เอกสารมากกว่า 50 ชุด ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ หรือที่เรีกกกันว่า เพนตากอน ตามชื่ออาคารหลัก ซึ่งมีการระบุบนชั้นความลับบนหัวกระดาษ ตั้งแต่ “ความลับ” ไปจนถึง “ความลับขั้นสุดยอด” หลุดรอดออกบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะบนกระดานสนทนา “ดิสคอร์ด” และเครือข่ายสังคมออนไลน์ “เทเลแกรม” ซึ่งเป็นที่นิยมในรัสเซีย ตั้งแต่ช่วงเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา มีเนื้อหาตั้งแต่แผนการหลายชั้นเกี่ยวกับยูเครน ไปจนถึงการสอดแนมพันธมิตรหลายประเทศ และนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ( ยูเอ็น )

อาคารเพนตากอน สถานที่ตั้งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ที่เมืองอาร์ลิงตัน ในรัฐเวอร์จิเนีย

สหรัฐยืนกรานว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งตรวจสอบ “ขอบเขตความเสียหาย” ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่เอกสารเหล่านั้นเล็ดลอดออดไปสู่สาธารณะ พร้อมทั้งย้ำ “ยังไม่ทราบด้วยว่า ผู้ก่อเหตุมีข้อมูลอื่นมากกว่าที่เผยแพร่ออกมาแล้วหรือไม่” อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบางส่วนได้รับการเผยแพร่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์ “มานานระยะหนึ่ง” แต่สื่อของสหรัฐ “เพิ่งค้นพบ” โดยเดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส เป็นสำนักข่าวใหญ่แห่งแรกของสหรัฐ ซึ่งนำเสนอเนื้อหาจากเอกสารเหล่านั้น เมื่อช่วงต้นเดือนเม.ย. นี้เอง

หนึ่งในเนื้อหาสำคัญจากชุดเอกสารดังกล่าว ระบุวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา เปิดเผยการสนทนาระหว่างนายยี มุน-ฮุย ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ผู้นำเกาหลีใต้ กับนายคิม ซอง-ฮัน ที่ปรึกษาด้านนโยบายความมั่นคงแห่งชาติในเวลานั้น เกี่ยวกับความวิตกกังวลของรัฐบาลโซล ว่าสหรัฐ “อาจไม่ใช่คนสุดท้ายที่ใช้งานกระสุนปืนใหญ่ของเกาหลีใต้” หากมีการขายให้

ทหารยูเครนตรวจสอบกระสุนปืน ภายในโรงเก็บเครื่องบิน “อันโตนอฟ อัน-225” ที่เมืองโฮสโตเมล ใกล้กับกรุงเคียฟ

บทสนทนาของบุคคลทั้งสอง ตอกย้ำรายงานที่เคยเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ว่ารัฐบาลวอชิงตัน “ต้องการซื้อ” กระสุนปืนใหญ่จากเกาหลีใต้ เพื่อนำไปส่งต่อให้ยูเครน กระนั้น รัฐบาลโซลใต้ยืนกรานปฏิเสธมาตลอด

ขณะเดียวกัน ทีมงานของผู้นำเกาหลีใต้มีความวิตกกังวลว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ จะกดดันผู้นำเกาหลีใต้โดยตรง จากการที่ยุนมีกำหนดเยือนกรุงวอชิงตันอย่างเป็นทางการ ช่วงปลายเดือนเม.ย. นี้ นอกจากนั้น รัฐบาลโซลมีนโยบายที่ยึดมั่นมานาน ว่าจะไม่ขายอาวุธร้ายแรงให้แก่ประเทศใด ดังนั้น หากมีการปรับเปลี่ยนท่าทีอย่างฉับพลัน ท่ามกลางกระแสข่าวที่ยังไม่จางหาย ย่อมต้องทำให้ทุกฝ่ายที่ติดตามมองว่า “เป็นผลจากแรงกดดัน” ของสหรัฐ และแน่นอนว่า “จะไม่เป็นผลดี” กับภารกิจของผู้นำเกาหลีใต้ที่กำลังจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลวอชิงตันไม่เคยปิดบัง ว่าต้องการให้เกาหลีใต้ร่วมการส่งมอบอาวุธให้ยูเครนด้วย เนื่องจากเชื่อว่า ศักยภาพของเกาหลีใต้ในการผลิตอาวุธได้อย่างรวดเร็ว น่าจะช่วยปรับเปลี่ยนโมเมนตัมของการสู้รบระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปีได้ไม่มากก็น้อย

ด้าน “ดงอา อิลโบ” หนึ่งในหนังสือพิมพ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลโซล เกี่ยวกับการบรรลุข้อตกลงให้สหรัฐ “ยืม” กระสุนปืนใหญ่อัตตาจรขนาด 155 มิลลิเมตร จำนวน 500,000 นัด แทน “การขาย” เพื่อลดความเป็นไปได้ และ “ความเสี่ยง” ของการที่อาวุธของเกาหลีใต้ จะถูกนำไปใช้โดยตรงในสมรภูมิยูเครน

แม้แหล่งข่าวเน้นย้ำว่า กระสุนทั้งหมดที่ให้ยืมนั้น จะเป็น “การใช้งานโดยกองทัพสหรัฐเท่านั้น”แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง นัยว่าเป็นการ “เลี่ยงบาลี” เกี่ยวกับการมอบความสนับสนุนด้านอาวุธ จากเกาหลีใต้ให้แก่ยูเครน “โดยตรง” ซึ่งจะสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงความสัมพันธ์กับรัสเซีย เนื่องจากประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เคยเปรียบเทียบว่า “ถ้ารัฐบาลมอสโกทำแบบนี้กับเกาหลีเหนือบ้าง รัฐบาลโซลจะรู้สึกอย่างไร”

เจ้าหน้าที่เอฟบีไอควบคุมตัว นายแจ็ค ดักลาส เตเซียรา วัย 21 ปี เจ้าหน้าที่สังกัดกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิทางอากาศ ประจำรัฐแมสซาชูเซตส์ ฐานเป็นผู้ต้องสงสัยจารกรรมเอกสารลับของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ

ไม่ว่าเนื้อหาทั้งหมดจากเอกสารของเพนตากอนซึ่งหลุดออกมาครั้งนี้ จะเป็นข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด แต่เรื่องราวในส่วนของเกาหลีใต้สะท้อนความหวาดหวั่นของรัฐบาลโซลที่มีมานาน ในการรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ ที่ด้านหนึ่งคือสหรัฐ ส่วนอีกด้านคือรัสเซียและจีน ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องนี้อาจส่งผลกระทบถึงสถานการณ์กับเกาหลีเหนือด้วย

กระนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า เกาหลีใต้และอีกหลายประเทศ ที่มีชื่อปรากฏอยู่ในเอกสารทั้งหมดซึ่งหลุดออกมา ต่างออกมาปฏิเสธเนื้อหาในรายงาน แต่ยอมรับว่า “เป็นเรื่องซีเรียส” ขณะที่สหรัฐซึ่งเป็นเจ้าของเอกสารทั้งหมด กลับยังคงอยู่ในภาวะ “น้ำท่วมปาก” กับเรื่องที่เกิดขึ้น แม้จับกุมผู้ต้องสงสัยได้แล้วซึ่งเป็น “คนใน” มีเพียงรัสเซียซึ่งกล่าวอย่างมีนัยว่า “น่าสนใจ”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, REUTERS