“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” มีโอกาสพูดคุยตัวแทนกลุ่มที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งนี้ เผื่อให้ผู้อยากศึกษาข้อมูลแบบฉบับฉับไว ย่อยง่าย เหมาะกับยุคสมัย เข้าไปเลือกสรรสิ่งที่ตัวเองสนใจก่อนกากบาทลงคะแนน
น.ส.ธนิสรา เรืองเดช จาก กลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน WeVis มองว่า ในห้วงเวลา “ก่อน” การเลือกตั้ง การตัดสินใจ “เลือก” ใครมาบริหารประเทศ เป็นเรื่องใหญ่ในบทบาทของภาคประชาชน
“สิ่งที่ทำได้ขณะนี้จึงเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อช่วยให้ระบบกลไกตัดสินใจของประชาชนเป็นไปด้วยความง่ายดายมากขึ้น โดยมีการนำผลงานสิ่งที่เคยทำทั้งหมดของนักการเมืองออกมาให้ประชาชนได้เห็นว่า ที่ผ่านมา นักการเมืองแต่ละคนมีการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง”
พร้อมยกตัวอย่าง สิ่งที่ WeVis กำลังทำในช่วงเลือกตั้ง เริ่มจากการ “รีวิว” ผลงาน 4 ปีที่ผ่านมาว่าพรรคการเมือง ส.ส. หรือสภานิติบัญญัติ ใครทำอะไรไว้บ้าง
ส่วนโปรเจกต์ที่ทำมีชื่อว่า “They Work for Us” เพื่อดูว่า ส.ส.ที่รับเลือกให้เข้าไปทำงานในรัฐสภา มีการโหวตสนับสนุน หรือคัดค้านกฎหมายใดบ้าง และมีการเข้าร่วมประชุมมากน้อยแค่ไหน และโปรเจกต์ “Promis Tracker” เพื่อใช้ดูว่าตั้งแต่เลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา พรรคใดที่เคยสัญญาไว้มีการผลักดัน และมีการทำงานมากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลก่อนการเลือกตั้งไว้ให้ประชาชนเตรียมตัวสำหรับเลือกตั้งปี 2566 ในชื่อโปรเจกต์ “Your candidate” ว่าแต่ละคนเป็นใครมาจากไหน ทำงานอะไรมาก่อน เพื่อทำความรู้จักกับ “แคนดิเดต” ให้มากขึ้น และโปรเจกต์ “Policy Shop” คล้ายกับแอปพลิเคชันชอปปิงว่า แต่ละพรรคการเมืองขายนโยบายอะไรให้บ้าง โดยจะมี “คีย์เวิร์ด” ให้ประชาชนไปค้นหา เช่น นโยบาย PM 2.5 นโยบายทางเท้า นโยบายขยะ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีช่องทางให้ประชาชนตรวจสอบเรื่องความโปร่งใส โดย WeVis จะทำข้อมูลของผู้สมัคร ส.ส. ว่าแต่ละคนถือหุ้นในธุรกิจใดบ้าง และธุรกิจเหล่านั้นได้รับงานจากภาครัฐหรือไม่
ทั้งนี้ น.ส.ธนิสรา ระบุ หลังเลือกตั้งจะยังคงแพลตฟอร์มเดิมไว้ เพียงแต่จะอัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ และจะติดตามไปตลอด 4 ปี หรือจนกว่าจะหมดสมัยของสภาชุดนั้น ๆ
สำหรับการทำงานในส่วนการหาข้อมูล การติดตามการทำงานของนักการเมือง แพลตฟอร์ม “They Work for Us” สิ่งที่ทำหลักคือ ดูว่านักการเมืองชุดใหม่เป็นใคร พอเข้าไปแล้วมีการย้ายพรรคอย่างไร แต่ละคนมีการโหวตอะไรบ้าง
“ข้อมูลส่วนใหญ่จะได้มาจากการประชุมสภา เนื่องจากเว็บไซต์ของรัฐสภา ที่มีการเปิดเผยการข้อมูลการประชุมมีผลการลงมติรายบุคคลให้ด้วย และจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาอัปเดตเสมอ”
ส่วนของโปรเจกต์ “Promise Tracker” จะแบ่งข้อมูลเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นข้อมูลจากการประชุมสภา และตามจากข่าวต่าง ๆ ส่วนที่ 2 มีการสื่อสารกับพรรคการเมืองว่า ขณะนี้กำลังทำนโยบายอะไรอยู่ สามารถส่งอัปเดต รวมถึงหลังจากนี้ทำนโยบายอะไรสำเร็จแล้ว ก็สามารถอัปเดตเข้ามาได้เช่นกัน
น.ส.ธนิสรา มองทิศทางการทำงานหลังเลือกตั้งเสร็จคือ พยายามทำงานร่วมกับรัฐสภา เพื่อปรับปรุงวิธีการเปิดเผยข้อมูลให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่านี้ และอีกส่วนคืออยากเข้าไปทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วพบปัญหาหลังเลือกตั้งเสร็จรู้เพียงคะแนน “รายเขต” แต่ไม่รู้คะแนน “รายหน่วย” และไม่มีข้อมูลผลคะแนนเพื่อนำไปวิเคราะห์ได้ว่า แต่ละหน่วยมีฐานเสียงเป็นอย่างไร ดังนั้นอยากผลักดันให้ กกต.เปิดเผยข้อมูลรายหน่วยในครั้งนี้ด้วย
สำหรับข้อจำกัดในการหาข้อมูล น.ส.ธนิสรา ระบุ ปัญหาคือ กกต.ที่ไม่มีการประกาศที่แน่ชัดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง ข้อมูลหน่วยเลือกตั้ง ทำให้หลายสื่อพยายามติดต่อพรรคการเมืองไปเอง หรือพยายามติดต่อ กกต.ไปเอง แต่หาก กกต.สามารถระบุชัด ๆ ได้เลยก็จะลดภาระงานลงไปได้ อีกข้อจำกัดคือเมื่อต้องการใช้ข้อมูลเหล่านี้ หลาย ๆ คนไม่รู้ว่าควรจะเรียกร้องอย่างไร และข้อจำกัด ข้อมูลที่มักได้มาในรูปแบบที่ไม่สามารถนำไปใช้ต่อได้ทันที ต้องมาปรับเป็นรูปแบบเข้าใจง่าย
สำหรับประชาชนที่สนใจติดตามข้อมูลการเมืองที่อาจใช้เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจสามารถติดตามได้ทาง Facebook : WeVis, Website : WeVis : We Visualize Data for Democracy.