ทั้งนี้ กับเรื่อง “ยา” นี่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีข้อมูลมาสะท้อนในแง่มุมหนึ่ง…ซึ่งเป็นข้อมูลในแง่มุมที่ในไทยยังคงมี “ปัญหา”…

นั่นคือ “ปัญหาการถึงยารูปแบบต่าง ๆ”

คนไทยยังมี “ปัญหาความมั่นคงด้านยา”

ทั้งนี้ ย้อนไปในช่วงที่โควิด-19 ยังระบาดหนักและร้ายแรงรุนแรง ในช่วงนั้นก็เกิดภาพสะท้อนปัญหานี้ “ปัญหาการเข้าถึงยาและวัคซีนที่จำเป็น” และก็สะท้อนต่อเนื่องให้เห็นถึง “ความสุ่มเสี่ยงเกิดวิกฤติความมั่นคงด้านยา” ที่จำเป็นจะต้อง “ถอดบทเรียน” ซึ่งก็ได้มี “ข้อเสนอแนะเพื่อให้ไม่เกิดวิกฤติ” ด้านนี้ “โดยเฉพาะเวลาที่มีภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ” โดยแนวทางเรื่องนี้…ได้มีการเสนอให้ไทย“กำหนดทิศทางงานวิจัยด้านยาให้ชัดเจนเพิ่มขึ้น” เพื่อเป็นการเสริมความพร้อม “ความมั่นคงด้านยาของไทย” เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาซ้ำ ๆ โดยข้อเสนอนี้มาจาก นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษาคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนงานวิจัยพัฒนาระบบยา สวรส. ในฐานะประธานจัดทำกรอบและทิศทางงานวิจัยระบบยา ที่เสนอให้ไทยกำหนดทิศทางในการพัฒนาและปรับปรุงแนวทางการวิจัยด้านนี้ให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน

นพ.สุวิทย์ ประธานการจัดทำกรอบและทิศทางการวิจัยยา สะท้อนไว้ว่า… “ความมั่นคงด้านยา” และ “การเข้าถึงยาของคนไทย” นั้น ยังต้องยอมรับว่า…ปัจจุบัน“ไทยยังอยู่ในจุดที่ยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้เท่าที่ควร” ซึ่งพิจารณามูลค่า “การผลิตยาในประเทศ” เปรียบเทียบกับตัวเลข “การนำเข้ายาต่างประเทศ” จะพบว่า…มีสัดส่วนอยู่ที่ 33 ต่อ 67 ซึ่งยังเป็นสัดส่วนที่ไม่พอดีมากพอ และถ้าหากปล่อยไว้เช่นนี้ ก็อาจทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหาถึงขั้นวิกฤติขึ้นได้ในอนาคต…

อาจจะ “เกิดวิกฤติความมั่นคงด้านยา”

เมื่อพิจารณา “การเข้าถึงยาในภาพรวม” ที่ผ่านมา โดยเฉพาะ “ยาที่จำเป็น” มีการระบุไว้ว่า…ก็ถือว่าสถานการณ์ของไทยยังอยู่ระดับที่ดี เพราะไทยมีกลไกบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่…ก็ยังพบปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่ง นั่นคือ “พฤติกรรมการใช้ยาไม่เหมาะสม-พฤติกรรมการใช้ยาไม่สมเหตุสมผล” ทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน หรือแม้แต่ในสถานพยาบาล ซึ่งจากสถานการณ์ปัญหาในเรื่องดังกล่าวนี้ จึง ต้องมีการมองภาพของระบบยาที่ครอบคลุม ทั้งเรื่องการพัฒนาระบบควบคุมยาให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตยา สมุนไพร และชีววัตถุ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

เพื่อ “สร้างความมั่นคงด้านยาของไทย”

นอกจากนี้ ทางประธานจัดทำกรอบและทิศทางงานวิจัยระบบยา ยังชี้ไว้ว่า…เนื่องจากสถานการณ์ระบบยาและปัจจัยแวดล้อมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องกำหนดทิศทางและโจทย์วิจัย รวมทั้งปรับปรุงแนวทางบริหารจัดการงานวิจัยให้สอดคล้องกัน อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมา สวรส. จะมีบทบาทสนับสนุนทุนวิจัยในระบบสุขภาพ รวมถึงระบบยา มาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยระบบวิจัยระบบยาที่มีความซับซ้อน และมีปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง ทำให้จำเป็นที่จะต้องมีการระดมสมองจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม หรือเอ็นจีโอ เพื่อ…

“ช่วยกันคิดเพื่อพัฒนาระบบยา” ต่อไป

และ นพ.สุวิทย์ ก็เผยถึง “ข้อสรุปแนวทาง” ที่ได้จากการระดมสมองจัดทำกรอบทิศทางเรื่องนี้ไว้ว่า…ประกอบด้วย 5 ด้านสำคัญ ได้แก่… 1.การอภิบาลระบบยา ด้วยการออกแบบนโยบาย ยุทธศาสตร์ ระบบ กฎเกณฑ์ ที่เหมาะสมในการนำนโยบายไปปฏิบัติ 2.บริการหรือปฏิบัติการเกี่ยวกับยา เน้นที่ความต้องการและความจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ 3.สร้างการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม เพื่อสนับสนุนระบบยาให้มีประสิทธิภาพ 4.จัดทำระบบยาในภาวะภัยพิบัติฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และ 5.การพัฒนาอุตสาหกรรมยาของประเทศ โดยเน้นลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ

นี่คือแนวทาง “เพิ่มความมั่นคงด้านยา”

ทั้งนี้ ทางด้าน ภญ.อัญชลี จิตรักนที ผู้อำนวยการกองนโยบายแห่งชาติด้านยา อย. ก็เสริมเรื่องนี้ไว้ว่า…ในส่วนของ อย. ขณะนี้ได้เตรียมเดินหน้า “ยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาระบบยาของไทย” ซึ่งประกอบด้วย  4 เรื่องสำคัญ คือ… 1.ส่งเสริมอุตสาหกรรมยา โดยร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยา 2.พัฒนากลไกการเข้าถึงยาถ้วนหน้า ด้วยราคายาที่สมเหตุผล ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน 3.พัฒนากลไกให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และ 4.จัดการสารสนเทศเพื่อจัดการระบบยาแบบบูรณาการ ภายใต้แนวคิด “ทำให้คนไทยเข้าถึงยาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงและปลอดภัย”… 

“สิ่งที่คาดหวังให้เกิดขึ้นจากแผนปฏิบัติการนี้คือ ทำให้ไทยมีมูลค่ายาส่งออกเพิ่มขึ้น 25% ควบคู่กับลดค่าใช้จ่ายด้านการจัดหายาลง 1.5 หมื่นล้านบาท รวมถึง มีอัตราสำรองยาจำเป็นที่มีความเสี่ยงขาดแคลนได้ไม่น้อยกว่า 1 เดือน ส่วนเป้าหมายอื่น ๆ ที่สำคัญต่อไปคือการทำให้คนไทยมีความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเพิ่มขึ้น 60%” …เป็น “เป้าหมาย” ในการผลักดันยุทธศาสตร์เรื่องนี้ที่มีการระบุไว้ …ซึ่งแนวทาง-ยุทธศาสตร์เหล่านี้ “จำเป็นต้องมีการเร่งผลักดันให้รุดหน้า”…

เพื่อ…“ทำให้ไทยมีความมั่นคงด้านยา”

“คนไทยไม่มีวิกฤติยาซ้อนวิกฤติโรค!!”.