เริ่มจาก พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ จากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุ รัฐธรรมนูญกำหนดให้สันนิษฐานผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็น “ผู้บริสุทธิ์” ไว้ก่อน แต่ก็ถูกตั้งข้อสงสัยจากประชาชนว่าการทำงานของตำรวจเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ โดยไม่ใช่แค่การคิดเห็นต่างเท่านั้น แต่รวมถึงคดีเรื่องอื่น ๆ ด้วย ทำไมการให้ปล่อยตัวชั่วคราวถึงมีข้อกำหนดมากกว่าในรัฐธรรมนูญ
“ประเทศไทยใช้ระบบกล่าวหา หากมีพยานหลักฐานเพียงพอน่าเชื่อว่าไม่ได้ทำความผิดก็จะไม่สั่งฟ้อง แต่หากผิดเจ้าหน้าที่จะขอหมายจับ จากนั้นพูดถึงการประกันตัวตามหลักประกัน และการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ พร้อมเก็บประวัติอาชญากร หากศาลยกฟ้องก็นับว่าไม่มีความผิด”
นายชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทย เผยถึงข้อเสนอแก้ไข ป.วิอาญา สิ่งสำคัญคือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ผลพวงของตัวบทกฎหมายมาจากความขัดแย้งในรัฐธรรมนูญที่ไม่ถูกกำหนดไว้ แม้กฎหมายจะเขียนเงื่อนไขประกันตัวไว้ว่า ไม่ให้ “หลบหนี” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ชัดเจนแล้ว แต่มีการเพิ่มเงื่อนไขให้ประกันตัวที่มากกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ซึ่งจะส่งผลต่อแนวปฏิบัติ คือ
1.นำผู้ถูกกล่าวหาคุมขังปะปนกับนักโทษที่ถูกตัดสินเด็ดขาดว่ามีความผิด และ 2.ถูกพิมพ์ลายนิ้วมืออยู่ในประวัติอาชญากร แม้ศาลจะยกฟ้อง
“การปล่อยตัวชั่วคราวคือ ความสมดุลระหว่างการใช้อำนาจรัฐ กับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ารัฐต้องการเพียงให้ได้ผู้ต้องหามาสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าจะไม่ให้ประกันตัวหากมีแนวโน้มหลบหนี แต่ถ้าหากมารายงานตัวทุกครั้ง ก็ควรได้รับการประกันตัว อีกทั้งประเทศเราเขียนกฎหมายกว้างกว่ารัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ จึงต้องแก้ไข และสุดท้ายควรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม”
ด้าน นายนรุตม์ชัย บุนนาค จากพรรคไทยสร้างไทย เห็นว่าต้องเร่งแก้ไข ป.วิอาญา ให้ตรงกับรัฐธรรมนูญ เพื่อไม่ให้ขัดแย้งกัน ส่วนการชี้ขาดเรื่องประกันตัว เสนอให้ผู้พิพากษาหลายคนตัดสินใจ รวมถึงแก้ไขระบบถอนประวัติอาชญากร ต้องให้ง่ายขึ้น ไม่ยุ่งยาก รัฐต้องเข้ามาจัดการระบบ
“การแก้กฎหมายยังไม่เพียงพอ แต่ต้องระบุการบังคับใช้ให้ชัดเจน ไม่ควรแก้แค่กฎหมายเดียว แต่มีหลายตัวที่ยังใช้อยู่ แต่ล้าหลัง”
ขณะที่ นายระพีพัฒน์ สุเมธโชติเมธา จากพรรคพลังประชารัฐ มองว่า ให้ยึดตามหลักกฎหมายว่าปัจจุบันที่ใช้อยู่มีปัญหาอย่างไร และตัวข้อกำหนดก็มีเกณฑ์ในการตัดสินที่ชัดเจน หากผู้ก่อเหตุมีพฤติการณ์ที่ไม่หลบหนีแล้ว เจ้าหน้าที่จะทำเกินกว่าเหตุไม่ได้ ห้ามขัดกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน
“การแก้ไขกฎหมายต้องพูดกันตามความจริงว่าปัญหาอยู่ที่ตรงส่วนไหน ไปดูข้อบังคับประธานศาลฎีกาที่หากมีการตกหล่นให้ประธานศาลออกข้อบังคับมาให้มีการประกันทุกกรณี เราดูตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ให้กระบวนการยุติธรรมยังดำเนินการต่อไปกับทุกฝ่าย หากจะมองแต่จำเลยอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องมองมิติของสังคมด้วย”
ส่วน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร จากพรรคเสรีรวมไทย ระบุ ขอแบ่งชุดคำการแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้ออกเป็น 5 ชุด ได้แก่ 1.รัฐธรรมนูญ กับ กฎหมาย ป.วิอาญา ขณะนี้เหมือนว่า ป.วิอาญา ใหญ่กว่า เพราะผู้ที่แก้ไขกฎหมายไม่คำนึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริง
2.ศาล กับ ตำรวจ ภายใต้การบังคับใช้ เป็นตำรวจที่นำ ศาลเป็นฝ่ายตาม พิจารณาตามสำนวนคดีที่ตำรวจทำส่ง ทำไมถึงไม่ให้ศาลเป็นหลักในการคิดว่าใครเป็นคนผิด 3.คนรวย กับ คนจน เรื่องเงินประกันตัว การบิดเบือนการตั้งข้อกล่าวหา การหนีไปอยู่ต่างประเทศให้อายุความหมด ทำให้เห็นว่ากฎหมายเอื้อแค่คนบางกลุ่มในสังคม
4.รู้กฎหมาย กับ ไม่รู้กฎหมาย คนรู้กฎหมายก็ทำตามสิทธิของตัวเองในการต่อสู้ตามสิทธิ จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่จะทำให้ประชาชนรู้กฎหมาย เพื่อปกป้องตัวเอง และ 5.รัฐ กับ ฝ่ายตรงข้ามรัฐ ผู้ที่ตั้งข้อกล่าวหาคือรัฐ ซึ่งใช้กฎหมายปราบปรามคนที่คิดต่างกับรัฐ
“หากเข้าไปเป็น ส.ส.แล้วจะยังสนใจทำเรื่องนี้อยู่หรือไม่ การแก้เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องมองภาพรวมทั้งระบบ รัฐธรรมนูญต้องเขียนเพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริงและสอดคล้องกัน พรรคเราเสนอให้ภายใน 1 ปี ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับให้เสร็จ และกำหนดกรอบเวลาออกกฎหมายให้ชัดเจน ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดเพื่อหาเสียงเท่านั้น”
นายรังสิมันต์ โรม จากพรรคก้าวไกล เผยถึงปัญหาที่พบ เช่น ศาลไม่สันนิษฐานว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ หลายกรณีของคดีการเมืองถูกฝากขังเสมอ ทำให้ประชาชนจำนวนมากถูกฝากขัง ไม่ต่างกับคนที่ทำผิดไปแล้ว, มีการติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (อีเอ็ม) เพื่อเพิ่มเงื่อนไขประกันตัว, รายละเอียดคดียกฟ้องเป็นส่วนใหญ่ แต่ตำรวจก็ยืนยันแจ้งข้อหาให้หนักไว้ก่อน, การต่อสู้คดีในเรือนจำยากลำบากเพราะข้อจำกัดมาก การฝากขังในระหว่างการพิจารณาคดีจึงเป็นการไม่เคารพรัฐธรรมนูญ
“พรรคจึงมีข้อเสนอ เช่น กฎหมายเอาผิดพนักงานยุติธรรมที่ใช้กฎหมายอย่างบิดเบือน, แก้ไขกฎหมายที่มีอัตราโทษสูง หรือหมวดความมั่นคง กำหนดอัตราโทษให้เหมาะสม, การนิรโทษกรรม มีคณะกรรมการที่ยอมรับได้ มีการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน, ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้องค์กรอิสระยึดโยงประชาชน และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง” รังสิมันต์ ระบุ.