เทศกาล “ปีใหม่ไทย” เทศกาล “สงกรานต์ 2566” ผ่านพ้น… “ผ่านพ้นช่วงหยุดยาว” แล้ว…คนไทยส่วนใหญ่ก็ต้องกลับมาทำงานทำอาชีพกันต่อไป… ทั้งนี้ หลายคนอาจมีภาระงานสะสมรออยู่หลังหยุดยาว และหลายคนก็อาจ “เนือยนิ่งหลังหยุดยาว” ที่ทำให้ “เสี่ยงปัญหาสุขภาพได้” โดยแนวทาง ลดความเสี่ยง เป็นเรื่อง ควรสนใจ นั่นคือการที่มีกิจกรรม…

การ เคลื่อนไหวร่างกายที่ดี-มีคุณภาพ
เพื่อจะ ช่วยป้องกันเกิดปัญหาสุขภาพ
สกัดบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ ต่าง ๆ

ทั้งนี้ กรณี “ปัญหาสุขภาพโรคภัยไข้เจ็บ” ที่เกิดจากการ “ขาดกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย” นั้นวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลมาสะท้อนต่อ ซึ่งเรื่องนี้ในระดับสากลก็มีการให้ความสำคัญ โดย องค์การอนามัยโลก ถึงกับมีการจัดทำ “ข้อแนะนำ” สำหรับ “การเคลื่อนไหวร่างกายที่ดีต่อสุขภาพ” ครอบคลุม 3 พฤติกรรม คือ… กิจกรรมทางกาย พฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับ ภายใต้กรอบเวลา 24 ชั่วโมง โดยประเทศที่ริเริ่มพัฒนาข้อแนะนำนี้ คือ แคนาดา ที่บุกเบิกกระบวนการเรื่องนี้สำหรับกลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น และก็เป็นตัวอย่างให้หลาย ๆ ประเทศพัฒนาข้อแนะนำนี้ของตนเองขึ้นมา

ในส่วนของ ประเทศไทย หลังมีผลสำรวจของหลาย ๆ หน่วยงาน พบว่า…ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทย 1 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ซึ่งข้อมูลของ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่สำรวจระดับกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่งติดต่อกันมาทุก ๆ ปี ได้พบข้อมูลว่า… คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเพิ่มขึ้นสูงถึงเกือบ 14 ชั่วโมงต่อวันและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่งอย่างเป็นระบบ และอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกัน “ปัญหา” ที่จะเกิดขึ้นจากการที่คนไทยนั้น…

“มีพฤติกรรมเนือยนิ่งนาน-มากเกินไป”

ขณะที่ข้อมูลใน เว็บไซต์ประชากร.คอม ระบุถึงการพัฒนา “ข้อแนะนำการเคลื่อนไหวร่างกายที่ดีต่อสุขภาพ” นี้ไว้ว่า… ประเทศไทยก็ได้มีการพัฒนาข้อแนะนำเรื่องนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อ ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย-ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ในกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่มวัยที่สำคัญ ได้แก่ 1.กลุ่มสตรีตั้งครรภ์และหลังคลอด 2.กลุ่มเด็กปฐมวัย (วัยแรกเกิด-5 ปี) 3.กลุ่มวัยเรียนและวัยรุ่น (อายุ 6-17 ปี) 4.กลุ่มผู้ใหญ่ (อายุ 18-59 ปี) และ 5.กลุ่มผู้สูงวัย (อายุ 60 ปีขึ้นไป)

นี่เป็นสถานการณ์เรื่องนี้ในประเทศไทย…
ที่ก็ ส่งเสริมคนไทยมีกิจกรรมทางกาย

และนอกจากพัฒนาข้อแนะนำเกี่ยวกับการ เคลื่อนไหวร่างกายเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพ แล้ว ในประเทศไทยก็ยังก้าวหน้าในเรื่องนี้ด้วยการจัดทำ แผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (พ.ศ. 2561-2573) โดย คณะกรรมการพัฒนาร่างแผนแม่บทการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ขึ้นมาด้วย เนื่องจากมองว่า กิจกรรมทางกายสำคัญ เป็นประโยชน์ทั้งต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมด้วย โดย กิจกรรมทางกาย หรือ Physical Activity คือการเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดการใช้และเผาผลาญพลังงานโดยกล้ามเนื้อ โดยควรเป็นกิจกรรมที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน

เป้าหมายการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นนี้ ก็คือเพื่อลด พฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary Behavior) ที่เป็นกิจกรรมทางกายที่ใช้พลังงานต่ำ เช่น การนั่งเล่นโทรศัพท์มือถือ การเล่นคอมพิวเตอร์นานเกินไป-มากเกินไป ซึ่งควรส่งเสริมให้ประชาชนลดพฤติกรรมดังกล่าวให้น้อยลง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาทางสุขภาพต่าง ๆ โดยในแผนแม่บทฯ ฉบับนี้ ได้มีการอธิบายเกี่ยวกับ กิจกรรมทางกาย ไว้ว่า…มีนิยามที่กว้างกว่าคำว่าออกกำลังกาย โดยจะหมายถึง การขยับเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเดินทาง และรวมถึงกิจกรรมนันทนาการ

ทั้งนี้ สำหรับ “ระดับกิจกรรมทางกาย” นั้น ในแผ่นแม่บทฯ อธิบายไว้ว่า… แบ่งได้ 3 ระดับ คือ… เบา ปานกลาง และหนัก โดยที่กิจกรรมทางกายระดับเบา จะมีอาทิ การยืน การเดินระยะสั้น การทำงานบ้าน กิจกรรมทางกายระดับปานกลาง คือ กิจกรรมที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยปานกลาง โดยระหว่างทำกิจกรรมยังสามารถพูดเป็นประโยคได้ เช่น การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน ส่วนกิจกรรมทางกายระดับหนักต้องเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยมาก โดยระหว่างทำกิจกรรมไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้ อาทิ การวิ่ง การว่ายน้ำเร็ว การเล่นกีฬา เป็นต้น …นี่เป็นข้อมูลระดับของกิจกรรมทางกาย

ขณะที่ในแง่ “ประโยชน์อื่น ๆ” ในการส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายที่ดีและมีคุณภาพนั้น แผนแม่บทฯ ได้แจกแจงไว้ว่า… กิจกรรมทางกายเป็นการลงทุนอันทรงพลัง ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ซึ่งให้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ ด้านการศึกษา ช่วยเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของเด็ก, ด้านเศรษฐกิจ ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งผลดีในการกระตุ้นการท่องเที่ยว, ด้านสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการเดินทางที่ต้องออกแรง เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน การใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ช่วยลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล ที่เป็นการช่วยลดมลพิษทางอากาศ

“ผ่านพ้นหยุดยาว” หลายคน เนือยนิ่ง
พฤติกรรม-แก้พฤติกรรม นี้ สำคัญ
มีผลร้าย-มีผลดี ได้อย่าง เกินคาด