“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” พูดคุยต่อเนื่องมาถึงข้อเสนอ หากพรรคการเมืองจะนำไปผลักดันเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือหากได้จัดตั้งเป็นรัฐบาล
12 ข้อเสนอ นโยบายวงจรขยะ
ผศ.ดร.นพวรรณ กล่าวว่า ประเทศไทยมี Road Map จัดการขยะ ซึ่ง Road Map เหล่านี้ร่างไว้ดีอยู่แล้ว หรือนโยบายแผนที่เกี่ยวกับการจัดการขยะก็ร่างไว้ดีอยู่แล้ว เพียงขอให้ผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง ยกตัวอย่าง หากดูตาม Road Map ปี 2565 จะต้องไม่พบโฟม หรือถุงหิ้วพลาสติกแบบบางที่พบเห็นได้ตามตลาด แต่ปัจจุบันก็ยังพบเห็นอยู่ ดังนั้น หากให้เสนอนโยบายสำหรับผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต ขอเสนอ 12 ข้อ ดังนี้
1.เน้นนโยบายในการแก้ปัญหาขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน โดยกำหนดเป้าหมายและแผนดำเนินงานอย่างชัดเจน และบูรณาการทุกภาคส่วนให้ดำเนินการที่สอดรับกับนโยบาย
2.วางแผนกระบวนการจัดการ คัดแยกขยะ ส่งเสริมความรู้ประชาชน บังคับใช้กฎหมายลดการใช้ถุง แก้วน้ำ และบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก จัดหาแหล่งกำจัดขยะที่เหมาะสมและปลอดภัย จัดสรรงบกำจัดขยะ ส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจกำจัดขยะ และงบรักษาสิ่งแวดล้อม
3.ส่งเสริมการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ส่งเสริมการรีไซเคิล และพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยแนวทางการบังคับใช้กฎหมาย และให้ประชาชน/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมพัฒนาระบบจัดการขยะ ส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายด้วยการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กทม.เป็นผู้รับผิดชอบ และให้มีการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับการคัดแยกขยะในครัวเรือนก่อนส่งมอบขยะให้กับท้องถิ่น
4.ผลักดัน Road Map และการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 ภายใต้ Road Map นี้ ถึงระยะที่ 3 (ปี 2566-2573) ดำเนินมาตรการลดการเกิดขยะพลาสติก ณ แหล่งกำเนิด มาตรการลด เลิกใช้พลาสติก ณ ขั้นตอนการบริโภค และมาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค
ทั้งนี้ หากประเทศไทยสามารถทำตาม Road Map จัดการขยะพลาสติก และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ปี 2561-2573 ได้ตามเป้าหมาย จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติดที่ต้องนำไปกำจัดและประหนักงบจัดการมูลฝอยได้ การยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวตาม Road Map การจัดการขยะพลาสติกของรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย และชวนให้คิดต่อว่าจะลด หรือยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวได้อย่างไร และมีวิธีประเมินผลอย่างไร หากภาครัฐไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามประกาศไว้จะมีมาตรการรองรับอย่างไร
5.สร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคประชาชน จะมีบทบาทอย่างมากตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น การเลือกซื้อ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระทั่งส่งคืนซาก เมื่อใช้งานเสร็จ หรือแม้แต่การตัดวงจรการเกิดขยะ โดยลดการใช้ การใช้ซ้ำ เป็นต้น
6.บริษัทผู้ผลิตในฐานะผู้ก่อมลพิษกลับไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบในการกำจัดขยะและของเสีย หรือมีส่วนรับผิดชอบในการจ่ายค่าธรรมเนียมในสัดส่วนที่เหมาะสมกับปริมาณขยะที่ผลิตขึ้น ทำให้การแก้ปัญหาขยะยังไม่สามารถแก้ไปที่ต้นตอแท้จริงได้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม
7.กำหนดเป้าหมายปริมาณขยะที่นำไปรีไซเคิล หรือใช้ซ้ำ เป้าหมายการกำจัดขยะที่ถูกวิธี และเป้าหมายการนำขยะไปใช้หรือแสวงหาประโยชน์ในแต่ละปี เช่น ปริมาณขยะที่สามารถนำไปผลิตไฟฟ้า
8.สนับสนุนการลงทุนในด้านการจัดการขยะ หรือส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจที่เก็บขยะมาแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งการแปลงขยะเป็นรายได้จากธุรกิจกำจัดขยะ เปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยกฎหมายควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญและนำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาลงทุนในธุรกิจกำจัดขยะมากขึ้น ซึ่งสามารถช่วยสร้างการจ้างงาน พัฒนาเศรษฐกิจ ลดปัญหาขยะมูลฝอย และผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนได้
9.สนับสนุนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย การจัดสรรงบประมาณด้านบริหารจัดการและการกำจัดขยะ และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
10.ส่งเสริมผู้ประกอบการ การลงทุนธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดภาษีให้กับบริษัทผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบดำเนินการตามวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ หรือเป็นผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ กระจายสินค้า การรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ และการบำบัด
11.จัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย และการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับขยะมูลฝอย และเพิ่มอัตราค่าจัดเก็บขยะจากแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหาร คอนโดมิเนียม ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะในแต่ละปี ไม่ควรเป็นอัตราเหมาจ่าย ควรคิดค่าใช้จ่ายตามน้ำหนัก
12.ส่งเสริม พ.ร.บ.การจัดการขยะมูลฝอย เพื่อเป็นกฎหมายบังคับใช้ในด้านการจัดการขยะโดยเฉพาะ และกฎหมายกำหนดบทลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามว่าด้วยการกำจัดขยะที่ถูกต้อง หรือการลักลอบปล่อยของเสีย มลพิษ และสารเคมี ของภาครัฐและภาคเอกชน
จัดการขยะดี ประเทศดี
ผศ.ดร.นพวรรณ มองว่า การกำจัดขยะที่ถูกต้องจะส่งผลดีเชิงเศรษฐกิจ ช่วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนโดยรวมดีขึ้นได้ ตลอดจนภาพลักษณ์ประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว หากจัดการไม่ดี ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับประชาชนโดยตรง
“ปัญหาขยะส่งกลิ่นเหม็น สร้างผลกระทบทางสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เกิดการปนเปื้อน ขณะที่การลักลอบเผาขยะส่งผลให้ประชาชนที่สูดดมสารพิษมีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง หรือส่งผลต่อสุขภาพ ที่สำคัญกระบวนการเผาไหม้ขยะ อาจทำให้มีการรั่วไหลของสารมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศที่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกและปัญหาโลกร้อนอีกด้วย” ผศ.ดร.นพวรรณ ทิ้งท้ายข้อห่วงใย.