การปรับเพิ่ม “ค่าแรง” จึงเป็นเสียงเรียกร้องที่ดังออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พรรคการเมืองมักหยิบยก “ขายฝัน” แค่ช่วงเลือกตั้ง ด้วยรู้ว่า “ค่าแรง” เรียกคะแนนและความสนใจได้เสมอ
เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ นโยบายปรับเพิ่มค่าแรงถูกใช้เพื่อจูงใจแรงงานผู้มีสิทธิ แต่ละพรรคการเมืองโปรย “ยาหอม” ค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่ 400 บาทต่อวัน ไปจนสูงถึง 600 บาทต่อวัน ขณะที่อัตราค่าแรงขั้นต่ำ ณ ปัจจุบันจากการปรับครั้งล่าสุดที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปหมาด ๆ เมื่อ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา สูงสุดอยู่ที่ 354 บาทต่อวัน เท่านั้น
“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” มีโอกาสสอบถาม นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข หนึ่งในผู้มีบทบาทเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานมายาวนาน ถึงมุมมองสภาพปัญหา และสิ่งที่พรรคการเมืองควรเล็งเห็นและพัฒนา เพื่ออนาคตแรงงานไทย
รัฐห่างเหิน ค่าจ้างขั้นต่ำโตช้า
นายสมยศ เริ่มสะท้อนตั้งแต่ภาพการบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน ที่มีลักษณะเป็นรัฐราชการ ซึ่งห่างเหินกับประชาชน และไร้ความเข้าใจในพัฒนาการของเศรษฐกิจ ภาคแรงงานภายใต้รัฐบาลตลอด 8 ปี จึงทำให้เห็นอัตราการเพิ่มขึ้นของ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ที่ไม่สอดคล้องกับ “ค่าครองชีพ” เพราะถือว่าช้ามากในเรื่องของอัตราการเติบโตของค่าจ้าง และรายได้ขั้นต่ำของผู้ใช้กลุ่มแรงงานหากเทียบกับต่างประเทศ
พร้อมยกตัวอย่างเปรียบเทียบค่าจ้างของแรงงานที่เพียงพอคือ แรงงาน 1 คน ใช้จ่ายกับสมาชิกครอบครัวอีก 2 คน
“ตนมองว่าค่าจ้างนั้นควรที่จะเพียงพอต่อแรงงาน 1 คน ที่ใช้กับสมาชิกในครอบครัวอีก 2 คน จะเห็นได้ว่ารัฐบาลนี้ มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำน้อยมากในรอบ 8 ปี โดยช่วงปี 2562 หาเสียงว่าจะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 425 บาทต่อวัน และเพิ่มค่าแรงปริญญาตรี พร้อมด้วย ปวส. จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่ได้มีการหาเสียงไปในข้างต้น”
ความต่างรัฐราชการ-รัฐพลเรือน
นายสมยศ ระบุ การที่รัฐบาลปัจจุบันยังไม่มีการปรับค่าจ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่ต้องแบกรับ โดยกลุ่มผู้ใช้แรงงานนั้นหลัก ๆ แล้วคำนึงถึงแค่ “ค่าจ้าง” ที่จะได้จากการ “ขายแรงงาน” เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ในบางครั้งค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับนั้นก็ไม่สอดคล้องกับค่าจ้างที่ได้ “ลงแรง” ไป
ปัจจุบันจะมองเห็นได้ว่าค่าจ้างของทุกคนนั้น “ติดลบ” และก็ได้รู้ว่าในปัจจุบันหลายพรรคการเมืองออกนโยบายเกี่ยวกับค่าแรงมากขึ้น ยกตัวอย่าง พรรคเพื่อไทย บอกว่าจะมีการขึ้นเงินให้ในลักษณะขั้นบันไดไปจนถึงปี 2570 ซึ่งนโยบายเหล่านี้มีหลาย ๆ พรรคการเมืองออกมานำเสนอ ทำให้เห็นได้ว่ารัฐบาลที่เป็นพลเรือน เห็นอกเห็นใจคนยากคนจนที่ใช้แรงงานหาเช้ากินค่ำมากกว่ารัฐบาลที่เป็นราชการ
มองให้ลึก ชีวิตใต้ค่าแรง (ขั้น) ต่ำ
สำหรับนโยบายที่ต้องการเพิ่มเติมให้กับพรรคการเมือง เพื่อให้เข้าถึง “หัวใจ” ของผู้ใช้แรงงานมากขึ้น นายสมยศ มองว่าพรรคการเมืองจำเป็นต้องมองภาพรวมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานว่า พวกเขาเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ค่าแรงขั้นต่ำได้อย่างไร และต้องการให้มีการเพิ่มเติมถึงความมั่นคงในการทำงาน พร้อมกับต้องมีการชดเชยหากต้องโดนออกจากงานอย่างกะทันหัน ทั้งนี้ หากไม่สามารถมีหลักประกันรายได้ หรือความมั่นคงก็ยากจะเข้าถึงหัวใจแรงงาน
“ถ้าหากพรรคการเมืองต่าง ๆ ไม่สามารถที่จะหาหลักประกันรายได้ ความมั่นคง และเงินชดเชย หลังออกจากงานได้ ตนก็มองว่าน่าจะเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงหัวใจของผู้ใช้แรงงาน”
ขอจุดยืนฟังเสียงแรงงาน
กลับกันหากพรรคการเมืองสามารถหาหลักประกันรายได้ และแหล่งรายได้ที่แน่นอนให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้นั้น สิ่งเหล่านี้จะสามารถขับเคลื่อนสังคมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้ไปในทิศทางที่ดีได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ นายสมยศฝากส่งเสียงถึงพรรคการเมืองที่จะได้เป็นรัฐบาลชุดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดสำคัญคือ ขอให้รับฟังเสียงสะท้อนของผู้ใช้แรงงานให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย.