ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเม.ย. 2564 ที่ประชุมสุดยอดผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) วาระพิเศษ ซึ่งประชุมกันที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีมติเรียกร้อง 5 ข้อต่อคู่กรณีทุกฝ่าย ในวิกฤติการณ์เมียนมา จากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ประกอบด้วย การที่คู่กรณีทุกฝ่ายต้องยุติการใช้ความรุนแรง การที่ทุกภาคส่วนต้องหันหน้ามาเจรจาร่วมกันบนแนวทางอันสันติ และตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก
นอกจากนั้นยังมี การตั้งคณะผู้แทนพิเศษของอาเซียนให้มีส่วนร่วม กับการดำเนินงานของเลขาธิการอาเซียนในเรื่องเมียนมา การเปิดทางรับมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากอาเซียน และการอนุญาตให้ผู้แทนของอาเซียนพบหารือกับ “ทุกภาคส่วน” ในเมียนมา
เงื่อนไขดังกล่าวเรียกกันว่า “ฉันทามติ 5 ข้อ” เนื่องจากเป็นการบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ระหว่างสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมถึงเมียนมา ซึ่งพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและนายกรัฐมนตรีเมียนมา เข้าร่วมการประชุมครั้งนั้นด้วยตัวเอง
ต่อมาเมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ มีมติร่วมกัน ว่าควรมีการกำหนดกลไก “ที่สามารถประเมินได้” ร่วมด้วยการกำหนดกรอบระยะเวลาให้ชัดเจน ต่อการดำเนินการของรัฐบาลทหารเมียนมา ในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ นื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “ไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม” และอาเซียนควรมีปฏิสัมพันธ์กับ “คู่กรณีทุกภาคส่วน” ในเมียนมา “ด้วยความยืดหยุ่นและไม่จำเป็นต้องมีพิธีรีตอง”
ในปีนี้ อินโดนีเซียทำหน้าที่ประธานหมุนเวียนอาเซียน โดยนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในเมียนมา อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในสมาชิกอาเซียนซึ่งแสดงจุดยืนไปในทางแข็งกร้าวต่อรัฐบาลทหารเมียนมา และสมาชิกอาเซียนอีกบางประเทศ ที่ต้องการให้อาเซียนรักษาหลักการ ที่ว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกด้วยกัน
ทั้งนี้ การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน ถือเป็นหนึ่งในแกนกลางนโยบายของอาเซียน อย่างไรก็ตาม นายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ กล่าวระหว่างการเยือนไทย เมื่อเดือน ก.ค. 2565 เรียกร้องอาเซียนร่วมกันดำเนินการอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้เมียนมาปฏิบัติตามเงื่อนไขของฉันทามติ 5 ข้อ “ด้วยความรับผิดชอบและเคร่งครัด” เนื่องจากจนถึงตอนนี้ รัฐบาลวอชิงตันมองว่า ความสนับสนุนและความร่วมมือของอาเซียน ในการกดดันให้รัฐบาลทหารเมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อนั้น ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่เรื่องนี้ “มีความสำคัญมาก”
ขณะที่อินโดนีเซียประกาศเมื่อเดือนม.ค. ปีนี้ จัดตั้งสำนักงานกิจการเมียนมา สำหรับการปฏิบัติภารกิจของผู้แทนพิเศษด้านกิจการเมียนมา โดยนางเรตโน มาร์ซูดี รมว.การต่างประเทศอินโดนีเซีย ดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษด้วยตัวเอง มาร์ซูดีเน้นย้ำว่า ภารกิจเมียนมาภายใต้การนำของเธอในฐานะผู้แทนอาเซียน จะมุ่งเน้นการเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของฉันทามติ 5 ข้อ อย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ร่วมด้วยการผลักดันการเจรจาระหว่าง “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด”
อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียกลับยังไม่สามารถขยายความได้มากนัก ว่าแล้วอาเซียนจะดำเนินการอย่างไรและกำหนดเป้าหมายอย่างไร เพื่อให้แผนการคืบหน้า แต่กล่าวเพียงว่า ฉันทามติ 5 ข้อ เป็นแนวทางการทูตที่มีความสำคัญอย่างมากต่ออาเซียน ซึ่งต้องการคลี่คลายสถานการณ์ตึงเครียดในเมียนมา “ด้วยความเป็นเอกภาพและสมานฉันท์”
ปัจจุบัน อาเซียนยืนยันเมียนมายังคงเป็นหนึ่งในสมาชิก 10 ประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่ ส่งผลให้ผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลทหารเมียนมา รวมถึง นายตาน ซเว รมว.การต่างประเทศคนใหม่ ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมของอาเซียน
ด้านรัฐบาลทหารเมียนมายืนกรานว่า การที่สถานการณ์ภายในประเทศยังคงตึงเครียดและวุ่นวาย เกี่ยวโยงโดยตรงกับการเคลื่อนไหวต่อต้านของบรรดากองกำลังติดอาวุธ ดังนั้น “ความพยายามกดดันในรูปแบบใดก็ตาม” มีแต่จะส่งให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี
ยังเหลือเวลาอีกประมาณ 8 เดือน ที่อินโดนีเซียจะอยู่ในวาระประธานอาเซียนประจำปีนี้ หากรัฐบาลจาการ์ตายังไม่สามารถผลักดันนโยบายต่อเมียนมาให้เกิดความเป็นรูปธรรมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ภารกิจเมียนมาของอาเซียนในปีต่อไป “จะยิ่งเป็นงานหนัก” เนื่องจากลาวทำหน้าที่ประธานอาเซียนประจำปีหน้า โดยความน่าสนใจคือ ลาวจะเป็นประเทศเพื่อนบ้านแห่งแรกซึ่งมีพรมแดนติดกับเมียนมา ที่รับตำแหน่งดังกล่าว นับตั้งแต่ปี 2564 แน่นอนว่า ลาวต้องดำเนินการเรื่อเมียนมาด้วยความระมัดระวังสูงสุด เพื่อไม่ให้ “ปัญหาข้างบ้าน” สร้างแรงกระเพื่อมต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้สำคัญ.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES