เทคโนโลยี VAR หรือวีดีโอช่วยตัดสินเกมฟุตบอลถูกนำมาใช้ใน เอ-ลีก ออสเตรเลีย เป็นที่แรกในปี 2017 ตามด้วยเมเจอร์ลีก สหรัฐ ฤดูกาลเดียวกัน ส่วนในลีกใหญ่ยุโรป กัลโช เซเรีย อา อิตาลี และ บุนเดสลีกา เยอรมนี เริ่มใช้ฤดูกาล 2017–18 จากนั้นลา ลีกา สเปน ฤดูกาล 2018-19

ช่วงเวลานั้นแฟนบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่สุดจะทนกับการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินที่สร้างประเด็นให้โต้เถียงกันแทบทุกสัปดาห์ก็พากันเรียกร้องให้ลีกผู้ดีนำมาใช้บ้าง ซึ่งในที่สุดทีมพรีเมียร์ลีก็โหวตผ่านให้ VAR นำมาใช้ตั้งแต่ฤดูกาล 2019-20

แน่นอนว่าคอลูกหนังเมืองผู้ดีต่างตีปีกดีใจ เอาล่ะวะ จะได้เลิกบ่น เลิกเถียงจังหวะปัญหาเสียที แต่ไปๆ มาๆ นี่ก็ 4 ปีเข้าไปแล้ว ที่ไหนได้ ขนาดมี VAR ก็ยังมีข้อกังขาการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินมาจนปัจจุบัน

ลำพัง ไบรท์ตัน ทีมเดียวได้รับคำขอโทษจากองค์กรผู้ตัดสิน (PGMOL) ถึง 3 ครั้ง ผิดจังๆ อย่างการตีเส้นนักเตะผิดคน และไม่ให้ทีมได้จุดโทษ ลี เมสัน กรรมการรุ่นใหญ่นี่ก็ออกจากงานไปเลยหลังไม่ตีเส้นล้ำหน้า ขณะที่บรรดากูรู แกรี ลินิเกอร์ แดนนี เมอร์ฟี ก็ต่างบ่น VAR ว่านอกจากขัดความลื่นไหล แล้วยังไม่มีประสิทธิภาพอีกต่างหาก

ที่จริง PGMOL เพิ่งมีการเปลี่ยนตำแหน่งประธานผู้ตัดสินมาเป็น โฮเวิร์ด เวบบ์ เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หลังจากไมค์ ไรลีย์ เกาะเก้าอี้แน่นจนรากงอกมาตั้งแต่ปี 2009 กว่าจะออกมาได้ก็อยู่มานาน 13 ปี ไม่รู้แกทนเสียงด่าของแฟนบอลมานานขนาดนี้ได้ยังไง

พอเป็นเวบบ์ แกพยายามเทคแอคชั่นหรือลงมือมากขึ้น เช่น การยอมรับผิด ขอโทษไบรท์ตันเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้สมัยก่อนไม่ค่อยเห็น พร้อมกับล่าสุดมีการเปิดเผยผลการตรวจสอบโดยคณะกรรมการอิสระ 5 คน ตั้งแต่หลังฟุตบอลโลก ระบุว่าข้อผิดพลาดของ VAR ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนฟุตบอลโลก ซึ่งนี่คงทำให้สมาคมเชิ้ตดำโม้ได้อีกนิดว่านี่ก็ดีขึ้นแล้วนะ และกำลังดีขึ้นไปอีก

แต่แน่นอนเท่านั้นไม่พอ เวบบ์ระบุว่าจะมีการปฏิรูปเล็กๆ โดยนำกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ VAR มาร่วมงาน มีการแต่งตั้ง อดัม เกล วัตต์ส เป็นผู้อำนวยการด้านเทคนิคคนแรกขององค์กร สวนทางกับ นีล สวาร์บริก หัวหน้าทีม VAR ก็จะลาออกไป

ก็ลองดูว่าปีหน้าจะดีขึ้น หรือสุดท้ายแล้วสิ่งที่สมควรปฏิรูปไม่ใช่ VAR แต่ควรเป็นองค์ผู้ตัดสินมากกว่า?

เฮียเอง