เริ่มจาก จาตุรนต์ ฉายแสง จากพรรคเพื่อไทย มองว่า ประเทศไทยไม่อยู่บนเวทีโลกมานาน โดยเฉพาะ 5 ปีที่ผ่านมา ที่อยู่ภายใต้การปกครองโดยเผด็จการสมบูรณ์แบบ ดังนั้น การพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่สามารถทำได้ หลักนิติธรรมถูกทำลาย สิทธิการแสดงออกและการชุมนุมจึงถูกจำกัดไปด้วย
สิ่งที่ต้องทำเป็นการเร่งด่วนคือ การแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 เนื่องจากมีการใช้กฎหมายแบบผิด ๆ เช่น การไม่ให้ประกันตัวโดยไม่มีเหตุผล หรือใช้เหตุผลไม่สอดคล้องกับกฎหมาย ไม่ถือว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ “อยากขังก็ขัง” สำหรับมาตราที่ต้องการแก้ไขเป็นพิเศษคือ มาตราที่เกี่ยวกับการตั้งข้อหา การประกันตัว การสั่งขัง ซึ่งต้องทำให้ชัดเจน
ทั้งนี้ ยังมองว่ารัฐธรรมนูญที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนต้องเขียนให้ชัดเจนมากขึ้น ปัญหาอยู่ที่สร้อยท้าย “ทั้งนี้ขอให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย” แต่กฎหมายกลับไม่มีวิวัฒนาการ เน้นความมั่นคง จำกัดสิทธิและเสรีภาพประชาชน ยกตัวอย่าง กฎหมายแรงงานข้ามชาติที่สมประโยชน์กับการทุจริตคอร์รัปชั่น ผู้ออกแบบกฎหมายจงใจให้เกิดแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย จึงต้องแก้ให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้อยู่ในระบบที่ถูกกฎหมาย และได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับแรงงานไทย ส่วน Sex Worker ต้องถูกกฎหมายและได้รับความคุ้มครองจากรัฐอย่างเหมาะสม กรณีไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน รัฐต้องมีระบบคุ้มครองโดยอาจนำระบบบล็อกเชนเข้ามาใช้
ปัจจุบันแต่ละพรรคเน้นเสนอกฎหมายเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งหากฝากความหวังกับการออกกฎหมายมากไปจะแก้ยาก เพราะปัญหาในประเทศนี้ สั่งสมมาจากเผด็จการ จึงเสนอให้รวบกฎหมายหลายฉบับในลักษณะ “พวง” แล้วแก้ไปพร้อมกัน
“ปัญหาสิทธิมนุษยชนไม่อาจแยกออกจากความเผด็จการ หรือระดับความเป็นประชาธิปไตยได้ หากไม่ทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ทำให้ระบอบยุติธรรมของประเทศตรวจสอบได้โดยประชาชน หรือให้อำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน”
พริษฐ์ วัชรสินธุ จากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคเตรียมกฎหมายที่เกี่ยวกับเสรีภาพทางการเมืองไว้ 4 ชุด ชุดที่ 1 การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพการแสดงออก แก้กฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบ รวมถึงการแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ชุดที่ 2 การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมตัว แก้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แม้ไม่แจ้งล่วงหน้า ก็สามารถชุมนุมโดยสันติได้
ชุดที่ 3 กฎหมายคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ป้องกันการฟ้องปิดปาก หรือ SLAPP และชุดที่ 4 ยกเครื่องกฎหมายความมั่นคงพิเศษให้มีสมดุลระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการบริหารงานของราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน สำหรับประเด็นการคุ้มครองสิทธิแรงงาน พรรคจะปรับระบบค่าแรงขั้นต่ำให้ขึ้นทุกปีโดยอัตโนมัติ พร้อมออก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เพื่อจำกัดชั่วโมงทำงาน ไม่เกิน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ หากเกินต้องจ่ายโอที ลงนามอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานในประเทศและแรงงานไทยในต่างชาติ แรงงานทุกสัญชาติต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน
รัชดา ธนาดิเรก จากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่กินได้ เพราะเกี่ยวข้องกับปากท้อง ที่ดินทำกิน การไม่ถูกกีดกัน การไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ความพิการ และอายุ ทั้งยังเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เพราะไทยต้องพึ่งพิงแรงงานต่างชาติ “ไม่มีเขาเศรษฐกิจเราก็ไม่โต”
ในส่วนพรรคมีนโยบายแก้ปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย ด้วยการออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลงใน 4 ปีแรก โดยในพื้นที่ป่าและอุทยานที่มีปัญหาคนมาก่อนพื้นที่ป่าไม้ หรือป่าไม้มาก่อนคน ท้ายที่สุดคนกับป่าต้องอยู่ร่วมกันได้ จึงต้องเร่งออกเอกสารสิทธิรับรองการมีที่ดินทำกินในพื้นที่ของรัฐ ชาวบ้านต้องมีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างมั่นคง
ไพบูลย์ นิติตะวัน จากพรรคพลังประชารัฐ ยกปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ระบุว่า ทุกคนเสมอภาคตามกฎหมาย ซึ่งเห็นด้วยว่าทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ต้องนำมาบังคับใช้ พร้อมผลักดันร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ส่วนกลุ่ม Sex Worker เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ การปรับแก้กฎหมายที่มีอยู่คงไม่ถูก เพราะเป็นกฎหมายที่เป็นปัญหา หากเป็นไปได้ควรปรับปรุงแก้ไขหลายอย่าง
กัณวีร์ สืบแสง จากพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดนี้จะไม่ถูกตั้งคำถามจากภาคประชาสังคมเลย หากผู้นำประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชน ที่เข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่เป็นหลักตามธรรมชาติ ซึ่งพรรคเน้นนำการเมืองโดยหลักสิทธิมนุษชนมาใช้ เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่พึ่งพากลุ่มทุน โดยแบ่งเป็น
1.สิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงออกนั้นจะต้องไม่กระทบต่อความมั่นคง สิทธิเสรีภาพของประชาชนในเบื้องต้นคือหลักการเรื่องสิทธิตามธรรมชาติ ที่ประชาชนมีสิทธิในการแสดงออกและเสรีภาพในการพูด เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยน และแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาบางมาตราที่ล้าหลัง ทำให้ประชาชนสามารถมารวมกลุ่มกันในการเรียกร้องสิทธิด้านต่าง ๆ ได้.