ถือเป็นขุนพลในสนาม กทม. ที่ประกาศปักธงสนามเมืองหลวงครั้งแรก สำหรับ “บี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผอ.การเลือกตั้ง กทม. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ หมายเลข 7 วันนี้จะมาเปิดใจกับ “เดลินิวส์” ถึงจุดเด่นและยุทธศาสตร์ในการชิงชัยคว้าเก้าอี้ ส.ส.กทม.

ทำไมถึงตัดสินใจมาอยู่ที่พรรคภูมิใจไทย

ครั้งที่แล้วหลังจากเกิดอุบัติเหตุก็หยุดพัก อยู่กับครอบครัว ดูแลพ่อ แม่ ทำภารกิจต่าง ๆ ที่ไม่ได้ทำมา 20 ปี ไปดูธุรกิจของครอบครัว ช่วยพ่อแม่บริหารจัดการ เลยไม่ได้ยุ่งกับการเมืองจริง ๆ และไม่ได้คิดว่าจะกลับมาด้วยซ้ำ แต่พอดีมีโอกาสได้เจอกับ ส.ส. ที่ตนเคยชวนมาทำงานการเมืองด้วย มีโอกาสพูดคุยกัน จนกระทั่งหารือกันบ้างว่าการเมืองเป็นแบบนี้ จะทำอย่างไร เขาคิดต่างเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็คุยกันไปคุยกันมาก็เริ่มรู้สึกว่าเยอะขึ้น ๆ และมี ส.ก.ที่ยังเป็นอยู่ และพลาดโอกาสไปจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็มีการพูดคุยกันแล้วมีโอกาสเวิร์กช็อป คนรุ่นใหม่อายุ 20-40 ปี ประมาณ 3-4 ครั้ง จนมีการพูดนโยบายเกี่ยวกับเรื่องของสาธารณสุข ซึ่งผมก็รู้จักกับ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. มาตั้งแต่เด็ก เลยเชิญมารับฟังผ่านวิดีโอคอล น้อง ๆ ที่มาสัมมนากว่า 60 คน มีการถามคำถามคุณอนุทิน ก็โต้-ตอบ และให้ความสนใจนโยบายเหล่านี้ที่ กทม.ยังไม่มี ก็เลยชวนผม

จากนั้นมีการพูดคุยกันหลายรอบ จนเปิดรับนโยบายดี ๆ ของคนรุ่นใหม่เต็มที่ ซึ่งท่านก็รับหลักการและให้เรามาทำ รวมถึงให้น้อง ๆ เพื่อน ๆ คนรุ่นใหม่ได้ทำ นี่คือจุดเริ่มต้น และท่านให้เข้ามาก็ยังงงอยู่ว่ามาแล้วต้องทำอะไรบ้าง เพราะไม่เคยเข้าไปที่พรรค ภท.มาก่อน จุดสำคัญของผมเลยว่าทำไมถึงกลับมาเพราะเห็นทีมงานคนรุ่นใหม่กับคนที่มาทำงาน มาพูดกับผม มาขอคำแนะนำต่าง ๆ พอเห็นแบบนี้แล้วทำให้ผมมีพลัง เพราะจริง ๆ ถ้าผมคนเดียวผมเลิกแล้ว เพราะคิดว่าด้วยชีวิตคนหนึ่ง มาจากการเป็นผู้แทนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการมันก็คุ้มค่าระดับหนึ่งแล้ว สำหรับคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่พอได้มาคุยแบบนี้ทำให้มีแรงบันดาลใจ มีพลังขึ้นว่าเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเองคนเดียว แต่ยังมีคนรุ่นใหม่ น้อง ๆ ที่คิดดี ตั้งใจดี เราก็อยากสนับสนุน ก็เลยกลายเป็นพลังเป็นภาระที่เราต้องมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง เรายังทำประโยชน์ได้ ให้เรามาเป็นโค้ชเห็นเราว่าช่วยเขาได้ให้ช่วยเขาเดินไปสู่ความฝันได้

แนวทางการวางนโยบาย กทม. ของพรรคภูมิใจไทย

พรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ลงใน กทม.ส่วนใหญ่ก็มีพื้นฐานมาจากพรรคที่เคยมี ส.ส.ใน กทม.มาก่อน แต่เราก็ได้เริ่มใหม่ นโยบายที่เราจะคิดหรือปัญหาที่เราลงไป แม้กระทั่งผู้สมัคร ส.ส. เราสามารถวางได้เหมือน “กระดาษขาว” ที่เราอยากจะเขียนอะไรให้ตรงใจคน กทม. ไปศึกษาแล้วลองไปดู เราสามารถเสนอได้ แต่ถ้าเป็นพรรคอื่น ๆ เขาอาจจะมีหัวคะแนนเดิม มีนโยบายเดิมที่เคยสัญญาไว้แล้วทำไม่ได้ หรือเขาอาจจะเคยมีผู้สมัครเดิม ๆ ที่เคยอยู่ ของเราไม่มีก็เลยมองเป็นมุมบวกสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง ความแปลก และความทันสมัยให้ตรงกับปัญหา และให้ตรงใจคน กทม.ได้

นโยบาย กทม.ของ ภท. อย่างแรกก็คือ เราเริ่มจากนโยบายที่ “ตรงใจ–ทำได้จริง-ไม่ยาก–ใช้งบไม่มาก” ตั้งแต่โควิด-19 ผ่านมา 3-4 ปี คนใน กทม. ซึ่งเป็นศูนย์รวมของคนทั้งประเทศ มีปัญหาทุกเรื่อง ไม่ใช่ปัญหาในเรื่องของเศรษฐกิจอย่างเดียว เพราะว่าทุกอย่างมันหยุดหมด เศรษฐกิจ เงินในกระเป๋า ปัญหาปากท้อง ปัญหาฝุ่นควัน ปัญหาอะไรทุก ๆ อย่างมันกระทบไปหมด รายได้ รายรับ ไม่ค่อยพอจ่าย เราก็เลยบอกว่าเมื่อเป็นแบบนี้ นโยบายมาเป็นตัวนำ เพราะคน กทม. เขาจะไม่เลือกอะไรที่ไกลตัว แต่จะต้องมาตอบโจทย์แก้ปัญหาจริง ๆ เพราะเจอมา 4 ปีแล้ว

ดังนั้น เราต้องทำนโยบายให้คน กทม. รู้สึกว่าโดนใจ คือ “การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย” ซึ่งก็นำมาสู่หลาย ๆ นโยบาย เช่น การพักหนี้ 3 ปี การลดรายจ่าย เช่น ลดค่าไฟ เราก็เลยได้มีนโยบายที่จะทำโซลาร์รูฟให้ทุกครัวเรือน จะลดค่าไฟฟ้าลงประมาณ 450 บาท/เดือน และที่มีคนชอบมากคือ รักษามะเร็งกับฟอกไตฟรี ถ้าเดือนหนึ่งเขาต้องฟอกไตประมาณ 10 กว่าครั้ง ก็เกือบ 2 หมื่น ซึ่ง 2 หมื่นสำหรับครอบครัวทั่วไป ถือว่าเยอะมากสิ่งที่ต้องทำก็คือก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา มันป่วยทั้งครอบครัวมันไม่ได้ป่วยเฉพาะคนที่ไม่สบาย ทางหัวหน้าพรรค ภท. ก็รับผิดชอบในเรื่องของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ ก็เข้าใจตรงนี้ และที่ผ่านมา ก็มีการผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีเรื่องรถไฟฟ้าเป็น วันเดย์ทิคเก็ต หรือว่าตั๋ววัน ไม่เกิน 40 บาท ถ้าถูกสุด 15 บาท เป็นต้น

ปัญหาใน กทม. พื้นที่แตกต่างกันมากไม่เหมือนกัน เราจึงแยกปัญหาแบ่งออกเป็น 4 โซน คือโซนที่ 1 กทม.ชั้นใน โซนที่ 2 กทม.ฝั่งตะวันออก โซนที่ 3 กทม.ฝั่งเหนือ โซนที่ 4 กทม.ฝั่งธนบุรี แต่ละกลุ่มปัญหาแตกต่างกัน เช่น ฝั่งธนฯ เวลาเราไปเราจะเห็นว่าวิถีชีวิตของคนฝั่งธนฯ อยู่กับแม่น้ำเจ้าพระยาเยอะมาก อยู่กับคลองก็ต้องมีการปรับปรุงท่าเรือ เมื่อมีทั้งเรือใหญ่ เรือเล็ก ทำไมไม่ทำให้เป็นอีวี ทำเป็นเรือไฟฟ้า เป็นต้น

“ดังนั้น คงจะถามว่าเลือก ภท. ใน กทม. ได้อะไร ก็จะได้นโยบายที่ใกล้ตัวเขา ตอบโจทย์ แก้ไขปัญหาที่หมักหมมมานาน เป็นประโยชน์กับเขาจริง ๆ เพราะที่ผ่านมานโยบาย กทม. เป็นภาพรวม บางทีเขาไม่ได้ประโยชน์อะไร พอพูดก็เป็นแบบกว้าง ๆ เราก็เลยบอกว่านี่เป็นครั้งแรก ที่เรานั่งไล่นโยบายลงไปในกลุ่มโซนต่าง ๆ”

นโยบาย ภท.มีจุดแข็ง-แตกต่างจากพรรคอื่น ๆ อย่างไร

เราให้ผู้สมัครนำนโยบายลงไปในแต่ละ กลุ่มโซน ของใคร ของมันว่า เขาจะทำอะไรให้บ้าง นโยบายภาพรวมอะไรได้บ้างที่จะให้กับคนในกรุงเทพฯ นี่คือนโยบายที่คิดว่าแตกต่าง และเป็นไฮไลต์ ที่เราตั้งใจที่อยากจะดูแลใจใส่คน กทม. นี่คือความแตกต่างระหว่างพรรคที่เคยอยู่มานานพรรคที่เคยส่งผู้สมัครมาตลอด แต่พรรคที่ไม่เคยมี ส.ส. ใน กทม. เลยแล้วเริ่มใหม่ เราจึงวางหลักคิดวางนโยบายให้ตรงใจกับประชาชนได้ พรรคบางพรรคอยู่กันมาหลายรอบ นานแล้วในกรุงเทพฯ ก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย บางคนเป็นแล้วไม่ลงพื้นที่เป็นแล้วไม่ทำ “ภท.มีจุดแข็งที่คนต่างจังหวัดไว้ใจคือ นโยบายอะไรก็ตามที่เราเสนอไว้ก่อนการเลือกตั้งนั้น ทำจริง ทำทุกเรื่อง เมื่อเราเบนเข็มมาขออาสารับใช้ คน กทม. เราก็ต้องยึดจุดแข็งและจุดขาย คือ นโยบายที่คิดแล้วต้องทำได้”

โอกาสในการปักธง กทม.เป็นอย่างไรบ้าง

เราโชคดีได้อดีต ส.ส.กทม.ในการเลือกตั้งปี 62 มา 8 คน อย่างน้อยก็ไม่ได้เริ่มจากศูนย์แน่นอน และค่อนข้างเป็นความหวังของเรา ประกอบกับมีหลายเขตที่เป็นคนรุ่นใหม่ ทำพื้นที่ดีมาก ประวัติการศึกษา ความรู้ ความสามารถในหลายมิติ คราวนี้เราทำเป็นระบบและมีความพร้อมมาก ผมเชื่อว่า ภท. เป็นพรรคที่มีความเข้มแข็งและเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่ต่อไป เป็นพรรคหลักในการตั้งรัฐบาลต่อไปแน่ ๆ ไม่ช้าก็เร็ว เพราะฉะนั้นพื้นที่ กทม.ก็ต้องเป็นพื้นที่หลัก ไม่ทำวันนี้ก็ต้องทำวันข้างหน้า ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ยังไงก็ต้องทำต่อเนื่องไป ยังไงก็ต้องทำตรงนี้ ซึ่งการเริ่มต้นในวันนี้ถือว่าถูกต้องแล้ว.