“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ขอเปิดพื้นที่หยิบยกเนื้อหาน่าสนใจบนเวทีมาถ่ายทอดต่อว่า แต่ละภาคส่วนที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอที่อยากให้ภาคการเมืองผลักดันเรื่องใดบ้าง

นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผอ.เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมความเป็นธรรม กล่าวว่า ตนยื่นข้อเสนอ 9 ข้อไปกับพรรคการเมือง ได้แก่ เงินอุดหนุนเด็กเยาวชนถ้วนหน้า, การศึกษาฟรี, หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่าเทียม, การเข้าถึงสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ดิน, งานและรายได้ที่เป็นธรรม, ประกันสังคมถ้วนหน้า, บำนาญถ้วนหน้า, สิทธิทางสังคมพหุวัฒนธรรม และปฏิรูปภาษีและงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองที่ผ่านมามีทั้งแนวอนุรักษนิยม ทุนนิยม หรือเสรีนิยม แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ จึงเชื่อในแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือสวัสดิการถ้วนหน้า

สุรศักดิ์ เนียมถนอม ที่ปรึกษาฝ่ายงานข้อมูล swing กล่าวว่า การทำงานด้านการค้าประเวณี ต้องแยกให้ออกกับการค้ามนุษย์ swing ต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนมา 60 ปีแล้ว ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป รากฐานของประเทศไทยนั้นกว่าร้อยละ 80 ยังไม่สนับสนุนให้กลุ่มผู้ทำอาชีพค้าประเวณี เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ที่พึงจะได้รับจากรัฐบาล เห็นได้ชัดเจนจากช่วงโควิด-19 ที่รัฐบาลได้รองรับงานแค่ 10 ประเภทเท่านั้น

ขณะที่กลุ่มผู้มีอาชีพบริการเหล่านี้ ไม่อาจเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ เนื่องจากการทำงานลักษณะนี้ไม่อยู่ในกรอบของรัฐสวัสดิการ และการช่วยเหลือที่รัฐจะช่วยเหลือได้          

ถึงพรรคการเมืองที่มีมุมมอง หรือความคิดต่อพนักงานบริการ หรือผู้ที่ทำงานบริการ จะสามารถมีวันที่ทำให้เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ (Sex worker) เป็นอาชีพที่ถูกต้องได้หรือไม่ หรือสามารถนำ พ...การค้าประเวณีออกไปจากประเทศนี้ได้หรือไม่

ปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ ประเทศไทย กล่าวว่า การตั้งเวทีพูดคุยเพราะอยากนำเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติให้เกิดได้จริง จึงได้พูดคุยหลายกลุ่มทั้งภาคประชาชน ภาคสังคม และแอมเนสตี้เองมี 4 ข้อเสนอ ดังนี้

1. เสรีภาพการแสดงออก ช่วงที่ผ่านมาเกิดการชุมนุมขึ้นในหลายพื้นที่ และมีประชาชนถูกจับดำเนินคดีต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่ประชาชนออกมาเรียกร้องไม่ใช่เพียงแค่การขับไล่รัฐบาล ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ การจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งผู้ที่ถูกจับกุมนั้น มีเยาวชนรวมอยู่ด้วย จึงอยากเสนอให้พรรคการ เมืองที่เข้าสภาในรอบนี้ พิจารณากฎหมายยกเลิกความผิดบางมาตรา

2. เสรีภาพการชุมนุม รัฐควรได้รับการอบรมสั่งสอน ตัวอย่างการชุมนุมในช่วงการประชุมเอเปคที่ผ่านมา มีเยาวชนโดนจับ มีคนตาบอด จึงควรมีการเยียวยา และรับผิดชอบในสิ่งที่รัฐทำ

3. เสรีภาพสมาคม รัฐต้องถอน พ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร คนที่เสียผลประโยชน์คือประชาชน เพราะไม่สามารถรวมตัวกันออกมาเรียกร้องได้

4. พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำ ให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่มีการเลื่อนออกไป การรับผิดรับชอบไม่ให้มีการลอยนวลพ้นผิดจากสิ่งที่รัฐทำกับประชาชน

“ฝากถึงพรรคการเมืองในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคตว่ากว่า 7,000 คน ที่ต้องเสียชีวิตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว คำถามคือเราอยากเห็นระบบหรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สามารถทำให้ประชาชนเห็นถึงการปกป้องคุ้มครองสิทธิ ไม่ให้ประชาชนกลัว เห็นการรับผิดรับชอบหากเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิประชาชน พร้อมแสดงให้เห็นว่า สิทธิมนุษยชนเป็นวาระสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ”

คอรีเยาะ มานุแช ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติในไทยมีอยู่ 2.4 ล้านคน ซึ่งมีอีกจำนวนมากที่ไม่อยู่ในระบบ ต้องมีการจดทะเบียนเพื่อช่วยให้เข้าสู่ระบบแรงงาน และยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำ MOU มีคนที่รอเข้ากระบวนการ ตอนนี้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน มีแรงงานกว่า 7 แสนคนหลุดจากระบบ และการคุ้มกันแรงงานประมงที่ต้องกำหนดกฎหมายนโยบายต่าง ๆ ไม่ตรงตามอนุสัญญาที่มีการลงนามไว้ อยากให้ใช้แนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามหลักกฎหมาย รวมถึงมองเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย

ธารา บัวคำศรี ผอ.กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี คือสิทธิมนุษยชนที่เราต้องตระหนัก และรับรู้ ทั้งอากาศสะอาด สิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งสมัชชาแห่งสหประชาชาติรับรอง และเรียกร้องให้ศาลระหว่างประเทศ เพื่อให้แต่ละประเทศปฏิบัติตามที่ไปลงนามไว้ โดยแคมเปญเลือกตั้งที่ทางกรีนพีซทำนั้น มีหลายพรรคการเมืองมีนโยบายด้านนี้ แต่อยากให้มีการบัญญัติเรื่องนี้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน

สิทธิเสรีภาพ พื้นที่แสดงความคิดเห็น และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คนเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง เพราะอยู่หน้าด่านปกป้องระบบนิเวศ ที่ช่วยทำให้เรามีอากาศหายใจ ที่เราทุกคนอาศัยตรงนี้ สิทธิในการดำรงชีวิต ผู้คน ชุมชน เด็ก คนจนเมือง ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม เราอยากเห็นพรรคการเมืองนำเรื่องนี้เข้าไปในสภาด้วย          

พรพนา ก๊วยเจริญ ผอ.Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 มีการระบุเรื่องการถือครองที่ดินเอาไว้ แต่ไม่มีใครปฏิบัติตาม รวมถึงไม่ถูกใส่ใจจากรัฐ ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดินของรัฐมานานถูกดำเนินคดี และการถือครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศ เป็นของคนส่วนน้อยเท่านั้น

ประเทศไทยไม่เคยสนใจสิทธิชุมชน รัฐสนใจแค่สิทธิปัจเจกกับสิทธิของรัฐ  อยากเห็นรัฐบาลในอนาคต ช่วยหยิบเอาประเด็นที่ดินมาเป็นวาระแห่งชาติ แก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ออกกฎหมายการถือครองที่ดินมาช่วยประชาชนในประเทศ

พรุ่งนี้มาติดตามต่อกับเวทีวาระสิทธิมนุษยชน ในมุมมองตัวแทนภาคการเมือง.