สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยิ่งเพิ่มความยากลำบากแบบเท่าทวีคูณให้แก่ซูดาน ประเทศในแอฟริกาซึ่งมีประชากรราว 15.8 ล้านคน และหนึ่งในสามยังคงต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด้วนที่สุด ก่อนการสู้รบครั้งนี้ปะทุเสียอีก

Reuters

อนึ่ง ชนวนเหตุของการสู้รบระหว่างกองทัพซูดานกับอาร์เอสเอฟ ซึ่งเคยร่วมกันทำรัฐประหาร ล้มประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาเชียร์ เมื่อปี 2562 เกิดขึ้นจากการที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ หลังเจรจากันอย่างตึงเครียดมานานหลายสัปดาห์ เพื่อปฏิรูปภาคความมั่นคงของประเทศ ตามกรอบแผนยุทธศาสตร์เพื่อปูทางสู่การเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งกำหนดการปัจจุบันคือ “ภายในเดือนก.ค. 2566” ว่าฝ่ายใดควรผนวกรวมกับฝ่ายใด ในการจัดตั้ง “กองทัพแห่งชาติ” และแน่อนนว่า ต่างฝ่ายต่างหวั่นเกรงการสูญเสียอำนาจและอิทธิพล

พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน

ขณะที่พล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของซูดาน และประธานสภาอธิปไตย หรือคณะผู้ปกครองประเทศชุดปัจจุบัน กล่าวว่า อาร์เอสเอฟควรเป็นฝ่ายถอย แล้วกลับไปยังฐานที่มั่นของตัวเอง และยืนยันว่า ทั้งกองทัพและรัฐบาลจะไม่เจรจากับอาร์เอสเอฟ จนกว่าอีกฝ่ายจะยุบตัวเอง หรือมีคำสั่งศาลให้ยุบ

พล.อ.โมฮาเหม็ด ฮัมดาน ดากาโล

ด้านพล.อ.โมฮาเหม็ด ฮัมดาน ดากาโล หรือ “เฮเมดติ” ผู้บัญชาการอาร์เอสเอฟ ประณามพล.อ.บูร์ฮานเป็นอาชญากร จากการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายที่เป็นพลเรือน และเป็น “คนโกหก” ซึ่งคาดว่าต้องการสื่ออย่างมีนัยถึงการเจรจาที่ยังคงอยู่ในทางตัน

ส่วนความพยายามของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) และนานาประเทศ ในการจัดทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างทหารทั้งสองฝ่าย แทบไม่ประสบความสำเร็จ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อความพยายามอพยพประชาชน ทั้งที่เป็นชาวซูดาน และพลเรือนต่างประเทศซึ่งอาศัยและทำงานอยู่ในซูดาน

Reuters

แม้ไม่ใช่ประเทศร่ำรวยติดอันดับต้นของแอฟริกา แต่ซูดานเป็นประเทศซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่การเกษตรสำคัญของภูมิาค ขณะที่ตำแหน่งที่ตั้งมีความสำคัญอย่างมากในทางภูมิศาสตร์การเมือง จากการมีพรมแดนติดกับทะเลแดง และแหลมแอฟริกา บรรดาประเทศมหาอำนาจทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลกต่างจับตาสถานการณ์ในซูดานอย่างใกล้ชิด

ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( ยูเออี ) คาดหวังว่า การเปลี่ยนผ่านอำนาจที่ราบรื่นในซูดานหลังหมดยุคอัล-บาเชียร์ น่าจะช่วยลดทอนอิทธิพลของบรรดากองกำลังติดอาวุธทางศาสนาในท้องถิ่นด้วย ขณะที่สหรัฐและสหราชอาณาจักร ซึ่งร่วมผลักดันกับยูเอ็น ให้ทหารทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่โต๊ะเจรจา ในเวลาเดียวกันมีความวิตกกังวล ต่อความเป็นไปได้ในระดับสูง ที่รัสเซียจะตั้งฐานทัพในทะเลแดง เนื่องจากจนถึงตอนนี้ ทหารระดับสูงในกองทัพซูดาน รวมถึงพล.อ.บูร์ฮาน ยังคงแสดงท่าทีไปในทางบวกต่อแผนการดังกล่าวของรัฐบาลมอสโก

ประชาชนในกรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน ดำเนินชีวิตท่ามกลางการสู้รบ

จริงอยู่ที่ซูดานอาจเป็นประเทศซึ่งดูแล้ว “อยู่ห่างไกล” สำหรับหลายฝ่าย อย่างไรก็ตาม ประชาคมโลกนำโดยสหประชาชาติ “ต้องวิเคราะห์และตีความสถานการณ์ให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น” และเร่งดำเนินการตามแนวทางเหมาะสม ด้วยความจริงจังและรวดเร็วกว่านี้ แม้ทหารทั้งสองฝ่ายยังคงแสดงออกอย่างหนักแน่นอนว่า ไม่ต้องการให้ “บุคคลภายนอก” มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้และยังคงปฏิเสธเจรจาแบบพบหน้ากัน

ขณะที่บรรดามหาอำนาจซึ่งชัดเจนว่า ต่างมีส่วนได้ส่วนเสียมากน้อยแตกต่างกันไป จากวิกฤติการณ์ในซูดาน ควรเก็บเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนเอาไว้ก่อน แล้วร่วมกันหาทางยับยั้งไม่ให้วิกฤติการณ์ครั้งนี้ยืดเยื้อ และลุกลามออกไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค เพราะทุกฝ่ายล้วนตระหนักดีว่า ความขัดแย้งซึ่งปะทุเป็นการสู้รบในที่สุด คือ “ระเบิดเวลา” ที่เป็นผลจาก “ลางร้ายซึ่งส่งสัญญาณมานานระยะหนึ่งแล้ว”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES