของตุรกีผู้กุมอำนาจบริหารทุกอย่าง และปกครองประเทศด้วยการบริหารของพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน พร้อมด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์อำนาจนิยมประชาธิปไตย และบัญญัติคำจำกัดความใหม่ให้แก่ความเป็น “ชาตินิยม” เพื่อปลุกกระแสความรักในปิตุภูมิของชาวตุรกี
อย่างไรก็ดี ชาวตุรกีส่วนใหญ่ยังคง “เสียงแตก” ว่าตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การอยู่กับเออร์โดกัน “สร้างผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน” ให้กับตุรกี ซึ่งเป็นประเทศแห่งเดียว ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม และเป็นสมาชิกนาโต
ผลสำรวจความคิดเห็นของสำนักโพลแทบทุกแห่งในตุรกีเป็นไปในทางเดียวกัน ว่าเออร์โดกันกับคิลิกดาโรกลู มีคะแนนนิยมขับเคี่ยวกันอย่างสูสี และการมีผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็ก และผู้สมัครอิสระอีกคนหนึ่ง ร่วมลงสมัครชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า จะเป็นการแบ่งคะแนน ที่ทำให้เออร์โดกันและคิลิกดาโรกลู ต้องต่อสู้กันอีกครั้ง ในการเลือกตั้งรอบชิงดำ
นอกจากนั้น การที่ผู้นำตุรกีสามารถผ่านความพยายามรัฐประหาร เมื่อปี 2559 มาได้ สามารถขจัดเสี้ยนหนามทางการเมืองไปได้มาก กระนั้น เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างปัญหาให้แก่รากฐานอำนาจอันแข็งแกร่งของเออร์โดกัน และกลไกทางสังคมของตุรกีในระยะยาวจนถึงปัจจุบัน
ท่ามกลางจิตวิญญาณของ “ความเป็นอตาเติร์ก” ที่เป็นฝังลึกอยู่ในสังคมของตุรกีมาเป็นเวลานานกว่า 1 ศตวรรษ “แนวคิดแบบเออร์โดกัน” ได้แทรกซึมเข้าสู่ทุกอณูของสังคมตุรกีอย่างแนบเนียน เพื่อให้ความเป็น “จักรวรรดิออตโตมันสมัยใหม่” มีโอกาสฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ไม่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะช่วยให้เออร์โดกันได้มีโอกาสสานต่อความใฝ่ฝันนี้หรือไม่ แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เออร์โดกัน “สร้างความเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่อาจย้อนกลับ” ให้กับตุรกี.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES