เรื่องนี้ นพ.เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดผ่านกล้องและการผ่าตัดลดน้ำหนัก คลินิกโรคอ้วน โรงพยาบาลราชวิถี อธิบายถึงการรักษาว่ามีหลายวิธี การใช้ยา การควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย เหมาะสำหรับคนที่มีดัชนีมวลกายไม่มาก แต่หากดัชนีมวลกายเยอะ เหมาะที่จะทำ “การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ” ซึ่งปัจจุบันมีหลายรูปแบบ 1.“การผ่าตัดแบบสลีฟ” คือ การผ่าตัดส่องกล้อง ตัดกระเพาะบางส่วนให้เล็กลงเหลือ 15-20% ปรับลดฮอร์โมนความอยากอาหาร ช่วยลดน้ำหนักส่วนเกิน 60-70% ที่ระยะเวลา 6-12 เดือน
2.การผ่าตัดบายพาส คือ การผ่าตัดส่องกล้อง ตัดกระเพาะบางส่วนให้เล็กลงร่วมกับการทำทางเดินอาหารบายพาสลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อทำให้กินได้น้อยลง และกระตุ้นลำไส้เล็กให้สร้างฮอร์โมนความอิ่มมากขึ้น ช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินได้ 70-80% ที่ระยะเวลา 6-12 เดือน
3.การผ่าตัดสลีฟพลัสบายพาส คือ การผ่าตัดส่องกล้อง ตัดกระเพาะบางส่วนให้เหลือ 15-20% ปรับลดฮอร์โมนความอยากอาหาร ร่วมกับการทำบายพาสผ่านลำไส้เล็กส่วนกลาง เพื่อกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนความอิ่ม จะช่วยลดน้ำหนักส่วนเกินได้ 70-80% ที่ระยะเวลา 6-12 เดือน
สำหรับการผ่าตัดแบบอื่น ๆ เช่น การใส่ห่วงรัดกระเพาะอาหาร ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้วเนื่องจากลดน้ำหนักได้ไม่ดี และพบปัญหาห่วงรัดกระเพาะอาหารรัดกระเพาะอาหารจนเป็นแผล
นพ.เสฐียรพงษ์ ระบุว่า จากข้อมูลและงานวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบันพบว่า หลังการผ่าตัดลดน้ำหนัก ผู้ป่วยจะมีน้ำหนักส่วนเกินลดลงสูงถึง 60-80% โดยใช้ระยะเวลาหลังผ่าตัดประมาณ 6-12 เดือน ส่วนโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน เช่น หายจากโรคเบาหวาน หรืออาการดีขึ้นมากกว่า 80% หายจากโรคความดันโลหิตสูง 60-70%, หายจากโรคไขมันในเลือดสูง 80-90% นอกจากนี้ น้ำหนักที่ลดลงจะช่วยป้องกันโรคเข่าเสื่อม, กระดูกสันหลังเสื่อม, ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม โรคหลอดเลือดสมอง/หัวใจตีบตันอีกด้วย
ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีอุปกรณ์ผ่าตัดที่ทันสมัยและความชำนาญของศัลยแพทย์ พบว่า ความเสี่ยงจากการผ่าตัดต่ำมาก ขนาดแผลประมาณ 5-10 มิลลิเมตร เย็บแผลด้วยไหมละลาย และปิดแผลแบบกันน้ำ ผู้ป่วยจึงฟื้นตัวได้เร็วเจ็บแผลน้อยมาก และลุกเดินได้หลังผ่าตัด 1-2 วัน สิ่งที่ต้องระวังคือ ภาวะเลือดออกในช่องท้อง, กระเพาะรั่ว, ลิ่มเลือดดำอุดตัน เป็นต้น แต่พบน้อยกว่า 1% อย่างไรก็ตามหากมีอาการไข้ ปวดท้อง ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ อาเจียนตลอดหลังทานอาหารให้รีบติดต่อแจ้งแพทย์และพยาบาลได้ทันที
สำหรับผู้ป่วยสามารถเข้ารับการปรึกษาได้ที่ คลินิกโรคอ้วน ห้องตรวจโรคผู้ป่วยนอกศัลยกรรมชั้น 9 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลราชวิถี ทุกวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 1, 3, 5 ของแต่ละเดือน เวลา 13.00-16.00 น. โดยสามารถติดต่อปรึกษาและจองคิวเข้าพบแพทย์ผ่านทางเพจ คลินิกโรคอ้วน โรงพยาบาลราชวิถี.
อภิวรรณ เสาเวียง