ท่ามกลางกฏเกณฑ์ เงื่อนไขการสังเกตการณ์เลือกตั้งที่อาจเปลี่ยนไปจะส่งผลอย่างไรกับภาคประชาชนบ้าง ผศ.ชาติณรงค์ วิสุตกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มองการสังเกตการณ์การเลือกตั้งของประชาชนและสื่อมวลชนว่ามีความสำคัญมาก เพราะเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเอง
ทั้งนี้ ผลคะแนนจะโปร่งใสสุจริตหรือไม่ อย่างไรในแต่ละพื้นที่ ประชาชนและสื่อมวลชนจะต้องช่วยกันจับตาดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ และเป็นการช่วยป้องกันการทุจริตหรือกลุ่มจัดตั้งในแต่ละพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่า จะไม่รายงานผลการนับคะแนนแบบเรียลไทม์ แต่จะรายงานผลผ่านระบบ ECT Report ด้วยเหตุว่าเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ผลคะแนนมีลักษณะขึ้นลงซึ่งอาจมีข้อผิดพลาดได้ จึงเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้แทน
ผศ.ชาติณรงค์ ระบุ ส่วนตัวไม่แน่ใจว่าระบบ ECT Report จะช่วยให้การนับผลคะแนนได้ถูกต้องดีขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ คือ ประชาชนจะรู้ผลคะแนนการเลือกตั้งช้าลงแน่นอน ที่น่าสังเกตคือ อดีตกกต.ท่านหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์ว่าระบบนี้เป็นแค่การกรองข้อมูล Excel เท่านั้น คิดว่า กกต. ควรจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใสและยุติธรรมที่สุด และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งกับประชาชนให้มากกว่านี้เพื่อความน่าเชื่อถือของ กกต.เอง
สำหรับการจับตาในแต่ละช่วงจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้งนั้น ในช่วงการหาเสียงเชื่อว่าแต่ละพรรคการเมืองต้องส่งทีมงานไปสอดส่องพรรคคู่แข่งว่า ได้ทำผิดข้อกฏหมายใดหรือไม่ และนำมาฟ้องร้องกันอย่างที่เคยเห็นกันอยู่ ขณะที่ประชาชนและสื่อมวลชนควรติดตามการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองว่า ได้นำเสนอนโยบายอะไรบ้าง สัญญาว่าจะทำอะไรให้กับประชาชนบ้าง จะร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคใดหรือไม่
และสุดท้ายเมื่อได้รับการเลือกตั้งมาแล้วได้ทำอย่างที่พูดไว้หรือไม่ ถ้าไม่ทำหรือผิดสัญญากับประชาชนจะได้ไม่ต้องเลือกพรรคการเมืองนั้นอีกต่อไป
หากถามถึงความเชื่อมั่นต่อการตรวจสอบ สอดส่องภาคประชาชนและอาสาสมัครจะมีพลังแค่ไหนในการเลือกตั้งครั้งนี้ ผศ.ชาติณรงค์ ระบุ เชื่อมั่นว่าภาคประชาชน อาสาสมัครประชาชน และสื่อมวลชน จะเป็นกำลังสำคัญให้เลือกตั้งโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ได้ผลเลือกตั้งตามที่ควรจะเป็น
“ถ้าประชาชนตื่นตัวและออกมาช่วยกันจับตาดูการทำงานของเจ้าหน้าที่ในแต่ละเขตการเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จะมีความระมัดระวัง ไม่กล้าที่จะกระทำผิด หรือทุจริตในการนับผลคะแนน แต่ถ้าพื้นที่ไหนประชาชนไม่ตื่นตัวไม่ช่วยกัน หรือมีกลุ่มจัดตั้งเกิดขึ้น ผลคะแนนก็อาจจะคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามความเป็นจริงได้ ภาคประชาชนเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติ อาจมีวัตถุประสงค์ร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งจนกลายเป็นเครือข่าย เช่น เพื่อตรวจสอบการเลือกตั้งให้โปร่งใสยุติธรรม”
ด้านเทคโนโลยีที่น่าจะมีบทบาทมากขึ้นในการเลือกตั้ง ผศ.ชาติณรงค์ เชื่อสมาร์ตโฟนและช่องทางโซเชียลมีเดียวจะมีอิทธิพลอย่างมาในการเป็นช่องทางสำคัญเผยแพร่ เป็นอาวุธประชาชนในการเก็บข้อมูล หลักฐาน ใช้ตั้งคำถาม แสดงความเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล ไปจนถึงกระจายสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น ซึ่งการเผยแพร่จะทำได้มากน้องแค่ไหนต้องระมัดระวังข้อกฎหมายด้วย
“ถ้าภาคประชาชนตื่นตัวสามารถใช้โซเชียลมีเดียได้อย่างมีประสิทธิภาพ บางทีบทบาทของสื่อมวลชนอาจจะลดลงไปเลยก็ได้ ถ้าสื่อบางสำนักยังคงนำเสนอข่าวอย่างมีนัย หรือสนับสนุนกลุ่มทุนการเมืองของตนเองโดยไม่ได้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง”
ผศ.ชาติณรงค์ แนะถึงบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นได้ของสื่อมวลชนคือต้องตัดความรู้สึกส่วนตัว ชอบหรือไม่ชอบ ออกไปก่อน เพื่อจะได้เสนอข่าวการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรวจมา ไม่มีนัยแฝง ไม่มีพรรคการเมืองที่ชอบหรือไม่ชอบ ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนสนับสนุน
“สื่อมวลชนในที่นี้ตั้งแต่ตัวนักข่าว บรรณาธิการ และองค์กรข่าว ถ้าทำได้ ข่าวการเลือกตั้งจะโปร่งใสและตรงไปตรงมามากกว่าที่เป็นอยู่”
อีกข้อสำคัญคือ การทำข่าวเชิงรุก นำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรคว่ามีอะไรบ้าง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคเป็นใคร ทีมงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ มีใครบ้าง นำเสนออย่างเดียวไม่พอ สื่อควรวิเคราะห์ “เจาะลึก” เปรียบเทียบให้ประชาชนได้เห็นทั้งในเรื่องนโยบายที่จะนำมาบริหารประเทศ และตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งทีมงานด้วย
ทั้งนี้ เพื่อประชาชนจะได้ตัดสินใจได้ก่อนวันเลือกตั้ง และเป็นหลักฐานสำคัญสำหรับพรรคที่ได้จัดตั้งรัฐบาลว่าได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนหรือไม่ด้วย.