เขต 6 ประกอบด้วยพื้นที่ 4 อำเภอด่านแรกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่าชนะ ไชยา วิภาวดี และท่าฉาง ซึ่งเป็นอีกเขตที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ มีประชากรรวมกัน 156,000 คนเศษ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 123,000 คน มากที่สุดที่ อ.ท่าชนะ ตามด้วย ไชยา ท่าฉาง และวิภาวดี ตามลำดับ พื้นที่เดิมเป็นของ นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ หรือ เชน จากพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส. 2 สมัยติดต่อ ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปี 2562 ส.ส.เชน เข้าสภาด้วยคะแนนเสียง 41,877 คะแนน สัดส่วนมากถึงร้อยละ 42.96 ของผู้มาใช้สิทธิ จำนวน 97,476 คน
การเลือกตั้งครั้งนี้ เขต 6 มีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น12 คน ประกอบด้วย เบอร์ 1 พ.ต.อ.กรณ์ ทองปรีชา พรรคเสรีรวมไทย เบอร์ 2 นายธีรภัทร พริ้งศุลกะ พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 3 นายสวัสดิ์ วิเชียรพร พรรคไทยภักดี เบอร์ 4 นายโกเมท เกิดสมบัติ พรรคเพื่อไทย เบอร์ 5 น.ส.อนงค์นาถ จ่าแก้ว พรรครวมไทยสร้างชาติ เบอร์ 6 นายสุชาติ อินทรมณี พรรคพลังประชารัฐ เบอร์ 7 ร.ต.อ.นิคม หนูแก้ว พรรคไทยสร้างไทย เบอร์ 8 นายสิรวิทย์ ช่วงเสน พรรคก้าวไกล เบอร์ 9 นายพิชัย ชมพูพล พรรคภูมิใจไทย เบอร์ 10 นายสำรอง ใจรังษี พรรคคลองไทย เบอร์ 11 นายณัทพงศ์ ชูมาก พรรคความหวังใหม่ และเบอร์ 12 นายถนอม ศักดิ์เพชร พรรคทางเลือกใหม่
เขตนี้ถือว่าน่าจับตามอง เพราะแชมป์เก่าเจ้าของพื้นที่ ธีรภัทร พริ้งศุลกะ มีดีกรีเป็น ส.ส. 2 สมัยซ้อน และเป็น ส.ส. ต่อเนื่องหลังรับไม้ต่อจาก นิภา พริ้งศุลกะ ผู้เป็นแม่วัย 87 ปี อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี 7 สมัย ที่ลุกจากเก้าอี้ ส.ส.เขต เข้าสู่ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบัน ส.ส.เชน อายุ 58 ปี ขณะทำหน้าที่ ส.ส.สุราษฎร์ธานี นายธีรภัทร มีบทบาทในฐานะรองประธาน กมธ.การสาธารณสุข และ กมธ.วิสามัญพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง และพืชกระท่อมอย่างเป็นระบบ จะด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ แต่ในช่วงสมัยที่ผ่านมา เกิดกระแสชาวบ้านในพื้นที่เรียกหา ส.ส.เขตกันระงม เพียงเพราะพวกเขาไม่ค่อยมีโอกาสเห็น เชน ในฐานะ ส.ส. ลงพื้นที่มากนัก
ขณะที่คู่แข่งสำคัญ อย่าง พิชัย ชมพูพล หรือ กำนันชัย วัย 53 ปี อดีตสมาชิกสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี เขตอำเภอท่าฉาง 3 สมัย ตัดสินใจยุติบทบาททางการเมืองท้องถิ่น ไม่ลงสมัครชิง ส.อบจ.สุราษฎร์ธานี ในการเลือกตั้งเมื่อมีนาคม 2563 และหันมาสวมเสื้อภูมิใจไทย ประกาศตัวอย่างชัดเจนล่วงหน้าไปเกือบ 3 ปี พร้อมทำงานการเมืองภายใต้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยนั่งบริหาร ด้วยความที่ พิชัย ที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในฐานะกำนัน ต.เสวียด อ.ท่าฉาง ทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน จนได้รับรางวัลกำนันแหนบทองคำ ในปี 2550 และยังเป็นนักการเมืองท้องถิ่นในบทบาท ส.จ. ทำให้พิชัย เข้าถึงในทุกปัญหาของชาวบ้าน ทั้งในเรื่องการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการพัฒนาเครือข่ายแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อรองรับการท่องเที่ยวหลังผ่านวิกฤติโควิด ทั้งการผลักดันให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าพัฒนา นครบางจำ ในพื้นที่ อ.วิภาวดี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน รวมถึงการส่งเสริมให้ อ.ไชยา เป็น “ไชยา มหานคร ศรีวิชัย” ศูนย์กลางท่องเที่ยวส่งเสริมอัตลักษณ์ท้องถิ่น พูดได้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กำนันชัย เดินไปทั่วแทบทุกตารางนิ้วของพื้นที่เลือกตั้งเขต 6
ส่วนคู่แข่งคนสำคัญอีกราย คือ น.ส.อนงค์นาถ จ่าแก้ว หรือ แจง อายุ 32 ปี จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ลูกสาวของ นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี แจง ถือว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในแวดวงการเมือง เพราะพ่อ คือ นายพงษ์ศักดิ์ อดีตเคยเป็นกำนัน ก่อนจะมาลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. แข่งกับ นายชุมพล กาญจนะ และได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยแรก ส่วนแม่ คือ นงเยาว์ จ่าแก้ว อดีต ส.อบจ.กาญจนดิษฐ์ ส่วนสามี คือ นายเกรียงศักดิ์ สินธวาชีวะ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลตลาดไชยา ที่ผ่านมา อนงค์นาถ ทำงานสาธารณะร่วมกับสามีและครอบครัวมาโดยตลอด
ถึงโค้งสุดท้ายของการออกพื้นที่หาเสียงทั้ง 3 ตัวเต็ง ต่างทุ่มสรรพกำลัง งัดทุกยุทธศาสตร์ออกมาต่อสู้กันอย่างเต็มที่ ฟากประชาธิปัตย์ ที่รู้ตัวว่าคะแนนนิยมทั้งพรรคและตัวผู้สมัครลดลง ก็เร่งเครื่องเต็มสูบออกเคมเปญ พรรคของเรา ลูกหลานของเรา หวังเรียกคะแนนนิยมจากสมาชิกพรรคให้กลับมาสนับสนุน ส.ส.เชน ธีรภัทร อีกครั้ง ขณะที่ แจง อนงค์นาถ ก็รุกหนัก เดินขอคะแนนเสียง ด้วยสโลแกน “ลูกใต้โคน” เสมือนต้องอาศัยร่มเงาของผู้เป็นพ่อ พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี ทั้งผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ และผู้สมัครจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ต่างใช้ทรัพยากรทางการเมืองที่มีอยู่ในมือ เพื่อเป็นบันไดก้าวสู่สภา แต่ พิชัย ชมพูพล ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย ใช้ความเป็นส่วนตัว เข้าถึง และเดินไปทุกพื้นที่ อาศัยทำการเมืองด้วยตนเอง มองเห็นปัญหาความเดือนร้อนและความต้องการของชาวบ้าน วันนี้จึงมีเสียงสะท้อนกับคำว่า “เลือกคนบ้านเราเป็นตัวแทน” ต้องจับตา 14 พ.ค. เจ้าของสิทธิพลังเงียบส่งใครเข้าสภาพ ….เพราะเก้าอี้นี้มีตัวเดียว.
อรุณี วิทิพย์รอด