แล้วก็กลับสู่โหมดร้อนจัด หรือ “ยิ่งร้อนกว่าเดิม” ซึ่งสถานการณ์นี้ก็รวมถึงใน “กรุงเทพฯ”… ทั้งนี้ กับพื้นที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของไทยเรานั้น วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลเรื่องร้อนมาสะท้อนต่อกรณีหนึ่ง…

กรณีที่ถือว่าเป็น “ปรากฏการณ์”

เป็นปรากฏการณ์ “ร้อนซ้ำร้อน!!”

ที่ “ยึดโยงเรื่องผังเมือง-สถาปัตย์”

เกี่ยวกับกรณีนี้ กับ “พื้นที่กรุงเทพฯ” ที่ฤดูร้อนปี 2566 นี้ก็ดูจะ “ร้อนจัด” กว่าที่ผ่าน ๆ มานั้น ทาง ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความที่เผยแพร่ใน เว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ www.tu.ac.th ผ่าน “มุมสถาปัตยกรรม” ถึง “สาเหตุ” ที่ทำให้ “กรุงเทพฯ” เกิด “ปรากฏการณ์ร้อนซ้ำร้อน” ว่า… อาจมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1.ปัจจัยภายนอก จากเรื่องอุณหภูมิโลก และ 2.ปัจจัยท้องถิ่น อาทิ ผังเมือง รูปแบบอาคาร พื้นที่ดาดแข็ง และ พื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอ …นี่เป็นการระบุไว้ถึงเหตุปัจจัย…

ทำให้เกิด “ปรากฏการณ์ร้อนซ้ำร้อน”

ชนิดที่ “นับวันดูจะยิ่งร้อนทุบสถิติเก่า”

ทาง ผศ.อาสาฬห์ ยังได้ระบุไว้อีกว่า… นอกเหนือจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูง และมากไปกว่าการเกิดจากปัจจัยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ก็มีประเด็นน่าสงสัยที่ว่า… ความร้อนที่เกิดขึ้นน่าจะถูกเสริมแรงจากเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เข้ามาสำทับ ทำให้ประเทศไทย และรวมถึงกรุงเทพฯ ร้อนมากขึ้นกว่าทุก ๆ ปี โดยกับกรุงเทพฯ กับเงื่อนไขเสริมแรง ก็อาทิ… “มีอุณหภูมิและความร้อนสะสมจากกลุ่มอาคารสูง” และจากการที่ “มีพื้นที่ดาดแข็งจำนวนมาก” เช่น หลังคาบ้าน พื้นถนนคอนกรีต พื้นยางมะตอย ฯลฯ โดยสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติในการ “สะท้อนความร้อน”

และนอกจากนี้ กับวัสดุในตัวอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ อย่างการ “มีกระจก” นั้น ก็เป็นปัจจัยในการ “สะท้อนความร้อน” เช่นกันประกอบกับการที่พื้นที่กรุงเทพฯ เวลานี้ “มีพื้นที่สีเขียว (Green Area) น้อย” กรณีนี้ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้ “อุณหภูมิสะสมสูงขึ้น” เนื่องจากไม่มีต้นไม้คอยเป็นตัวดูดซับความร้อน …นี่เป็นมุมมองเชิงสถาปัตยกรรม ที่ชี้ให้เห็นว่า…

“ผังเมือง-การออกแบบ” นั้น “มีผล”

ทำให้เกิดหรือไม่เกิด “ร้อนซ้ำร้อน”

ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ทาง ผศ.อาสาฬห์ ยังได้อธิบายเสริมเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อีกว่า… “ปรากฏการณ์การสะสมความร้อนในเมือง” ที่เกิดขึ้นนี้ ย่อม ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศท้องถิ่น (Micro Climate) โดยในทางสถาปัตยกรรมเรียกพื้นที่เช่นนี้ว่า “Urban Heat Island-เกาะความร้อนเมือง” ที่ส่งผลต่อความกดอากาศ และการเคลื่อนที่ของมวลอากาศหรือ “ลมในเมือง” โดยการจะช่วยลดความร้อนให้กับพื้นที่ในเมือง สามารถทำได้ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น ปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ Soft scape ที่แม้แต่การ ปลูกต้นไม้บนตึก ก็ลดอุณหภูมิได้ รวมถึง ลดขนาดพื้นที่ลานคอนกรีต

ขณะที่ การออกแบบ “ตึก-อาคาร ที่เหมาะสม ก็เป็นอีกแนวทางที่ ช่วยลดอุณหภูมิของเมืองได้ โดยได้มีการอธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า… อาคารที่มีการ ออกแบบให้ชั้นบนยื่นเพื่อทำให้เกิดเงาในเวลากลางวัน เงาที่เกิดขึ้นจะช่วยคนที่อยู่ชั้นล่างของอาคารได้ หรืออย่างการติดตั้งแผ่นระแนง โดย ออกแบบหรือเลือกความถี่ของแผ่นระแนงที่ใช้เพื่อช่วยกรองแสง และทำให้เกิดเงา รวมถึงบังไม่ให้แดดตกเข้าไปที่ผนังหรือกระจกโดยตรง จะช่วยลดความร้อนให้กับพื้นที่ได้ หรือ ออกแบบให้มีช่องว่างระหว่างอาคารที่เพียงพอ ที่มีผลต่อการเคลื่อนที่ของอากาศ ก็ช่วยลดความร้อนได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจาก “ผังเมือง” ในกรุงเทพฯ เรื่องนี้ก็อาจนับว่า “เป็นความท้าทาย” เนื่องจาก ผังเมืองกรุงเทพฯ เน้นใช้ประโยชน์จากที่ดิน แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองที่ดีไม่มากนัก รวมถึง “กฎหมายควบคุมอาคาร” ที่มีใช้อยู่ก็ “ยังขาดมุมมองในภาพรวม” ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องที่จะต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน โดยปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้คืออุณหภูมิโลก แต่เรื่องที่คุมได้คือ การออกแบบอาคาร ย่าน และผังเมือง ที่ควรจะ ต้องเน้นเรื่องสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และชีวภาพ รวมถึงสภาพธรรมชาติของพื้นที่ให้มากขึ้น กว่าที่เป็นอยู่เวลานี้

ทั้งนี้ ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ ได้เสนอแนวทางลดปัญหา “ร้อนซ้ำร้อน” ในพื้นที่เมืองอย่างกรุงเทพฯ ไว้ด้วยว่า… อาจเริ่มจาก ส่งเสริมให้คนเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่สีเขียว ผลักดันให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในเมืองเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องรอให้มีกฎหมายสั่ง ซึ่งพื้นที่สีเขียวไม่จำเป็นจะต้องเป็นพื้นที่สาธารณะ แม้แต่ พื้นที่รกร้างที่มีต้นไม้ขึ้นเองตามธรรมชาติ ก็สามารถใช้เป็นพื้นที่สีเขียวได้ ขณะที่การ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่พัก ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้เช่นกัน เช่น ปลูกต้นไม้ในบริเวณบ้าน ปลูกต้นไม้บนหลังคาตึก เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ชนิดใด ปลูกที่ใดก็ “ลดร้อน” ได้…

“ร้อนซ้ำร้อน” ร้อนแล้วก็ยิ่งร้อนขึ้นอีก

เป็น “ปรากฏการณ์ที่รุนแรงขึ้นทุกปี”

แก้ไม่เร็วพอ “ร้อนตายยิ่งน่ากลัว!!”.