ผ่านพ้นเดือนเมษาฯ บรรยากาศร้อนมหาโหด จนส่งผลกระทบทำให้ช่วงหน้าร้อนปีนี้ ค่าไฟฟ้าแพงกันทั้งแผ่นดินไปเป็นที่เรียบร้อย พอขยับเข้าสู่พฤษภาคม ก็เริ่มมีทั้งฝนลมพายุกระหน่ำต้อนรับเล่นงานหลายจังหวัด เรียกว่ายุคนี้ต้องพร้อมปรับตัว รับมือกับอากาศแปรปรวน ให้ได้แทบทุกสภาพ!!

ขณะที่บรรยากาศการเมือง หาเสียงเลือกตั้งที่เข้มข้นมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงช่วงนับถอยหลังอีกกว่า 10 วันเท่านั้นก็จะถึงเวลาเข้าคูหา เลือกตั้งวันอาทิตย์ 14 .. 66 น่าจะเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของการเมืองไทย เชื่อว่าทั้งบรรดาคอการเมือง สภากาแฟ หรือประชาชนทั่วไป รวมไปถึงกองเชียร์ของแต่ละพรรคต่างเกาะติดตามความเคลื่อนไหวคึกคัก ทั้งในกรุงเทพมหานครไปจนถึงจังหวัดใหญ่แต่ละภูมิภาค บรรดาแคนดิเดตการเมือง นำทีมออกตะลุยหาเสียงปราศรัยใหญ่ตามนโยบายของพรรคตัวเองเพื่อเรียกคะแนน

ในยุคของโลกออนไลน์ที่ข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน มีการนำความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาช่วยด้วย จนทำให้ได้เห็นการแข่งขันทางโซเชียลของแต่ละพรรค งัดกลยุทธ์มาขับเคี่ยวสู้กันอย่างดุเดือดไม่แพ้สนามโลกความเป็นจริง ยิ่งช่วงกำลังจะเข้าสู่โค้งสุดท้าย สำนักโพลหลายแห่ง ทั้งของสถาบันการศึกษา สื่อหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ โทรทัศน์ ก็ได้ออกสำรวจข้อมูลกันทุกรูปแบบมีทั้งเดินลงไป สอบถามข้อมูลตัวอย่างจากประชาชน หรือ สำรวจผ่านระบบออนไลน์

ที่สำคัญสำรวจกันหลายรอบด้วย ผลโพลที่ออกมานั้นส่วนใหญ่จะค่อนข้างใกล้เคียงกัน จนทำให้พอจะเห็นหน้าค่าตาของบรรดา “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ใครบ้างที่มีคะแนนนำ ลำดับ 1-5 หรือ “พรรคการเมือง” ไหน ที่ประชาชนจะไปเลือก ส.ส.เขต และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากสุด ลำดับ 1-5

มีสิ่งหนึ่งที่น่าจับตา คือ การเลือกตั้งรอบนี้ประชาชนค่อนข้างตื่นตัวไม่น้อย โดยเฉพาะ กลุ่มวัยหนุ่มสาวคนทำงาน รวมไปถึง กลุ่มเยาวชนอนาคตของชาติ นักเรียนนักศึกษา ที่ติดตามไปฟังการปราศรัยพรรคการเมือง หรือนักการเมืองที่ตัวเองชื่นชอบ โดยเฉพาะการหาเสียงบางพื้นที่กลายเป็นเรื่องถูกพูดถึงอย่างมาก อาทิ ปรากฏการณ์สามย่านมิตรทาวน์ จากเวทีเล็ก ๆ เรียบง่ายไม่ต้องอลังการแต่ทรงพลัง หรือในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ มีประชาชนฟังปราศรัยล้นหลาม

ไล่เรียงดูจากภาพบรรยากาศปราศรัยหาเสียงช่วงแรกแล้ว ได้รับการตอบรับจากประชาชนมากน้อยแค่ไหนนั้น พอจะมีผลสะท้อนจากโพลหลายสำนักที่เพิ่งออกมาเมื่อสิ้นเดือนเม.ย. 66 ไม่ว่าจะเป็นโพลรูปแบบของการเดินสำรวจ หรือโพลให้โหวตทางออนไลน์

สิ่งที่ค่อนข้างตรงกันคือ พรรคการเมืองคะแนนนำ ลำดับต้น ๆ 1-3 ทั้งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี, ..เขต และ ส..ปาร์ตี้ลิสต์ กลายเป็น “พรรคการเมืองซีกฝ่ายค้าน” ถือเป็นกลุ่มเสรีนิยม และต่อต้านรัฐประหาร ส่วน “พรรค การเมืองฝั่งรัฐบาล” ถือเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม คะแนนยังไล่ตามอยู่ห่าง ๆ แทบจะทุกโพล

หากพิจารณาดูผลคะแนนจากแต่ละโพล พอมองเห็นภาพกลุ่มพรรคการเมืองซีกฝ่ายค้านหรือเสรีนิยม ที่ต่อต้านรัฐประหาร กำลังแข่งขันช่วงชิงคะแนนกันเอง ยิ่งช่วงโค้งสุดท้ายเมื่อเห็นทีท่าสถานการณ์การเมืองเริ่มจะเปลี่ยนแปลง หลายพรรคย่อมต้องเร่งปรับยุทธศาสตร์การหาเสียง แก้เกมกันชนิดรายวันเพื่อดึงคะแนนกลับคืนมาให้ได้

แต่ถ้าบางพรรคชะล่าใจหรือมองข้ามผลโพล ยังเชื่อมั่นในยุทธศาสตร์เดิม ๆ ของตัวเองไม่ยอมปรับแผน พอถึงวันกาบัตรลงคะแนนเลือกตั้งจริง อาจได้เห็นวงรอบการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บนกระดานการเมืองไทย มีกลุ่มหนุ่มสาวหน้าใหม่ ๆ ล้มช้าง พาเหรดชนะเลือกตั้ง เรียกว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ยุคนี้!!

————————
เชิงผา