การเลือกตั้งที่เริ่มต่อสู้กันเชิงนโยบาย ก่อนก้าวไปผลักดันเมื่อเป็นรัฐบาล ปัญหารอบด้านถูกหยิบยกมาแข่งขัน แต่บางปัญหายังถูก “วางเฉย” เช่น ความปลอดภัยบนท้องถนน
“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” วันนี้อยากเปิดพื้นที่สะท้อนอีกปัญหาตกหล่นความสนใจทั้งที่มีความสำคัญ เมื่อผลพวงสูญเสียไม่ได้หยุดแค่ครอบครัว แต่อาจกระทบกระเทือนถึงอนาคตประเทศ…
รากพัน–ปัญหาลึก สังคม(ยัง)มองปม “ปัจเจก”
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอด ภัยทางถนน (ศวปถ.) เผยเหตุที่พรรคการเมืองเลี่ยงชูนโยบายทั้งที่สถิติความสูญเสียมีไม่น้อย ล่าสุดปี 2565 คร่าไป 17,379 คน เฉลี่ยวันละ 47 คน สูงกว่าภัยอื่น ๆ แต่ไม่ถูกมองเชิงผลกระทบ โดยตั้งข้อสังเกตเป็นเพราะสังคมมองเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แม้สูญเสียเยอะแต่มาจากการประมาท ทำตัวเอง
ต่างจากปัญหายาเสพติด ฝุ่น PM 2.5 หรือกระทั่งโควิด-19 เป็นเรื่องที่รัฐจัดการได้ไม่ดี ปล่อยให้มียาเสพติด มีการเผาป่า หรือวัคซีนไม่ครอบคลุม เมื่อมุมมองสังคมต่อปัญหาต่างกัน การเรียกร้อง หรือกดดันภาครัฐกับการอยากเห็นนโยบายด้านนี้ จึงไม่ถูกให้ความสำคัญ
อีกด้านหากวิเคราะห์ลงลึกหลายเรื่องสัมพันธ์กับความคุ้นชิน เช่น ขับรถย้อนศร หรือไม่ใส่หมวกกันน็อก เมื่อเดินทางใกล้บ้าน หากรัฐบังคับก็รู้สึกฝืน ดังนั้น การที่พรรคการเมืองจะไปออกนโยบายบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด หรือส่งเสริมความปลอดภัย จึงสุ่มเสี่ยงกระทบฐานเสียง นโยบายแก้พฤติกรรมเพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้คนไทยอยู่ในวินัย จึงไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยรากที่สัมพันธ์หลายเรื่องทำให้โจทย์ปัญหาลึก หนึ่งในนั้นสะท้อนไปถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เป็นธรรม ไม่ครอบคลุม เข้าถึงยากและแพง แต่หากจะประกาศแก้ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่มีมากขึ้น ก็จะไปเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจ ซึ่งต้องยอมรับความใกล้ชิดกับภาคการเมือง
“หากจู่ ๆ พรรคการเมืองเสนอว่าเลือกเรา อีก 4 ปี จะลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ (จยย.) เพื่อให้ใช้ระบบสาธารณะมากขึ้น นโยบายอย่างนี้ หากวิเคราะห์ตรง ๆ พรรคการเมืองจะไม่เสนอ แม้จะแก้ที่รากและลดการสูญเสียได้ชัดเจน เพราะคนจะเข้ามาอยู่ในระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นก็ตาม”
หาเสียงจุดขายถนนปลอดภัยที่ “เป็นไปได้”
นพ.ธนะพงศ์ ยกตัวอย่างรูปแบบเชิงลงทุนในต่างประเทศที่ “ฉีก” จากเรื่องระบบขนส่งสาธารณะไปสู่เรื่องการใช้เทคโนโลยีมาเสริมการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ฝรั่งเศสก็เคยมีการหาเสียงเกี่ยวกับการกำกับความเร็ว โดยใช้เอาต์ซอร์ซ (Outsource) เป็นผู้ติดตั้งเครื่องตรวจวัดความเร็ว เอกชนจะได้ส่วนแบ่งจากค่าปรับ นโยบายลักษณะนี้ส่วนตัวมองว่าครบวงจร เพราะส่วนใหญ่รัฐมีนโยบาย แต่มักมีปัญหาเรื่องงบ
“อันนี้คือมีนโยบายและมีที่มาคือ ให้เอกชนติดตั้งและได้ส่วนแบ่งค่าปรับ ซึ่งมีแน่นอนเพราะยังไงก็ต้องมีคนฝ่าฝืนกระทำผิดกฎหมาย”
“กล้า” โชว์ “กึ๋น” นโยบายก้าวหน้า
นพ.ธนะพงศ์ ระบุ อยากเห็นความกล้าหาญ หรือ “กึ๋น” ของแต่ละพรรคการเมืองที่ไม่ควรแค่ตอบโจทย์สิ่งที่ประชาชนร้องขอ บางเรื่องสำคัญแต่ประชาชนมองข้าม สามารถมีนโยบายเชิงก้าวหน้า หรือชี้นำได้
อีกประเด็นน่าสนใจคือมายาคติซ้อนทับเมื่อพูดถึงจราจรหรือท้องถนน มักถูกมองด้านเดียว คือ ความสะดวกในการสัญจร รถต้องไม่ติด เรื่องบนถนนจึงถูกลดทอนมองเป็นแค่เรื่องรถไม่ติด ซึ่งทำให้ก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอบางพรรคการเมืองเรื่องการเพิ่มความเร็วที่ได้ใจประชาชน แต่สวนทางความปลอดภัย
“คิดว่าพรรคต้องไม่รอให้เป็นความต้องการประชาชนเท่านั้น ถ้าบ้านเราต้องรอให้เรื่องนี้มาจากประชาชนก่อน เราอยู่ในทศวรรษความปลอดภัยทางถนนมาเป็น 10 ปี แต่คนยังไม่มีความต้องการ แทบสรุปได้ว่าสังคมยังมองสูญเสียรายวันเป็นเรื่องคุ้นชิน เป็นปัจเจก พรรคการเมืองจึงควรเริ่มก่อน นักการเมืองยุคใหม่ต้องชี้นำได้ในเรื่องดี หรือเรื่องสำคัญบางเรื่อง ที่เป็นอนาคตลูกหลาน”
เริ่มมองเห็น “ผลพวง” วิกฤติประชากร
ในฐานะผู้เคลื่อนไหวด้านความปลอดภัยทางถนน นพ.ธนะพงศ์ มองว่า อาจเพราะเสนอได้ไม่ชัดถึงผลกระทบการเสียชีวิต อย่างที่รู้กันเป็น 10 ปี ว่าฐานประชากรที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมากเป็นเด็กและเยาวชน และวัยทำงานตอนต้น ผลกระทบ คือ พีระมิดประชากรขณะนี้มีลักษณะ “ฟันหลอ” ด้วยสัดส่วนกลุ่มนี้ที่คิดเป็น 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ขณะที่สังคมโดยรวมแนวโน้มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
“ผลกระทบใหญ่ของการผลิตมวลรวมทางสังคมจะถูกลดทอนลง เพราะวัยเด็กและวัยทำงานตอนต้นหายไปด้วยอุบัติเหตุทางถนน ตรงนี้พรรคการเมืองต้องชี้นำสังคม ไม่ใช่สปอยล์ด้วยประชานิยมสั้น ๆ ต้องมองไปข้างหน้าว่าเราต้องทำเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของความอยู่รอดประเทศในอนาคต”
นพ.ธนะพงศ์ ทิ้งท้าย อยากมองอย่างมีหวังว่า พรรคการเมืองจะเห็นความสำคัญของนโยบายความปลอดภัยมากขึ้น เพราะปัจจุบันบางพรรคการเมืองเริ่มมีนโยบายที่เจาะเฉพาะกลุ่ม เช่น ความหลากหลายทางเพศ ดังนั้น ในเชิงอนาคตก็อยากเห็นสื่อจัดเวทีดีเบตให้พรรคการเมืองพูดถึง 3-4 ปัญหาที่จะมีผลกับอนาคต เช่น ฝุ่น PM 2.5 หรืออุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากบางเรื่องสื่อต้องเป็นผู้ช่วยชี้นำความคิดอีกทางด้วย.