สถานการณ์ขยะในประเทศไทยมีแนวโน้มทิศทาง และข้อเสนอใดน่าสนใจให้พรรคการเมืองหยิบยกไปผลักดัน “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” มีโอกาสสอบถามมุมมองและข้อเสนอจาก ผศ.ดร.นพวรรณ เสมวิมล ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กำจัดไม่ถูกต้อง เชื่อมโยงน้ำเสีย-มลพิษ
ผศ.ดร.นพวรรณ ระบุ หากดูตัวเลขจากกรมควบคุมมลพิษ จะพอทราบว่าขยะถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง และยังมีแหล่งกำจัดไม่ถูกต้องอีกเยอะมาก ซึ่งข้อมูลในปี 2565 พบว่ามีขยะเกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 25.7 ล้านตัน ส่วนใหญ่ยังไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ หรือกำจัดอย่างถูกต้อง ตัวเลขขยะ ณ ปัจจุบันพบว่าถูกนำไปใช้ประโยชน์ 8.8 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 34.2, ปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดถูกต้อง 9.8 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 38.1, ขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดไม่ถูกต้อง 7.10 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 27.6 ซึ่งถูกนำไปเทกอง เผากลางแจ้ง
สำหรับสถานที่รับกำจัดขยะทั่วประเทศกว่า 2,000 แห่งนั้น ผศ.ดร.นพวรรณ เผยว่า จากการตรวจสอบพบเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้องเพียง 111 แห่ง และไม่ถูกต้องอีก 1,963 แห่ง ส่วนที่เทกองควบคุม (>50 ตัน/วัน) มี 8 แห่ง, เตาเผาไม่มีระบบบำบัดมลพิษอากาศ 94 แห่ง, การเทกอง 1,577 แห่ง, เผากำจัดกลางแจ้ง 61 แห่ง ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นมีงบกำจัดขยะมูลฝอยไม่เพียงพอ
“ในประเทศไทยส่วนใหญ่ภาพที่เห็นคือ การกองขยะขึ้นเป็นภูเขา เป็นการเทกองกลางแจ้ง ไม่มีการฝังกลบอย่างถูกวิธี ทำให้เกิดเป็นปัญหาขึ้นมา จำนวนมากของขยะที่เทกองจะไม่มีระบบบำบัดน้ำชะขยะ ทำให้เกิดน้ำเสียตามมา และถ้ามีเรื่องของไฟไหม้กองขยะเกิดขึ้น ก็จะสร้างปัญหามลพิษในวงกว้าง”
ผศ.ดร.นพวรรณ กล่าวต่อว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณขยะ 25.7 ล้านตันต่อปี มาจากจำนวนตัวเลขเท่าที่เก็บข้อมูลได้ แต่จากการลงพื้นที่ทั่วประเทศพบว่า มีขยะจำนวนมากที่ยังไม่เข้าสู่วงจรการจัดเก็บ สัดส่วนพื้นที่สร้างขยะเยอะที่สุดคือ กทม.
โครงสร้างขยะเปลี่ยน กระทบอนาคตพื้นที่จัดการไม่พอ
สถานการณ์ปัจจุบันโครงสร้างขยะเกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ หากย้อนข้อมูลในอดีตขยะที่พบจะเป็น “ขยะอินทรีย์” ซึ่งมีสัดส่วนเยอะกว่าขยะประเภทอื่น แต่ปัจจุบันด้วยวิถีและความสะดวกสบายของคน ขยะประเภท “บรรจุภัณฑ์” ที่ทำจาก “พลาสติก” เช่น กล่องใส่อาหาร กล่องโฟม ถุงหูหิ้ว หลอดดูด แก้วน้ำ ฯลฯ เพิ่มขึ้นมาก และต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่าขยะอินทรีย์
“พลาสติกบางประเภทอาจใช้เวลาเป็น 100 ปีในการย่อยสลาย ดังนั้น ในอนาคตพื้นที่ใช้เทกอง หรือฝังกลบก็อาจไม่เพียงพอ รวมถึงปัจจุบันกระบวนการจัดการขยะส่วนใหญ่ยังทำไม่ถูกวิธี ขั้นตอนและวิธีการกำจัดขยะก็ยังไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ การแก้ปัญหาขยะที่ต้นทาง และการกำจัดขยะของภาครัฐและเอกชนที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดการสะสมของขยะต่าง ๆ ทั้งขยะอินทรีย์ ขยะอันตราย ขยะพลาสติก ขยะติดเชื้อ และอื่น ๆ กระจายอยู่ในพื้นที่บ่อขยะ พื้นที่ฝังกลบ พื้นที่เทกองขยะ”
“ขยะพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย” ถ้าจัดการดี
ผศ.ดร.นพวรรณ ระบุ ขยะพลาสติกมีเยอะก็จริงแต่ “ขยะพลาสติกจะไม่ได้เป็นผู้ร้าย” หากมีรูปแบบการบริหารจัดการที่ดี เพราะขยะพลาสติกเหล่านี้สามารถกลับเข้าสู่กระบวน “รีไซเคิล” ได้ ถ้าคัดแยกให้ดีทั้งเรื่องความสะอาด และผู้ผลิตตั้งใจออกแบบตั้งแต่ต้นทางให้พลาสติกชิ้นนี้สามารถรีไซเคิลได้ ก็จะถูกนำกลับไปสู่กระบวนการ และคุณภาพของการรีไซเคิลก็จะไม่ลดลง กลับกันหากตอนแรกออกแบบแล้วมีพลาสติกหลากรูปแบบอยู่ในชิ้นเดียวกัน เมื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแล้วจะทำให้คุณภาพลดลง
“ถ้าผู้ผลิตตั้งใจออกแบบตั้งแต่เริ่มต้นว่า ตั้งใจให้บรรจุภัณฑ์ชิ้นนี้รีไซเคิล เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ซ้ำ ๆ หลายครั้ง หากเริ่มแต่ต้นและขยะได้กลับเข้าสู่วงจรรีไซเคิลจริง ๆ พลาสติกก็จะไม่ใช่ผู้ร้ายอีกต่อไป”
ชี้เป้าผลักดันการบริหาร ปลูกสำนึกลดสร้าง เพื่อปลายทางน้อยลง
ผศ.ดร.นพวรรณ กล่าวถึง การลักลอบปล่อยของเสีย หรือกากอุตสาหกรรมว่าเป็นอีกปัญหาขยะที่พบในประเทศไทย ซึ่งตามหลัก “ขยะพิษ” จะถูกกำจัดโดยโรงงานรับกำจัดขยะพิษที่ได้รับใบอนุญาต และมาตรฐานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แต่จากข่าวมักพบการไปกำจัดผิดวิธี หรือลักลอบทิ้ง
อย่างไรก็ตาม เนื้อหากฎหมายที่ไม่ครอบคลุมและรองรับการแก้ปัญหาขยะในปัจจุบัน ยกตัวอย่าง การมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาขยะหลายฉบับ ทั้งกฎหมายที่กำหนดภารกิจหน้าที่ท้องถิ่น การรวบรวม เก็บ และขนส่งขยะ การกำจัดขยะ รวมทั้งการหาประโยชน์จากขยะ เช่น การประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้า การส่งเสริมการลงทุน การมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การศึกษาผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่ครอบคลุมในส่วนของ “ผู้สร้างขยะ” และบทลงโทษต่อผู้กระทำผิด
นอกจากนี้ ยังมีการจัดการภาพรวมที่ขาดการบูรณาการและการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะภาคประชาชนที่เป็นกลไกต้นทาง และการกำหนดเป้าหมายลดการสร้างขยะ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ประเภทขยะในไทยแบ่งได้ 5 ประเภท คือ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล ขยะทั่วไป ขยะอันตรายที่เป็นสารพิษ และขยะติดเชื้อ แต่รูปแบบการกำจัดขยะของไทยยังคงเป็นการฝังกลบ
“ส่วนใหญ่ปัญหาขยะในไทยมาจากการบริหารจัดการ ซึ่งมักโยนภาระให้หน่วยงานท้องถิ่น แต่อันทีจริงอยากให้เพิ่มความตระหนักและส่งเสริมการจัดการขยะต้นทาง ต้องสร้างจิตสำนึกว่าจะหลีกเลี่ยงการสร้าง ลดปริมาณขยะ เพราะอย่างไรชีวิตเราก็ต้องสร้างขยะอยู่ดี ดังนั้น ต้องหาทางนำขยะกลับไปใช้ประโยชน์ หรือมีการคัดแยกขยะให้มากที่สุด ถ้าตั้งแต่ต้นทางทำได้ ปริมาณจะลดลง ปัญหาที่เราจะต้องไปกำจัดปลายทางก็จะลดลงตาม”
เห็นภาพปัญหาขยะในประเทศ ณ ปัจจุบันแล้ว พรุ่งนี้มาติดตามกันต่อถึงข้อเสนอแก้ไขที่เป็นไปได้ถึงพรรคการเมือง.