ซึ่งเป็นการดูแลให้ครอบคลุมในทุกด้านของการรักษา ทั้งด้านร่างกาย จิตใจและสังคม มุ่งมั่นพัฒนาสู่การเป็น องค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านคลินิกกายอุปกรณ์เทียมชนิดซิลิโคน (Silicone Clinic)
พญ.ภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ระบุว่า ปัจจุบันแนวความคิดเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านคนพิการทั้งในประเทศและนานา ชาติ ได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีการออกแบบและผลิตกายอุปกรณ์ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว กรมการแพทย์ โดยสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ให้ความสำคัญกับปัญหาความทุกข์ทรมานใจของผู้ป่วย/คนพิการที่สูญเสียอวัยวะ
จึงมีเป้าหมายในการฟื้นฟูสมรรถ ภาพทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยการ ผลิตกายอุปกรณ์เทียมในมิติด้านความเสมือนจริงเพิ่มมากขึ้น นำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ผ่านการออกแบบและผลิตขึ้นแบบเฉพาะรายด้วยวัสดุชนิด “ซิลิโคน” ได้แก่ นิ้วมือ นิ้วเท้า มือเทียม รวมถึงเท้าเสริมส่วนหน้า ซึ่งสามารถทดแทนอวัยวะส่วนที่ขาดหาย ชดเชยหน้าที่การทำงานให้ใกล้เคียงปกติ คืนรูปร่างลักษณะที่สวยงาม ซึ่งมีความสำคัญทางด้านจิตใจและศักยภาพในการกลับคืนสู่สังคม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยและคนพิการที่สูญเสียอวัยวะจากอุบัติ เหตุ สภาวะรอยโรคหรือมีความพิการแต่กำเนิด
ปัจจุบัน สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้จัดให้มีบริการคลินิกซิลิโคน โดยรูปแบบการให้บริการเฉพาะด้านกายอุปกรณ์เทียม ชนิดซิลิโคน เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2555 โดยทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูฯ ประกอบด้วยแพทย์ นักกายอุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้บริการตรวจประเมินและออกแบบกายอุปกรณ์ให้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย/คนพิการแต่ละราย มีการใช้เทคโนโลยีและวัสดุซิลิโคนที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ในขั้นตอนการผลิต มีการตรวจสอบและประเมินก่อนนำไปใช้งานจริง นอกจากนี้ยังมีบริการแนะนำข้อมูลและติดตามผลการใช้งานอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้บริการด้านกายอุปกรณ์เทียม ชนิดซิลิโคน มีความโดดเด่นในหลายด้าน เช่น ออกแบบและผลิตขึ้นเฉพาะสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย, มีรูปร่างและลักษณะที่ใกล้เคียงกับอวัยวะที่เหลืออยู่ สีของกายอุปกรณ์เทียมคล้ายกับสีผิวของผู้ป่วย, มีความกระชับพอดีเฉพาะในแต่ละบุคคล, เล็บเสมือนจริง ถูกผลิตขึ้นทีละเล็บเพื่อให้คล้ายกับเล็บของผู้ป่วยในขณะเดียวกันสามารถทาสีหรือตกแต่งให้สวยงามตามความต้องการ และเมื่อเปื้อนคราบหมึกจากปากกาหรือสื่อสิ่งพิมพ์ สามารถเช็ดทำความสะอาดเพื่อให้คราบจางลงได้
โดยด้านการเข้าถึงบริการนั้น ทางหน่วยงานได้มีบริการให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นและการนัดหมายเข้ารับบริการผ่านทางระบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงข้อมูลและระบบบริการได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายมากขึ้น เป็นการอำนวยความสะดวกต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่สนใจหรือต้องการเข้ารับบริการ ทั้งนี้งานกายอุปกรณ์ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้ก้าวไปสู่องค์กรที่มีมาตรฐานการบริการและระบบการรักษาที่สามารถให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพได้อย่างครอบคลุมทั้งด้านหน้าที่การทำงานของอวัยวะ และความสวยงามทดแทนการขาดหาย เสริมสร้างความมั่นใจในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข.
อภิวรรณ เสาเวียง