อยาก Challeange ให้พรรคการเมือง กล้ากำหนดตัวเลขฝุ่นที่อยากจะลดให้ประชาชนตัดสินใจ เพราะหากเทียบในเรื่องตัวเงิน เรื่องอื่น ทำไมยังกำหนดได้ แต่เรื่องฝุ่นซึ่งเป็นวาระแห่งชาติและคนได้รับผลกระทบทั้งประเทศเช่นกัน ทำไมไม่กล้าบอกว่าจะลดฝุ่นกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าจริงใจกับการแก้ปัญหาไม่ใช่แค่คำพูดลอย ๆ มันควรมีเป้าหมายที่ชัดเจน

เป็นความคิดเห็นของ ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีต่อข้อซักถามถึงปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ที่นับวันยิ่งรุนแรง ท่ามกลางสารพัดนโยบายหาเสียงเพื่ออนาคต แต่ทำไมสังคมยังแทบมองไม่เห็นอนาคตการแก้ปัญหานี้ “ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” มีโอกาสสอบถามมุมมองสถานการณ์ ความคาดหวังเชิงนโยบาย ไปจนถึงข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยโดยการนำของภาคการเมืองควรเริ่มต้นจริงจังตั้งแต่การเลือกตั้งที่จะถึงนี้

ภาพ PM 2.5 หากประเทศไทยยังแก้ไขแบบเดิม
ผศ.ดร.สุรัตน์ ระบุ ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้ง ขยะ น้ำเสีย หรือ PM 2.5 เกิดขึ้นจากที่เราใช้ทรัพยากร คำว่า “ใช้ทรัพยากร” หมายความว่า เราเอาอะไรก็ตามมาใช้ในการผลิต เพื่อวัตถุประสงค์ เพื่อผลผลิตซึ่งแน่นอนย่อมมีของเสียเกิดขึ้นตามมา แต่เราให้ความสำคัญกับคำว่า “ผลผลิต” กับ “ของเสีย” เท่ากันหรือไม่ ถ้าเท่ากัน ผลผลิตได้มากเท่าไหร่ ของเสียก็ควรจะน้อยลงให้มากที่สุดเท่านั้น

PM 2.5 เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ทรัพยากรไม่ว่าน้ำมัน เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือกระทั่งการกำจัดของเสีย (waste) ที่เกิดขึ้นจากการเกษตร ปกติอากาศมีฝุ่นอยู่แล้ว แต่เมื่อใช้มากเกินไป ผลิตผลผลิตมาก ของเสียก็ตามมาเยอะ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงเพิ่มตัวปริมาณของของเสียเข้าสู่สิ่งแวดล้อม กระทั่งวันหนึ่งอาจเจอว่าในสภาพของอากาศ หรือน้ำที่สัมผัสอยู่ในประเทศ มันเกินมาตรฐาน หรืออาจเกินสิ่งที่เรียกว่า “มนุษย์จะรับมันได้” และตามมาด้วยโรคภัย สิ่งมีชีวิตอยู่ไม่ได้แล้วจะมีแผ่นดินไว้ให้ใคร นั่นคือประเด็นสำคัญ

“PM 2.5 ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราไม่คำนึงถึง และปล่อยให้เยอะอยู่แบบนี้ สุดท้ายแล้วเราก็จะแย่ลงทุกวัน”

วันนี้เรียก “วิกฤติ” ได้หรือยัง
สำหรับนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมมีมุมมองเชิงสิ่งแวดล้อมคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่วิกฤติ หน้าที่หรือฟังก์ชัน ของตัวอากาศจะเปลี่ยนไป คำว่าเปลี่ยนไปหมายความว่า อากาศที่เคยหายใจได้ จะหายใจเข้าไปแล้วเกิดพิษภัย คำถามง่าย ๆ มีไหมในลักษณะแบบนี้ เชื่อว่าหลายคนคงมีข้อมูลอยู่ในมือ เคยรับทราบข้อมูลเหล่านี้ไปแล้ว นายแพทย์หลายท่านก็ออกมาพูดหรือกระทั่งในด้านสิ่งแวดล้อมที่ตนทำการทดลองเก็บตัวอย่างเองก็เริ่มมีแล้วว่าในอากาศของเรา มีสารประเภทก่อมะเร็งที่อยู่ในอากาศที่หายใจ นั่นเองจึงทำให้หน้าที่ หรือฟังก์ชันของตัวอากาศเริ่มแย่ลง

“ดังนั้น การแย่ลงของฟังก์ชันสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จึงเป็นคำตอบว่าวิกฤติ เรียกว่ามันปริ่มแล้ว มันใกล้ไปถึงตรงจุดนั้นแล้ว และถึงแม้จะไม่ใช่ตลอดเวลา แค่บางช่วงเวลา แต่อย่าลืมว่าถ้าประเทศไทยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คนที่อ่อนแอหรือคนที่มีอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ คนเหล่านี้ควรจะต้องได้รับการดูแลเช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่าเราจะต้องเอาฝุ่นเอาสิ่งที่แปลกปลอม ออกมาจากตัวอากาศของเราให้ได้”

ต้นกำเนิด-ช่วงเวลา สะท้อนให้ชัด แก้ไขให้ตรง
ผศ.ดร.สุรัตน์ ชี้การจัดการปัญหาปัจจุบันยังไม่มีอะไรเด็ดขาด หน่วยงานพยายามบอกว่า ลด Hotspot หรือตรวจวัดควันดำ เหล่านี้เป็นเพียงมาตรการ “ปลายเหตุ” ส่วน “ต้นเหตุ” ไม่ได้ดำเนินการแก้ไข หรือมีนโยบายชัดเจน วาระแห่งชาติก็ประกาศแล้ว แต่นโยบายที่มีประสิทธิภาพยังไม่ชัดเจน สังเกตได้จากผลการศึกษาผลการวิจัยที่ทำกันมาหลายปี ตนเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองในบรรยากาศ และนำเสนอผลงานวิจัยที่เรียกว่า ดีเอ็นเอ (DNA) ของฝุ่น

อธิบายดีเอ็นเอของฝุ่นคือ การไปหาว่าฝุ่น 1 เม็ด หรือฝุ่นที่เห็นมาจากกิจกรรมอะไร เพราะแต่ละประเภทมีดีเอ็นเอหรือองค์ประกอบทางเคมีไม่เหมือนกัน ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้จะชี้ให้เห็นว่าฝุ่นที่อยู่ ณ จุดหนึ่ง มาจากกิจกรรมอะไรมากกว่ากัน นี่จึงเป็นการนำมาซึ่งแหล่งกำเนิดของฝุ่นละออง ซึ่งผลวิจัยปรากฏว่า ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป แหล่งกำเนิดก็จะต่างกัน

ยกตัวอย่าง พื้นที่ กทม. เป็นฝุ่นจากการจราจร กิจกรรมต่าง ๆ ของ กทม.เอง ต้นฤดูกาลฝุ่นอยู่ในช่วง พ.ย.-ธ.ค. ช่วงนี้จะมีฝุ่นประเภทแรก หรือเรียกว่า “ฝุ่นหลังเที่ยงคืน” เป็นการสะสมในพื้นที่เอง จากนั้นช่วง ธ.ค.-ม.ค. จะมีปรากฏการณ์เรียกว่า “อินเวอร์ชัน” คืออากาศไม่ลอยตัวและค้างอยู่กับที่ หลายคนบอกเป็น “ฝาชี” ที่ครอบเหนือ กทม. ทำให้อากาศใหม่แทนที่ไม่ได้

ต่อมาช่วง ก.พ.-มี.ค. ฝุ่นจะเกิดจากการเผาทั้งชีวมวล เศษวัสดุทางการเกษตร จากนอกรอบ ๆ กทม. หรืออาจรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ลอยข้ามมา ฝุ่นเหล่านี้มีกระบวนการเกิดที่แตกต่างกันไป

อีกประเภทคือฝุ่น เรียกว่า ปฏิกิริยาเคมีในอากาศ จากการปล่อยพวกออกไซด์ของไฮโดรเจน หรือไฮโดรคาร์บอน ประกอบกับช่วงเวลาที่มีแสง จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีในบรรยากาศ เรียกว่า “ฝุ่นทุติยภูมิ” ที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป จุดสังเกตคือ ถ้าฝุ่นเหล่านี้เกิดขึ้นจะมีก๊าซโอโซนสูงตามมาด้วย

“สรุปว่าฝุ่นแต่ละประเภทมาจากต้นกำเนิดที่แตกต่าง จึงควรจะมีวิธีจัดการแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน” ผศ.ดร.สุรัตน์ ระบุพรุ่งนี้มาวิเคราะห์ต่อถึงการหาเสียงเรื่องฝุ่น ๆ ของพรรคการเมือง และนโยบายที่น่าขับเคลื่อน เพื่อลดสถานการณ์เลวร้ายในอนาคต.