ในห้วงที่พรรคการเมือง และนักการเมืองขับเคี่ยวกันหาเสียง เพื่อนำรัฐบาล ท่ามกลาง PM 2.5 หนักหน่วง มองเห็นอนาคตใดจากนโยบายแก้สถานการณ์นี้หรือยัง

อย่าพูดลอย ๆ ขอตัวเลขชี้วัด จริงใจ

ผศ.ดร.สุรัตน์ เปรยจริง ๆ แล้วก็น้อยใจพรรคการเมืองต่าง ๆ ทำไมบางเรื่องกำหนดมาเป็นตัวเลขได้ เป็นตัวเงินได้ แต่ทำไมเรื่องฝุ่นไม่มีพรรคไหนกำหนดนโยบายออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจน เพราะหากกำหนดเป้าหมายตัวเลขว่ามีเท่าไหร่แล้ว อยากให้เสนอแนวทางในการลดเช่นเดียวกัน เพราะเราเห็นตัวเลขจากเรื่องอื่น ๆ กำหนดตัวเลข แต่ไม่กำหนดแนวทาง ถ้าในเชิงของ system thinking กับเรื่องของการทำ design and think ทำโปรดักออกมาเป็นตัวเลขมันง่าย แต่ถ้าเปลี่ยนระบบทำยาก คิดยากกว่า

“ดังนั้น อยากให้มีตัวระบบด้วยว่าจะต้องทำอย่างไร ปัจจุบันประชาชนมองจากนโยบายของพรรคด้วยว่ามีความจริงใจในการแก้ปัญหาหรือไม่ ส่วนตัวเท่าที่ฟังนโยบายเรื่องฝุ่นของแต่ละพรรคการเมือง ยังเป็นคำพูด”

จี้ “โฟกัส” นโยบายหลัก

ผศ.ดร.สุรัตน์ ยกตัวอย่าง เมื่อรู้ต้นกำเนิดฝุ่นว่ามาจากการจราจร หมายความว่านโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจราจร จะเป็นเรื่องสำคัญในการพิจารณา “ลด” ฝุ่น ไม่ใช่แค่เรื่องกำหนด Low Emission Zone แต่ต้องทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการจราจรว่า จะทำอย่างไร ประเทศไทยเป็นอีกประเทศที่นโยบายสวนทางกัน เช่น อยากให้รถปล่อยมลพิษน้อย แต่กลับให้รถที่มีสภาพใช้งาน หรือมีอายุการใช้งานอยู่บนถนนได้นานและภาษีถูกลง อยากตั้งคำถามว่านโยบายสอดคล้องกันตรงไหน ประเทศไทยมีนโยบายหมดทุกเรื่อง แต่ทุกเรื่องขัดแย้งกันหมด จึงเหมือน “พายเรือวนอยู่ในอ่าง”

“สุดท้ายก็มานั่งโทษกัน แทนที่จะมีความชัดเจน เช่น ไม่อยากให้เกษตรกรเผา แต่ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะส่งเสริมให้เกษตรกรทำอย่างอื่นนอกจากเผา ในเมื่อการกำจัดเศษวัสดุ ไม่มีวิธีใดที่กำจัดได้ดีและถูกที่สุดนอกจากเผาเพราะใช้ไม้ขีดก้านเดียว”

ผลักดันให้มากกว่าแค่ “มี” วาระชาติ

เหมือนกับสิ่งที่พยายามพูดว่า ประเทศไทยมีทุกอย่าง ทั้งระเบียบ กฎกระทรวง แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ อีกทั้งการคิดหรือทำไม่ใช้ “ระบบนิเวศ” เข้ามาคิดอย่างเต็มที่ ระบบนิเวศ เช่น จะห้ามคนเผา แต่คนก็ยังต้องกิน ต้องใช้ แล้วจะห้ามอย่างไร เพราะไม่ได้คิดต่อว่า ถ้าห้ามแล้วจะให้ทำอย่างไรต่อ ไม่ได้มีการคิดเผื่อคนที่จะต้องเผา

ผศ.ดร.สุรัตน์ เผยอีกปัญหาที่เผชิญกันมานานก็คือการบูรณาการภาครัฐ ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง แต่ละหน่วยพยายามทำกันอย่างเต็มที่ในส่วนของตัวเอง เมื่อใดก็ตามที่ต้องข้ามหน่วย ข้ามส่วน การขอความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกลับไม่ใช่เรื่องง่าย อาทิ ข้อมูลบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานไม่ถูกร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ถูกแยกส่วน เมื่อจะมีการนำไปใช้ก็ไม่สามารถนำข้อมูลมาใช้ได้

ทั้งนี้ เมื่อบูรณาการข้อมูลเพื่อนำไปใช้อย่างจริงจังไม่ได้ จึงเป็นปัญหา ทำให้การวางแผนเป็นไปได้ยาก ตนก็ไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะทำอย่างไรได้บ้างแต่ ณ เวลานี้ที่พยายามจะทำกันในเชิงของนักวิจัยคือจะทำเลียนแบบ “วอร์รูม” เป็นลักษณะของการวิจัยที่เรียกว่า Operation reserch โดยทำการสร้างสถานการณ์จำลอง และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมทำวิจัยด้วยกัน

“สมมุติจะสร้างสถานการณ์ขึ้นมาว่า วันนี้ฝุ่นสูงขึ้นอย่างชัดเจน หน่วยงานไหนจะทำอะไรบ้าง จากนั้นนำผลมาจำลองด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อประเมินว่าภาพจะออกมาแบบไหน ในส่วนการแก้ไขปัญหาก็จะถูกเสนอขึ้นมาตามแนวทางของแต่ละหน่วยงาน ถ้าไม่มีอะไรมากำกับ หรือไม่ได้ทำงานร่วมกัน ภาพจะออกมาเป็นแบบไหน โมเดลมันก็จำลองสถานการณ์ แต่ถ้าเกิดบูรณาการทำงานร่วมกัน ภาพของการจำลองสถานการณ์ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง”

ผศ.ดร.สุรัตน์ มองว่า ลักษณะเช่นนี้หน่วยงานจะสามารถนำวิธีการและการดำเนินงานไปสร้างเป็นแนวทางเสนอผู้มีอำนาจตัดสินใจ และสามารถตอบได้ว่า ถ้าทำแบบนี้ผลที่ตามมาจะลดลงได้กี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่ทำจะได้กี่เปอร์เซ็นต์

ทำ “อากาศสะอาด” แนะการเมืองใช้โอกาสแสดงความรัก

ผศ.ดร.สุรัตน์ ย้ำว่า หากยังอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ และเห็นภาพการหาเสียงแบบนี้ ส่วนตัวความหวัง “น้อยมาก” เพราะยังไม่เห็นแนวทางหรือยังไม่เห็นแสงสว่างปลายทางที่จะเกิดขึ้นได้ นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลที่ตนอยากท้าพรรคการเมืองให้สร้างและใช้โอกาสนี้ในการประกาศ (Declare) ตัวเองที่บอกว่ารักประเทศไทย ทำไมไม่ใช้โอกาสนี้ มาทำให้แผ่นดินน่าอยู่ในเชิงของสิ่งแวดล้อมทั้งอากาศดี น้ำดี ทุกอย่างดีหมด เพื่อเป็นฐานในการผลิต

สำหรับนักวิชาการ หลายคนพูดคำว่า กฎหมายอากาศสะอาด เป็นสิ่งที่รอกันมานาน ไม่ใช่รอแค่กฎหมาย แต่รอถึงมาตรการทำอย่างไร ผู้ที่จะเอามาตรการไปใช้อย่างจริงจังและสามารถลงมือปฏิบัติได้ก็ต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ พรรคการเมืองใหม่รัฐบาลใหม่ทำ ถึงจะมีความหวัง

“สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่เราต้องจริงจัง ในการทำมากกว่าภาพลักษณ์ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ถ้าคนเราไม่ตระหนักหรือปรับเปลี่ยน ต่อให้พรรคการเมืองหรือใครก็ตามมาแก้ไข ก็ทำไม่ได้ เราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งต้องเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยเช่นกัน ถึงจะบรรลุวัตถุประสงค์” ผศ.ดร.สุรัตน์ ทิ้งท้าย.