รูดม่านปิดฉากเป็นที่เรียบร้อย แต่ก็ยังมีควันหลงน่าสนใจหลายกรณี กับงานมหกรรมแสดงรถยนต์งานใหญ่รายการหนึ่ง ที่ในปีนี้บรรยากาศกลับมาคึกคักแบบเต็มสูบอีกครั้ง หลังจากในช่วงที่ผ่านมาการจัดงานทำได้ไม่เต็มที่นักเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และก็แน่นอนว่า…นอกจากบรรดาค่ายรถหลากหลายยี่ห้อจะคัดสรรนำรถมากมายหลากหลายรุ่นมาประชันกันอย่างครบเครื่องแล้ว หนึ่งในสีสันที่อยู่คู่กับงานจัดแสดงรถ คือบรรดา “พริตตี้” ปีนี้บรรยากาศก็กลับมาครึกครื้นละลานตาอีกครั้งเช่นกัน ซึ่งแต่ละค่ายต่างก็มีการดึงตัวพริตตี้มาประจำการในบูธของตัวเอง ทั้ง “พริตตี้ดาวรุ่ง” ทั้ง “พริตตี้ตัวท็อป” และรวมถึง “พริตตี้มากประสบการณ์” ที่เปรียบเป็น “รุ่นพี่” ในวงการนี้…ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปเจาะลึกเบื้องหลังเส้นทางนี้ของเหล่า “พริตตี้รุ่นพี่” ว่า…อะไรที่เป็น ปัจจัย ทำให้พริตตี้เหล่านี้ยังคง ยืนระยะอยู่ได้ในวงการ ที่นับวันยิ่งมีการแข่งขันกันสูง…

เริ่มจาก “แพร-แพรพิไล ดุษฎีโสภาพร” ที่ยืนระยะกับ “อาชีพพริตตี้” นี้มายาวนานมากกว่า 10 ปี โดยเธอผ่านการทำงานให้กับแบรนด์และองค์กรต่าง ๆ มาแล้วอย่างโชกโชน สินค้าและบริการที่เธอเคยร่วมงานด้วยนั้นมีทั้งธนาคาร, เครื่องดื่ม, สายการบิน, มือถือ, น้ำมัน, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์-เครื่องใช้ไฟฟ้า และไอที, ความงาม, อาหาร-ของกิน รวมถึงค่ายรถยนต์ค่ายต่าง ๆ โดยนอกจากทำงานเป็นพริตตี้ และเอ็มซีแล้ว เธอยังทำงานเบื้องหลังเป็น อีเวนต์ ออร์แกไนซ์ ด้วย ทั้งนี้ แพรบอกเล่าว่า ช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ชีวิตของเธอก็ต้องลำบากอย่างหนัก เพราะขาดรายได้ จนเมื่อโควิด-19 ซาลง แม้จะยังฟื้นกลับมาได้ไม่เต็มร้อย แต่ก็ดีขึ้นกว่าช่วงนั้นมาก ช่วง 2 ปีแรกที่มีโควิด ปีแรกนั้นนิ่งสนิทตายคาที่ไปเลย เรียกว่านอนอยู่บ้านเพราะไม่มีงานทำจนหมอนขาดเลย (หัวเราะ) ทำให้ช่วงนั้นแพรต้องปรับตัวโดยขายของออนไลน์ และก็ทำให้เรารู้ว่าเรามีศักยภาพด้านอื่น ๆ ที่สามารถนำมาทำเป็นการเป็นงานเลี้ยงชีพได้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณโควิด เพราะถ้าไม่มีโควิด เราก็คงไม่สามารถรีดศักยภาพตัวเองออกมาได้มากเท่านี้ คงไม่รู้ว่าเราก็มีความสามารถด้านนี้ แพร พริตตี้รุ่นพี่ ระบุ

แพร

พร้อมกับเล่าย้อนถึงการเข้ามาสู่ “เส้นทางพริตตี้” ว่า ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีรุ่นพี่ทำงานออร์แกไนเซอร์ แต่ขาดคนช่วยทำงาน เธอเลยขอเข้าไปช่วย แต่รุ่นพี่คนนั้นมองเห็นว่าแพรมีหน่วยก้านดี อีกทั้งเธอยังเป็นคนที่ตัวสูง ซึ่งยุคนั้นคนที่จะเป็นพริตตี้จะต้องสูง 175 เซนติเมตร รุ่นพี่จึงได้แนะนำให้เธอทำงานพริตตี้และเป็นเอ็มซีดีกว่า โดยได้สอนงานให้เธอ ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของเธอในอาชีพนี้ ทำให้แพรคลุกคลีอยู่ในแวดวงนี้มาตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ปี 1 โดยเธอกล่าวว่า ตอนนั้นรู้สึกดีที่ทำงานหาเงินได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง แต่ปรากฏว่าป๊า คุณพ่อของแพร กลับไม่ได้แฮปปี้เหมือนกับเธอ ป๊าไม่แฮปปี้เลยค่ะ ด้วยความที่ยังไม่เข้าใจคำว่าพริตตี้ ทำให้แพรต้องแอบทำงานนี้ โดยมักอ้างว่าไปช่วยงานรุ่นพี่ จนผ่านมาถึงระยะเวลาหนึ่ง ทางม้า คุณแม่ ก็แนะนำให้แพรบอกป๊าไปเลยว่าเราทำงานในอาชีพนี้ โดยให้ย้ำว่านี่คืองานของแพร แพรเลยตัดสินใจบอกป๊า โดยได้อธิบายให้ป๊าฟังว่า งานที่เรารับทำส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าชาเขียว เป็นครีมทาผิว หรือไม่ก็นม จึงไม่ต้องไปอยู่ในวงผู้ชายเท่าไหร่ ทำให้ป๊าจึงเข้าใจงานที่เราทำอยู่นี้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าในยุคแรก ๆ นั้นสังคมมักจะมองภาพลักษณ์ของคนที่ทำอาชีพพริตตี้ไม่ค่อยดีนัก เพราะมองว่าเป็นพริตตี้จะต้องแต่งตัวโป๊ ๆ แพร เล่าเรื่องนี้

ในฐานะ “รุ่นพี่ในวงการ” แพรได้อธิบายถึง การอัปค่าตัวพริตตี้ ให้ฟังว่า หากอยากอัปค่าตัวตนเองให้มีเรตราคาเพิ่มขึ้นนั้น สิ่งที่พริตตี้คนนั้นจะต้องมีก็คือ ต้องมีความสามารถ ต้องหมั่นพัฒนาตัวเอง ต้องรู้จักอดทน ต้องตรงต่อเวลา โดยเปรียบเทียบกับตัวเธอเองว่า เธอไม่ใช่คนสวยถ้าเทียบกับคนรุ่นเดียวกัน แถมหน้าตายังดูธรรมชาติ เพราะไม่เคยผ่านการทำศัลยกรรมอะไรเลย แต่สิ่งที่ทำให้เธออยู่ได้มาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ความตั้งใจ ขยันเรียนรู้ และอดทน ที่สำคัญคือเรื่องของเวลา ซึ่งตัวเธอนั้น ถ้ามีงาน เธอมักจะไปก่อนเวลาทำงานเสมอ เช่น หากนัดบ่ายโมง เธอก็มักก็จะไปถึงก่อนครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม นอกจากนั้น พริตตี้ที่ดีคือคนที่ ต้องทำการบ้านกับงานที่ทำเสมอ เช่น ถ้าสินค้าที่รับงานเป็นสินค้าประเภทชา ถ้าเราไม่รู้พื้นฐานของชานี้ว่าเป็นอย่างไร เราก็อาจจะพรีเซ็นต์สินค้าได้ไม่ดีนัก… 

แพร ตอนทำหน้าที่พริตตี้รถ

ขอพูดเป็นกลาง ๆ แล้วกัน บางคนเขาก็จะมองแค่รูปร่างหน้าตา เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้อัพค่าตัวได้ง่ายกว่าการโชว์เรื่องความสามารถ เพราะการจะทำให้คนที่จ้างยอมรับความสามารถ มันก็ต้องมีเวลา มีพื้นที่ที่ทำให้เขาเห็นก่อน แต่ถ้าเป็นหน้าตามันจะง่ายกว่า เช่น คนนี้หน้าตาสวย ฉันให้ราคาแพงกว่า แม้ยังไม่รู้ว่าทำงานเป็นยังไง แต่แพรรู้ดีว่า เราไม่ใช่คนหน้าตาสวยมาก คนจ้างก็จะต้องลองใช้งานเราดูก่อน ถ้าเราดีจริง ครั้งต่อไปค่าตัวของเราก็จะเพิ่มขึ้นตามคุณภาพของงาน ส่วนความแตกต่างระหว่างยุคก่อนกับยุคนี้ ส่วนตัวแพรมองว่า พริตตี้สมัยนี้กับอดีตต่างกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องหน้าตา ซึ่งสมัยก่อนคนที่หน้าตาพอใช้ได้ก็สามารถเป็นพริตตี้ได้ แต่สมัยนี้ต้องสวย ต้องสวยแบบจริงจัง ทำให้ยุคนี้พริตตี้จึงต้องแห่กันไปทำศัลยกรรม เพื่อให้หน้าตาสะสวยโดดเด้งออกมา เพื่อให้แข่งขันกับคนอื่นได้ และอีกจุดที่ต่างกันจากในอดีตคือ พริตตี้ยุคนี้เข้าเร็วออกเร็ว ทำให้ในวงการตอนนี้จะมีหน้าใหม่หมุนเวียนเข้ามาตลอด

และ “แพร-แพรพิไล ดุษฎีโสภาพร” พริตตี้มากประสบการณ์ ยังทิ้งท้ายว่า เธอรู้สึกโอเคกับอาชีพพริตตี้มาก เพราะเป็นอาชีพอิสระ และเป็นอาชีพที่ไม่เคยทอดทิ้งเธอเลย โดยแม้จะเคยลองทำอาชีพอื่น ๆ อาทิ งานผู้ประกาศข่าวกีฬา หรือสายงานอื่น ๆ ก็ตาม แต่เธอก็ไม่ค่อยรู้สึกดีเหมือนกับงานพริตตี้ เช่น บางครั้งรู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศการทำงานที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แถมบางครั้งยังรู้สึกว่าคนทำงานมักไม่ค่อยได้ดีเพราะค่าของคน แต่อยู่ที่คนของใคร ไม่ใช่อยู่ที่ผลของงาน อาชีพพริตตี้นั้น ต่อให้คุณเป็นคนของใคร ถ้าคุณทำงานไม่เก่ง ก็ยากที่จะยืนระยะอยู่ได้นาน อาชีพนี้ไม่เคยหักหลัง หรือทอดทิ้งเราเลย แม้ในวันที่เรากลับมาตั้งต้นใหม่ในอาชีพนี้ ก็ยังมีคนสนับสนุน และยังเป็นผลงานที่ส่งต่อให้คนพูดถึงจนทุกวันนี้ ถึงแม้เราจะไม่ใช่คนของใครเลยก็ตาม แต่ลูกค้าก็ยังยอมรับ และเรียกใช้งานเราตลอด ซึ่งขอแค่คุณตั้งใจมุ่งมั่นในงานที่ทำ มีวินัย และอัปเดตตัวเองให้ไม่หยุดนิ่ง เส้นทางนี้ก็มีที่มีทางให้คุณเดินต่อได้แน่ เป็น “คัมภีร์อาชีพ” ที่ “พริตตี้รุ่นพี่” รายนี้แนะนำไว้

แนน

ทางด้าน “พริตตี้รุ่นพี่” อีกคน คือ “แนน-พิมพ์ลดา กีรติทัศนวัฒน์” ที่ก็มีดีกรีชั่วโมงบินสูงไม่แพ้กัน ได้เล่าถึงเส้นทางของเธอในอาชีพนี้ให้ฟังว่า เริ่มเข้าวงการพริตตี้ตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 โดยมีคนมาชวนไปแคสต์งาน ซึ่งงานแรกที่ได้คือการทำงานเป็นเอ็มซี ซึ่งเธอจะต้องพรีเซ็นต์งานของลูกค้า ทำให้เธอต้องไปศึกษาและจดว่าสินค้าตัวนั้นมีสเปก มีส่วนประกอบ หรือมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ซึ่งตอนนั้นถือว่ายาก แต่ก็ทำให้เธอได้เรียนรู้ ได้บทเรียนที่ดีมากมาย ขณะที่งานต่อมาคือ การเป็นพิธีกรให้กับห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง และหลังจากที่เริ่มมีเพื่อน ๆ พริตตี้มากขึ้น บางคนก็ช่วยแนะนำงานให้กันก็มี ส่วนงาน “พริตตี้รถ นั้น แนนเล่าว่า ยิ่งเป็นงานใหญ่ การแข่งขันยิ่งสูง งานแสดงรถยนต์ที่ถือเป็นงานใหญ่นั้น ถ้าเป็นงานระดับนี้ บางครั้งต้องแคสต์งานกับพริตตี้คนอื่น ๆ จากหลัก 100 จนเหลือเพียงแค่ 6 คนก็มี …เป็นประสบการณ์ที่แนนบอกเล่า

ทั้งนี้ แนนเล่าอีกว่า ตอนแรกตั้งใจจะเลิกทำงานนี้ ตั้งแต่ช่วงก่อนมีโควิด-19 ระบาด เพราะตอนนั้นรู้สึกอิ่มตัว จึงหันมาทำงานด้านออนไลน์ เพราะครอบครัวแฟนของเธอมีธุรกิจเกี่ยวกับร้านทอง เธอจึงช่วยดูแลด้านนี้ให้กับธุรกิจของทางบ้านของแฟน โดยในโลกออนไลน์นั้นแนนได้ตั้งชื่อใหม่ให้กับตัวเอง เพื่อจะจับกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่น เพราะสินค้าที่นำมาจำหน่ายผ่านทางออนไลน์นั้นจะเป็นแผ่นทองรูปแบบน่ารัก ๆ ตามเทศกาลและปีนักษัตร อย่างไรก็ตาม งาน “อาชีพพริตตี้” นั้น แนนบอกว่า ตอนนี้ก็ยังมีรับงานอีเวนต์อยู่บ้าง แต่จะเน้นรับงานที่เป็นลูกค้าเก่า ๆ ที่เคยทำงานร่วมกันมานาน จะไม่ได้ไปแคสต์งานใหม่ ๆ เหมือนแต่ก่อนแล้ว ซึ่งในมุมมองของตน สถานการณ์ตอนนี้ของวงการพริตตี้ดูดีขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เหมือนกับตอนที่มีโควิด-19 ระบาดมาก ซึ่งที่เห็นความแตกต่างหลังจากผ่านโควิด-19 มา พบว่า เวลานี้มีพริตตี้หลายคนหันมารับงานรีวิวสินค้า หรือไลฟ์สดกันเยอะมากขึ้น

แนน ตอนทำหน้าที่พริตตี้รถ

ส่วนมุมมอง “วิธีอัปค่าตัว” นั้น วิธีที่เธอใช้คือต้องพยายามเก็บและอัปเดตโปรไฟล์ตัวเองเสมอ โดยเฉพาะแบรนด์ที่เด่น ๆ ซึ่งจะช่วยทำให้เวลาที่คนจ้างนำพอร์ตงานไปเปรียบเทียบ จะทำให้ดูดีมีภาษีมากกว่าคนอื่น ๆ เพราะผ่านแบรนด์ดัง ๆ มาแล้ว นอกจากนี้ ต้องศึกษาภาพลักษณ์และคาแรกเตอร์ของแบรนด์ นั้น ๆ ด้วย เพื่อให้สามารถพรีเซ็นต์ได้อย่างเข้าใจและดีที่สุด ขณะที่ คุณภาพของงาน ความตรงต่อเวลา ก็เป็นหัวใจของคนที่ทำอาชีพนี้ เพราะถ้าลูกค้าหรือคนจ้างประทับใจในการทำงานก็จะมีการบอกกันปากต่อปาก หรือมีการให้เครดิตพริตตี้คนนั้นเวลาที่มีคนสอบถามประวัติการทำงานเข้ามา และอีกอย่างคือ ต้องรู้จักเรียนรู้ปรับปรุงตัวเองเสมอ อย่างเธอเองก็มีการเรียน หรือเทรนคอร์สต่าง ๆ เช่น บุคลิกภาพ เพราะอาชีพนี้เรื่องนี้สำคัญมาก ๆ กับการทำงาน อย่างเรื่องการพูด การออกเสียงออกคำให้ชัดนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญ แถมทำให้มีเสน่ห์เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งด้วย อีกอย่างการจะอัปค่าตัวได้พริตตี้ก็ต้องพัฒนาตัวเอง และต้องมีศักยภาพในการทำงานที่ดี จนทำให้คนที่จ้างเขามองว่าคุ้มค่าที่จะให้ ส่วนเรื่องประสบการณ์นั้น ก็จะช่วยในเรื่องความมั่นใจ ความมีไหวพริบ และช่วยให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี

ทิ้งท้าย กับมุมสะท้อนของ “พริตตี้มากประสบการณ์” ที่ชื่อ “แนน-พิมพ์ลดา กีรติทัศนวัฒน์” เธอบอกว่า งานพริตตี้เป็นงานที่ทำแล้วจบ พอมีงานใหม่ก็ทำใหม่ เป็นแบบนี้ ซึ่งถึงแม้หน้าตารูปร่างจะช่วยเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้าเลือกจ้างเรา แต่สุดท้ายแล้ว คุณภาพการทำงานเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินว่าเราจะได้ทำงานหรือไม่…โลกของพริตตี้…บางคนก็มองอาชีพพริตตี้ในแง่ลบ ในเชิงดูถูกก็เยอะแยะนะ ซึ่งสำหรับแนน ถ้าหากมีใครมาพูดแบบนี้เราก็จะบอกว่า งานพริตตี้ ใช่ว่าหน้าตาสวยแล้วจะมาเป็นพริตตี้ได้เลย แต่จะต้องฝึกฝน ต้องเรียนรู้การทำงานเช่นเดียวกับงานอื่น ๆ เหมือนกัน…

งานพริตตี้ก็มีคุณค่าไม่ต่างกับงานอื่น.

แนนกับอาชีพขายอาหาร

ต้องมี ‘แผนชีวิต’ ล่วงหน้า

แม้ “อาชีพพริตตี้” จะเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ “ได้เงินดี-ได้เงินเร็ว” และต่อให้ยืนระยะได้นาน แต่ก็ต้องยอมรับว่า “ไม่ยืนยง” จึงต้องมี “แผนชีวิต” รองรับ อย่าง พริตตี้รุ่นพี่ คือ “แพร-แพรพิไล” และ “แนน-พิมพ์ลดา” ก็มีการ วางแผนชีวิตล่วงหน้า ไว้ให้ตัวเองในยามที่ต้องโบกมือลาเส้นทางนี้ โดยในส่วนของ แนน เธอบอกว่า เริ่มจาก พยายามเก็บออม เก็บเงินที่หามาได้จากการทำงาน เพื่อไว้ใช้เป็นเงินสำรองฉุกเฉินยามจำเป็น เป็นเงินทุนในอนาคต ซึ่งแม้ยังไม่ได้จริงจังมากด้านธุรกิจ แต่ก็ได้ชิมลางบ้างแล้ว รวมถึงทำขายออนไลน์ ขณะที่ แพร บอกว่า ก็พยายามเก็บเงิน และมองหาลู่ทางเตรียมไว้ในอนาคต โดยคุณแม่อยู่ต่างจังหวัด จึงตั้งใจจะเปิดร้านซักผ้าแบบหยอดเหรียญ และอาจลงทุนกับน้องเปิดคาเฟ่เก๋ ๆ สักร้านหนึ่ง โดยเธอย้ำว่า ไม่ได้คิดวางแผนใหญ่โต แต่การงานที่ผ่านมาเป็นชีวิตที่ต้องเร่งรีบมาก จึง อยากใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์หลังเกษียณจากอาชีพพริตตี้.