ทั้งนี้ หากสังคมไทยยุคนี้…ยุคที่ “เรื่องร้ายเกิดขึ้นอย่างน่าตกใจมากขึ้นเรื่อย ๆ” ยุคที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศครั้งใหม่ที่ผู้คนทั่วไปต่างคาดหวังว่าต่อไปจะไม่มีกรณี “ความขัดแย้งทางการเมืองฉุดรั้งเมืองไทยคนไทยให้ถอยหลังเข้าคลอง” อีก?? ก็ “ย่อมดีแน่” หากทุกฝ่าย “ใส่ใจนำธรรมมาเป็นหลักช่วยในการเดินหน้ากันต่อไป”… ซึ่งสำหรับ “ธรรม” โดยนัยนี้…ก็มีการเผยแผ่ไว้ไม่น้อย… 

“ธรรม” โดยนัยนี้…มีทั้งกรณี “ธรรมะ”            

และก็ยังหมายรวมถึงกรณี “นิติธรรม”

หลักที่ “ช่วยให้สังคมสงบเย็นเป็นสุข”

ทั้งนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนต่อแง่มุม “สังคมวิทยา” เกี่ยวกับ “ความขัดแย้ง” ไปในตอนที่แล้ว โดยประเด็นสำคัญบางช่วงบางตอนมีว่า… ก็มีบ่อยครั้งที่ความขัดแย้งได้กลายเป็นพลังทะยานชีวิตของมนุษย์ โดยการทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์… ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่มสังคม ก็อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมโดยรวมได้เช่นกัน ตราบที่ความขัดแย้งถูกจำกัดขอบเขตให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบที่สังคมกำหนด เพียงแต่… ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผู้อื่นอย่างเท่าเทียม ต้องอดทนต่อความแตกต่าง ต้องสร้างวัฒนธรรมการถกเถียงให้เป็นสิทธิเสรีภาพ ต้องสร้างบรรทัดฐานทางสังคมให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยในทุกระดับ

ส่วนกรณี “ธรรม” ที่เป็นหลัก “ทำให้สังคมสงบเย็นเป็นสุข” ได้นั้น… ในส่วนของ “นิติธรรม” ก็อย่างเช่นที่เคยมีการสะท้อนไว้นานแล้ว แต่ก็ยังคงร่วมสมัย อย่างเช่นที่เคยมีการสะท้อนไว้บนเวทีสาธารณะที่ว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่หลักใหญ่ใจความนั้นมี อาทิ… “การที่ประเทศไทยจะพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน ต้องอาศัยการพัฒนาในหลายมิติ ซึ่งต้องมีปัจจัยมาจากการที่สังคมมีหลักนิติธรรมเป็นพื้นฐานรองรับ…” …นี่เป็นการระบุไว้โดย ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)  ซึ่งการใช้นิติธรรมเป็นพื้นฐานเพื่อยั่งยืนนั้น…

“น่าพินิจ” ยุคที่ไทย “จะตั้งหลักกันใหม่”

และน่าคิดนั้นก็รวมถึงประเด็นที่ว่า… “การผลักดันให้สังคมมีหลักนิติธรรม คนในสังคมเคารพกติกา ต้องอาศัยความร่วมมือและการขับเคลื่อนของคนจากทุกภาคส่วน หากคนจากศาสตร์หลายแขนงรวมตัวกันด้วยวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาหลักนิติธรรม และพร้อมที่จะทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ก็จะเกิดวิธีการคิดแบบนอกกรอบ เปิดใจรับฟัง มุ่งหาวิธีใหม่แม้ในเรื่องเก่า ๆ เกิดเครือข่ายที่ช่วยกันขับเคลื่อนสังคมไปสู่การวิวัฒน์ มีการพัฒนาที่ถูกต้องและยั่งยืน”

ย้อนดูเพิ่มเติมในส่วนของ “นิติธรรม”… จากที่ ผศ.ปารีณา ศรีวนิชย์ ในฐานะนักวิชาการคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยระบุไว้บนเวทีสาธารณะเช่นกัน นี่ก็ “น่าพินิจ” กล่าวคือ… “นิติธรรม และวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกา สอดคล้องกันและแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งการจะสร้างวัฒนธรรมแห่งการเคารพกติกานั้น ต้องเริ่มจากการมีความตระหนักร่วมของสังคมก่อน หลังจากนั้นแต่ละคนจะเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองที่จะไม่ละเมิดกฎหมาย และไม่ทนต่อพฤติกรรมที่ละเมิดกฎหมาย ซึ่งความร่วมมือจากทุกคน จะทำให้การควบคุมทางสังคมเกิดขึ้นได้และกฎหมายมีผลบังคับใช้”

“นิติธรรม” คือ “ฟันเฟืองสังคมที่สำคัญ”

เช่นเดียวกับ “ธรรมะ” ที่ “ควรจะพินิจ”

เรื่อง “ธรรมะ” นั้น ในยุคที่มีแต่เรื่องร้ายที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และหวังกันว่าจะทุเลาเบาบางลง ในยุคที่หวังกันว่าจะไม่เกิดเรื่องไม่พึงประสงค์เพราะความขัดแย้งทางการเมืองอีก หาก “นำธรรมมาเป็นหลักช่วย” ก็ “ย่อมมีหวัง”… ดังพระโอวาทแห่งองค์ประมุขสงฆ์ของชาวพุทธไทย กล่าวคือ… “พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้นั้นคือความจริงของชีวิตที่ทุกคนควรรู้ควรปฏิบัติ เมื่อน้อมนำมาปฏิบัติจริงก็ย่อมจะให้ผลดีจริงแก่ชีวิตตามควรแก่การปฏิบัติ” …นี่เป็นความสำคัญบางส่วนจากพระโอวาท สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 และทรงเคยมีพระโอวาทไว้ด้วยว่า… “ที่เคยโลภมากก็ให้ลดลงเสียบ้าง ที่เคยโกรธแรงก็ขอให้โกรธเบาลง ที่เคยหลงจัดก็ขอให้พยายามใช้สติปัญญา ตนเองจะเป็นผู้สงบเย็นก่อน ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความสงบเย็นกว้างขวางออกไปอย่างไม่ต้องสงสัยเลย…

โลกเย็น เพราะเมตตายิ่ง…”

ทั้งนี้ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ก็ทรงมีพระเมตตาประทานพระโอวาทธรรมแก่ชาวพุทธไทยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพระโอวาทธรรมที่ความสำคัญบางช่วงบางตอนคือ… “ละความหลงจับยึดในสิ่งมายาทั้งปวง คลายความมัวเมา ยึดถือตัวถือตนลง เว้นวางการแบ่งเขาแบ่งเรา อันจะช่วยยุติความเบียดเบียน ก้าวร้าว บาดหมาง และชิงชังกัน เมื่อสมาชิกในสังคมใดทำได้เช่นนั้น ความเมตตากรุณาอย่างยุติธรรมย่อมบังเกิด สรรพชีวิตในสังคมนั้นย่อมอิงอาศัยกันได้อย่างปราศจากเวรภัย…

สันติสุขที่แท้ย่อมปรากฏ…

ให้ประจักษ์เห็นจริง…”.