โดย “นิมิตร์” แกนนำเครือข่ายประชาชนฯ ออกมาเปิดประเด็นว่า จากการสแกนนโยบายจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ส่วนใหญ่หนีไม่พ้น “ประชานิยม” และในหลายต่อหลายเรื่อง โดยเฉพาะนโยบายสุขภาพที่พรรคการเมืองต่าง ๆ เสนอมานั้น เรียกว่าไม่ได้ทำการบ้านกันมา!

นโยบายที่เกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ หรือนโยบายสาธารณะ ยังไม่เห็นตัวอย่างว่าจะทำได้จริง ยกตัวอย่างที่พูดถึงการจะยกระดับบัตรทอง บัตรประชาชนใบเดียวไปได้ทุกที่ คิดว่านักการเมืองต้องทำการบ้านมากกว่านี้ เพราะสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ มันไปไกลกว่านี้แล้ว แต่นักการเมืองไม่ทำการบ้านพวกนี้ เลยดูผิวเผินมากเวลาที่พูดนโยบายด้านสุขภาพออกมา หรือแม้กระทั่งเรื่องนโยบายศูนย์ฟอกไตทุกอำเภอนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่พอไม่มีการลงรายละเอียดว่าจะทำอะไร อย่างไรบ้างทำให้เกิดคำถามหลายอย่าง เช่น บุคลากรที่จะมาทำตรงนี้ 

ส่วนเรื่องประกันรายได้ เรื่องบำนาญ แต่ละพรรคมีการพูดถึงอยู่บ้าง ถ้ามองคือ “ก็ยังดีที่พูด” แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าพูดแล้วทำให้เห็นรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร พรรคการเมืองเอาอย่างไร เช่น ต้อง “ถ้วนหน้า” ไม่ใช่ว่าเลือกเฉพาะคนจนเท่านั้น หลักการต่อมาคือ “พอเพียง” ต้องคิดว่าจะต้องเป็นตัวเลขเท่าไหร่ถึงจะทำให้ผู้สูงอายุอยู่ได้ ซึ่งบางพรรคบอกว่า 1,000 บาท บางพรรคบอก 1,800 บาท หรือ 3 พัน 5 พัน ต้องทำการบ้านมากกว่านี้ และต้องทำให้ต่อเนื่อง ระยะยาว ไม่ใช่เป็นประชานิยม

ดังนั้น ต้องบอกให้ชัดว่าจะแก้กฎหมายผู้สูงอายุ หรือเสนอ พ.ร.บ.บำนาญ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน และในกฎหมายต้องมีที่มาที่ไป ซึ่งมีผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคมอยู่แล้ว ดังนั้นตอนทำนโยบายแต่ละพรรคก็ควรกลับไปดูหน่อยว่ามีต้นทุนของสภาชุดที่แล้วทำไว้อย่างไร ถ้าจะทำก็ไปหยิบอันนั้นมาแล้วบอกว่าจะสนับสนุนหรือไม่ ซึ่งผลการศึกษาบอกไว้เลยว่าใช่งบประมาณจากตรงไหน กี่เปอร์เซ็นต์ เป็นรูปธรรมชัดเจน

“เพราะฉะนั้นก็ต้องบอกกับเราประชาชนว่า จังหวะเวลาแบบนี้ ถ้านักการเมืองไม่ทำการบ้าน เราก็ต้องทำการบ้านว่า นักการเมืองที่มาหาเสียงตอนนี้มีใครที่ทำการบ้านมา ใครเอาจริง ใครพูดลอย ๆ พรรคการเมืองต้องมีคุณภาพ ทำการบ้านกับนโยบายที่ตัวเองหาเสียงมา”

@ นโยบายพรรคการเมืองที่เสนอกันมานั้นมีเรื่องใหม่ ๆ หรือไม่

มีเรื่องบำนาญที่คิดว่าใหม่ อย่างพรรค คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็เสนอ แต่มีข้อบกพร่องว่า ยังไม่ถ้วนหน้า ให้เฉพาะคนยากจน ของ พรรคก้าวไกล ก็เซตว่า รัฐสวัสดิการจะใช้ภาษีตรงไหน แต่ก็ยังกล้า ๆ กลัว ๆ กว่าจะได้ 3 พันบาท ก็อีกตั้ง 3 ปี แต่ถือเป็นความใหม่ ที่ทำการบ้านว่า จะจัดการเรื่องภาษีอะไร ส่วนอันอื่น ๆ ยังไม่เห็นความใหม่ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ ที่ควรจะไปไกลกว่านี้ว่า จะลดความเหลื่อมล้ำของแต่ละกองทุนอย่างไร จะแก้ปัญหาผู้ประกันตนยังเป็นพลเมืองชั้น 2 ของสังคมอย่างไร ดังนั้น ไม่มีใครทำโดนใจ ยิ่งเสนอแบบไม่เห็นรายละเอียดก็สร้างภาระ

@ มองว่าที่เสนอมาตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประชาชนหรือไม่

นโยบายที่พูดมา บางอย่างแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เมื่อลงทุนไปแล้วผลที่ได้ควรเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวได้ อย่างเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทนั้น ใช้ตั้ง 4-5 แสนล้านบาท แล้วก็ใช้แค่ครั้งเดียว แต่ทำไมไม่ใช่ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการทำบำนาญไปเลย เพราะบำนาญพื้นฐานก็ใช้เงินประมาณ 4 แสนล้านบาท ผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน คนละ 3 พันบาทต่อเดือน เรื่องนี้ พรรคการเมืองต้องมองระยะยาวด้วย เพราะจะเข้ามาบริหารบ้านเมืองตั้ง 4 ปี ก็ไม่ควรเล่นระยะสั้น ๆ ไม่ฉาบฉวย เราถือว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่เราจะหลุดออกจากกรอบ คสช.ก็ดี รัฐบาลทหารก็ดี จังหวะนี้ถ้าพรรคการเมืองได้เสียงข้างมากเยอะหน่อย การเปลี่ยนแปลงจะเกิดได้หากแต่ละพรรคช่วยกันทำนโยบายที่จับต้องได้

เรื่องเงินดิจิทัลคนในเมืองอาจจะใช้ได้ แต่ประเทศไทยไม่ได้มีแค่คนในเมือง ยังมีคนชนบท ทุกคนมีมือถือที่รองรับได้ทุกคนหรือไม่ การกำหนดรัศมีการใช้เงิน 4 กม. รวมถึงข้อจำกัดการใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งนี้ การโยนเงินให้คนเหมือนให้ทุกคนถูกลอตเตอรี่สักตัว แต่มันจบครั้งเดียว โอเคคนก็ชอบ แต่มันจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

@ การที่พรรคการเมืองออกนโยบายประชานิยมจำนวนมาก สะท้อนว่าเขามองประชาชนเป็นอย่างไร

พูดง่าย ๆ เหมือนเขาเอาเงินมาซื้อกัน หวังแค่ “ทุกคนเอาเว้ย ได้หมื่นหนึ่ง น่าสนใจ” แต่ผมไม่อยากให้เป็นเหมือนไฟไหม้ฟาง วูบเดียวแล้วจบ แต่อยากให้เซตระบบระยะยาวมากกว่า ลองเปรียบเทียบโครงการคนละครึ่ง ที่ทำเป็นครั้งคราว ถึงจะมีรอบสอง รอบสาม แต่ก็มาวูบวาบ ดังนั้น นโยบายแจกเงิน เราไม่รู้ว่าหมื่นที่สองจะตามมาหรือไม่ แต่หากทำระบบหลักประกันรายได้ที่ชัดเจน ทุกคนได้แน่ ทุกเดือน จะมากจะน้อยก็ว่ามา ซึ่งจะทำให้วางแผนได้ ดังนั้นอยากให้คิดยาว ๆ เงิน 4 -5 แสนล้านบาท เอามาเป็นจุดตั้งต้นในเรื่องของบำนาญผู้สูงอายุ แล้วอย่าคิดว่าจะได้แค่คนแก่แล้วครอบคลุมคนน้อยกว่า หลักการเงินตรงไปที่ผู้สูงอายุก็จริง แต่เขาอยู่กับลูกหลาน พึ่งพาลูกหลาน เมื่อเขาได้เงินเดือนตรงนี้ การพึ่งพาก็จะน้อยลง ลูกหลานก็มีเงินใช้จ่ายอย่างอื่นที่จำเป็นมากขึ้น เรามองว่านี่เป็นเครื่องมือที่จะหยุดส่งต่อความยากจนได้

@ มีนโยบายอะไรที่พรรคการเมืองยังไม่ได้พูดกับประชาชนอย่างชัดเจน

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เราอยากฟังให้ชัดว่าจะแก้อย่างไร และอยากให้เรื่องหลักประกันรายได้นี้เข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เห็นพูดเรื่องนี้เลย ส่วนมากจะพูดแต่โครงการที่ล่อตาล่อใจ แต่ไม่พูดระยะยาวว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร จะเอาอย่างไรกับ ส.ว. พูดกันน้อยมากในการหาเสียง ทั้งที่คิดว่าพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นคือการเป็นประชาธิปไตยที่พูดชัดเจนว่า สิทธิหลักประกันของประชาชนที่จะได้รับสวัสดิการอยู่ตรงไหนของรัฐธรรมนูญ

@ ฝากอะไรถึงพรรคการเมือง นักการเมือง และประชาชนกับการเลือกตั้งครั้งนี้

กับพรรคการเมืองนั้น ผมคิดว่าจำเป็นที่เราอาจจะต้องทำให้เห็นภาพว่า ส.ส.ไม่ได้มีหน้าที่แค่บอกว่าท้องถิ่นจะดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง แต่ ส.ส.มีหน้าที่ดูภาพรวมของประเทศ เราจะเปลี่ยนแปลงประเทศ เดินไปข้างหน้าได้อย่างไร ไม่ติดกับดักรัฐประหาร

ส่วนประชาชน ก็จะต้องดูว่าเราจะอยู่ในภาวะอุปถัมภ์ หรือรอพึ่ง ส.ส. และเลือก ส.ส.ที่ไปงานศพทุกงานอย่างนี้หรือไม่ หรือจะเลือกส.ส.ที่จะมาเขียนกฎหมายที่เป็นประโยชน์ เช่น กฎหมายบำนาญ รัฐธรรมนูญ เราต้องการ ส.ส.และพรรคการเมืองที่ดูภาพรวมประเทศ ประชาชนต้องเริ่มขยับและคิดเรื่องนี้.