อันดับแรกที่ต้องพูดถึงก่อน คือ วันที่ 7 พ.ค. นี้ อย่าลืมไปใช้สิทธิเลือกตั้งสำหรับคนที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า และ วันที่ 14 พ.ค. นี้ อย่าลืมไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันให้มากที่สุด อย่าคิดแค่ว่าพรรคไหนน่าจะชนะอยู่แล้ว ก็เลยไม่ไปลงคะแนนก็ได้ เพราะเบาใจ การเมือง อะไรๆ มันพลิกได้เสมอ อย่างเดิมกระแสเพื่อไทยมาแรงมาก แบบกล้าประกาศแลนด์สไลด์จะเอา 310 เสียง แต่ต่อมา กระแสพรรคก้าวไกลก็ตีตื้นขึ้นมา แบบในหลายๆ โพล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้รับเสียงเชียร์ให้เป็นนายกฯ มากกว่าแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย

บางคนบอกว่า โพลเชื่อได้ที่ไหน ยิ่งโพลที่ทำจากอินเทอร์เน็ต มันก็เป็นเรื่องสองคนยลตามช่อง .. คนที่ไม่เชื่อถือเพราะไม่มีการสุ่มตัวอย่างอย่างเป็นระบบ (ประชากรทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้งถูกสำรวจ ไม่ว่าจะในเมืองหรือบ้านนอก) บางคนที่เชื่อเขาก็บอกว่า คนที่มาลงลงคะแนนลงโพล มีลักษณะเป็นพวก active citizen คือมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง พวกนี้ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้ง และมีมากพอที่จะใช้ในการประเมินค่าความได้เปรียบเสียเปรียบได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไปไหนมาไหนก็มีแต่คนถามตอนนี้คือ “รัฐบาลสมัยหน้าจะมีลักษณะเป็นอย่างไร” หมายถึงว่า หน้าตาของพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ดูท่าทางแล้ว คงต้องเป็น รัฐบาลผสม ไม่น่าจะใช่รัฐบาลพรรคเดียว เนื่องจาก ต้องเอาไปสู้เสียง ส.ว. (แต่ขณะนี้ ส.ว. ก็โดนกระแสกดดันอย่างหนักว่า อย่าบิดเบือนฉันทามติของประชาชน “พรรคเสียงข้างมากอันดับหนึ่ง” ควรจะได้รับการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่ “พรรคที่รวมเสียงได้จนเป็นอันดับหนึ่ง”) คือคนไทยใจร้อน อยากรู้เร็วๆ ขั้วที่ตัวเองเชียร์จะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่

เปิดชื่อ 100 ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคเพื่อไทย โควตารัฐมนตรี-บ้านใหญ่

แต่เอาจริงจะให้พูดกันตั้งแต่นาทีนี้มันยาก เพราะ การเลือกตั้งเที่ยวนี้มีความสวิงสูงมาก อย่างที่บอก คือตอนแรกเสียงเพื่อไทยดูเหมือนจะดีที่สุด ไปๆ มาๆ ก้าวไกลรดต้นคอแล้ว … พรรคที่ดูเหมือนจะเป็นขั้วเดียวกันได้อย่างเพื่อไทยกับก้าวไกล ก็ดูเหมือนจะมี “อุดมการณ์บางอย่าง” ของพรรค หรือของกองเชียร์ไม่เหมือนกัน แถม พรรคเพื่อไทย ยังมีนางแบกคอยเล่นงานพรรค ก้าวไกล เป็นระยะๆ เผลอๆ สองพรรคนี้ไม่จับขั้วกันก็ได้ แม้จะบอก “ไม่เอาลุง” เหมือนกัน ส่วนพรรคขั้วเดียวกันอย่าง เสรีรวมไทย, ประชาชาติ นี่คาดว่าน่าจะเลือกอยู่ข้างพรรคไหนก็ได้ที่เป็นรัฐบาล ขณะที่พรรครัฐบาลปัจจุบัน มี พรรคชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนากล้า ที่สามารถสวิงไปรวมกับฝั่งไหนก็ได้

ทีนี้ มันก็มีสูตรสมการที่เขาพยายามจับกัน อย่างเช่น “เพื่อไทย+พลังประชารัฐ ( พปชร.)” เพราะมีหลายคนบอก “เธอมีพิรุธนะ” ตรงที่พรรคเพื่อไทยนี่ยังไม่เคยหักกับ พปชร. แรงๆ ในช่วงก่อนหน้านี้ จนมาหลังๆ ที่ประชาชนต้องการความชัดเจนทางการเมือง ถึงได้ประกาศไม่เอาสองลุง แต่จริงๆ คืออาจมี “ดีลลับ” อะไรบางอย่างอยู่ แล้วก็ถ้าถึงเวลาต้องจับขั้วกันจริง ๆ นักการเมืองเขาก็มีพันหมื่นเหตุผลที่จะบอกว่า เราจำเป็นต้องรวมกัน

การที่เพื่อไทยจับคู่กับ พปชร. น่าจะ “ดีลกันได้” เพราะเด็ก พปชร. ก็ค่ายเพื่อไทยเก่าเสียเยอะ แต่ช่วงเลือกตั้งอาจ “จำเป็นต้องหัก” อาจปราศรัยหาเสียงในเชิงรัฐบาลประยุทธ์ไม่ได้เรื่อง อย่างนายสุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ซึ่งปัจจุบันย้ายมาสังกัดเพื่อไทย ก็ปราศรัยหาเสียงด่ารัฐบาลว่า ที่พูดอะไรไปทำไม่ได้สักอย่าง ..และไม่แน่ว่า เพื่อไทยอาจประเมิน พปชร. นี่ไม่น่าได้ ส.ส. เกิน 50 เสียง แต่ต้องการเสียง ส.ว. ในมือของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ในการดีล ส.ว. เกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งอาจรวมถึงบารมีของ พล.อ.ประวิตร อาจช่วยอะไรสักอย่างให้นายทักษิณ ชินวัตร กลับบ้านมาเลี้ยงหลานตามต้องการก็ได้

บ้างก็ว่า ดรีมทีมที่สุด คือ เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย แบบว่า เพื่อไทยมาทำเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ ก้าวไกลมาทำเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออก การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสรีรวมไทยมาทำเรื่องเช็กบิลรัฐบาลที่ผ่านมา ..เสรีรวมไทยคงไม่ได้ ส.ส. มากพอจะเป็นตัวแปรสำคัญ (บางสื่อวิเคราะห์ไว้ด้วยซ้ำว่า พรรคที่มีโอกาสได้ ส.ส. เกิน 50 คนเผลอๆ อาจมีแค่ 4 พรรค คือ เพื่อไทย ก้าวไกล รวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ภูมิไทย) ..พอถามเรื่องนางแบกที่ออกมาฟาดพรรคก้าวไกลรัวๆ เขาก็บอกว่า “ฝ่ายประชาธิปไตยนี่ถึงเวลาสู้ เขาก็สู้กัน แต่ถึงเวลาเขาต้องทำงานร่วมกัน เขาก็ทำได้”  …แต่ทีนี้ ตัวแปรสำคัญคือเรื่อง ป.อาญา ม.112 ที่มวลชนของพรรคก้าวไกล อาจเรียกร้องให้แก้ไขและเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่ไม่รู้ว่า พรรคเพื่อไทยจะเอาด้วยหรือเปล่า เพราะอาจเป็นตัวแปรของการกลับบ้านของนายทักษิณ

ถ้าอุดมการณ์ตรงนี้ไม่ตรงกัน ก็ทำได้แค่ประวิงเวลาไปเรื่อยๆ แบบใช้วิธีออกเป็นระเบียบอะไรสักอย่าง เพื่อให้มีการกลั่นกรองก่อนสั่งฟ้อง ไม่ใช่ฟ้องดะไปทั่ว ซึ่งจริงๆ การแก้ไขกฎหมายนั้น ..นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้านั้น บอกว่า มันต้องแก้โดยการลดโทษ ไม่ใช่อัตราการติดคุก 3-15 ปี ซึ่งพอๆ กับการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ต้องแก้โดยการไม่ใช่ใครก็ฟ้องได้ แต่ต้องเป็นสำนักพระราชวัง และไม่ถึงกับการเป็นอาญาแผ่นดิน

แต่ กองเชียร์พรรคก้าวไกลหลายคนก็ออกจะสุดโต่ง ทำนองอยากเป็น generation of revolution คือรุ่นที่สร้างความเปลี่ยนแปลง หรือที่ม็อบชอบพูดกันว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา” นั่นแหละ ดังนั้นขอเสนอให้ ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ไปเลย ซึ่ง กลุ่มที่มีอุดมการณ์อนุรักษนิยมก็คงจะต้องต่อต้าน ซึ่งทำให้เป็นเรื่องน่าสนใจว่า หากมีการจุดประเด็นเรื่องการแก้ ม.112 จะทำให้เกิดภาวะม็อบชนชั้นกลางลงถนนอีกหรือไม่ เหมือน กรณีม็อบไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และถ้าเกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ขนาดนั้น จะทำให้ทหารกลับเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง โดยอ้างเหตุผลสถาบันอีกหรือไม่

อีกสูตรหนึ่งก็เชื่อว่า ฝั่งที่จะได้ ส.ส. จำนวนมากเกือบหลักร้อย หรือร้อยต้นๆ คือ รทสช. ที่ยังชู “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นตัวขาย กับ ภูมิใจไทย ซึ่งเจาะพื้นที่อีสานล่างกับใต้ได้มาก สองพรรคนี้อาจรวมเสียงกันก่อน แล้วดึงเอาพรรคอื่นมาร่วม อย่างประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนากล้า คล้ายๆ สูตรพรรคร่วมรัฐบาลปี 62 แต่พรรคเล็กก็อาจสูญพันธุ์หมด จนได้เสียงเกิน 250 เสียง หรือไม่ก็ปริ่ม 250 เสียง จากนั้นค่อยดำเนินการ ซื้องูเห่า เอาเพื่อให้ได้เสียง ส.ส. เกิน 250 เสียง แล้วตั้งรัฐบาลได้ ..แต่อย่างไรก็ตาม ส.ว. จะตะบี้ตะบันโหวตให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่ได้ เพราะไม่งั้นงานสภาผู้แทนราษฎรมีปัญหาทันที กฎหมายไม่ผ่านถ้าเงินไม่ถึง ง่ายๆ คือ “อาจต้องจ่ายงูเห่าเป็นงวดๆ” เพื่อให้กฎหมายแต่ละฉบับผ่านได้ และยิ่งเสี่ยง ถ้านายกฯ ดันมีปัญหากับใครในขั้วเดียวกัน หากมีอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แล้วถ้าบังเอิญถึงเป็นการรวมขั้วแบบนี้ได้ คือพรรคที่ไม่ใช่เสียงข้างมาก จับขั้วกันจนได้เสียงเกินกึ่ง แล้วพรรคเสียงอันดับหนึ่งเป็นพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะยอมยกเก้าอี้นายกฯ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่อีก เพราะประกาศปาวๆ อยู่ตลอดแล้วว่า ถ้าเป็นพรรคเสียงข้างมากจะเป็นนายกฯ เอง ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เองก็เคยพูดทำนองว่า ทายาททางการเมืองหลังจากอยู่ได้แค่ 2 ปี คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. ซึ่งถ้า พล.อ.ประยุทธ์ หมดเวลาในการดำรงตำแหน่งเมื่อไร ส.ว. ชุดปัจจุบันจากบทเฉพาะกาลคงหมดวาระไปแล้ว และ ส.ว. ชุดใหม่ไม่ได้มีอำนาจเลือกนายกฯ

การเมือง - ธนกรชู'ประยุทธ์-พีระพันธุ์'มือสะอาด จริงจังแก้ปัญหา  ซื่อสัตย์สุจริต

ตานี้ ถ้าเกิด พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกสมัย แต่มีการเปลี่ยนผ่านเมื่ออยู่ครบ 8 ปี ก็ มีโอกาสจะเกิดความโกลาหลอลหม่าน การต่อรองอะไรเยอะแยะ ย้ายพรรคหรือใช้เอกสิทธิ์ ส.ส. ในการโหวต เผลอๆ อาจนำไปถึงการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลได้ ..และถ้า พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามา มีใครทะลึ่งเสนอขอแก้รัฐธรรมนูญยกเลิกเรื่องนายกฯ ดำรงตำแหน่งได้ 8 ปีขึ้นมา เห็นจะโดนแรงกระแทกจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ใช่น้อย ว่า นี่คือการสืบอำนาจเผด็จการต่อไปเรื่อยๆ .. แล้วอาจมีการเคลื่อนไหวขับไล่ได้ ภาคประชาชนอาจรวมตัวอย่างเข้มแข็งได้เหมือนการเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลเผด็จการในเกาหลีใต้

พรรคภูมิใจไทย จะจับมือกับพรรคเพื่อไทยได้หรือไม่ มีคนสังเกตเห็นท่าทีของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ไปออกสื่อ ดูเหมือนง้อเพื่อไทยมากขึ้น อย่างเช่นการบอกว่า ควรจะลืมความบาดหมางในอดีตระหว่าง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และนายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย นายกสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ..มันก็ดูเป็นการส่งสัญญาณกลายๆ ว่า “เปิดใจให้เราด้วย” ถามว่าสองคนนั้นขัดแย้งกันเรื่องอะไร ..ก็จากกรณีที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบ ด้วยเหตุที่ศาลวินิจฉัยว่า กรรมการบริหารพรรคเกี่ยวข้องกับการซื้อเสียง ตอนนั้นก็มีการยกโขยงกันไปอยู่พรรคใหม่คือพรรคเพื่อไทย แล้วจะโหวตรับรองนายกฯ คนใหม่แทนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง

ปรากฏว่า มีข่าวว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ไปล็อบบี้นายเนวิน ชิดชอบ ให้เอากลุ่มของนายเนวินออกจากพรรคเพื่อไทย (หรือพลังประชาชนเก่านั่นแหละ) ไปตั้งใหม่เป็นพรรคภูมิใจไทย แม้มีข่าวว่านายทักษิณล็อบบี้ให้อยู่ด้วยกัน แต่โดนสวนกลับ “มันจบแล้วครับนาย” ทำให้รัฐบาลเปลี่ยนขั้วทันทีเป็นพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ภูมิใจไทยเอากระทรวงเกรดเอไปเพียบ และทำให้ขบวนการเสื้อแดงเรียกร้องให้ยุบสภา เคลื่อนไหวรุนแรงขึ้นจนนำมาสู่ การสลายม็อบในปี 2553 ซึ่งขณะนี้ก็ยังชำระความกันไม่เสร็จว่า “ใครควรต้องมีความผิด”

จะให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาล โดยดึง พรรคประชาธิปัตย์ ข้ามา ก็จะถูกข้อหาทรยศมวลชนเสื้อแดง ที่ช่วงหลังๆ เพื่อไทยพยายามดึงกลับมาให้เป็นมวลชนของตัวเอง เพราะข้อครหาว่า ผู้ที่สั่งใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมคือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แถมคนตั้งม็อบ กปปส. จนทำให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกยึดอำนาจ ก็คนของประชาธิปัตย์ หรือระหว่างการมีม็อบ กปปส. น.ส.ยิ่งลักษณ์เองยุบสภา พยายามจัดการเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ แต่การเลือกตั้งก็เดินหน้าไม่ได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้ง..หรือสมัยทักษิณ 2 ที่นายทักษิณยุบสภาหลังถูกข้อครหาเรื่องขายหุ้น แล้วมีม็อบเสื้อเหลืองขับไล่ ก็ประชาธิปัตย์อีกแหละบอยคอตการเลือกตั้ง ..คือดูท่าทางสองพรรคนี้มีคดีต่อกันเยอะ จับกันยาก

อย่างไรก็ตาม อะไรจะชัดขึ้นเมื่อเห็นภาพของจำนวน ส.ส. ราวสี่ห้าทุ่ม ที่ผลไม่เป็นทางการออก เขาคงวิ่งเรื่องจับขั้วกันแล้ว ไปคิดล่วงหน้าก่อนบางทีก็ปวดหัว เพราะการเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ถ้าผลประโยชน์ถึง

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”