“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” เปิดพื้นที่สะท้อนมุมมองความสำคัญ และรูปแบบสังเกตการณ์ที่สังคมมีส่วนร่วมได้ โดยเฉพาะเลือกตั้งครั้งนี้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่มีรายงานผลนับคะแนนเรียลไทม์

ตื่นจับตาแต่ไก่โห่ จนสิ้นสุดขานคะแนน

ผศ.ศาสตรินทร์ ตันสุน อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองที่ กกต.อ้างเหตุผลไม่ใช้วิธีนับคะแนนแบบเรียลไทม์ เพราะบทเรียนเลือกตั้งปี 2562 กกต.มีข้อจำกัดการรายงานผลคะแนนที่เกิดจากการกรอกคะแนนจากหน่วยเลือกตั้งที่มีอยู่ประมาณ 55,000 หน่วย หน่วยละไม่น้อยกว่า 70 ข้อมูล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดจากการกรอกคะแนน ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจมีความเหนื่อยล้าเพราะทำงานต่อเนื่องกัน

นี่จึงยิ่งเพิ่ม “ความสำคัญ” ของ “การสังเกตการณ์” เลือกตั้ง ที่ต้องเริ่มจับตาตั้งแต่การเตรียมเปิดหน่วยเลือกตั้ง เพื่อให้ผู้มีสิทธิมาลงคะแนน การตรวจสอบหีบหย่อนบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ การขานนับคะแนนภายหลังปิดลงคะแนน เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์และยุติธรรม

ปูเสื่อ ปักหลักสังเกตการณ์พื้นที่เลือกตั้งตัวเอง

ส่วนวิธีการจับตาเลือกตั้งทำได้อย่างไรบ้างในแต่ละช่วง ผศ.ศาสตรินทร์ ระบุ เริ่มได้ตั้งแต่พื้นที่เขตเลือกตั้งของตัวเอง ด้วยการสังเกตคนแปลกหน้าว่ามีเข้ามาในพื้นที่หรือไม่ หรือกระทั่งคนคุ้นเคย ที่เป็นที่รู้จัก เป็นผู้กว้างขวางในชุมชน ว่ามีท่าที พฤติกรรมในการสนับสนุนผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ

หากไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก็ถือเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ทำกันได้  ไม่ผิดกติกา แต่หากมีการสัญญาว่าจะให้ การมอบสิ่งของ การแจกเงิน การเชื้อเชิญต่าง ๆ เช่นนี้ถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ไม่ควรวางเฉย หรือนิ่งนอนใจ

ต่อมาคือช่วงปิดหีบเลือกตั้งและนับคะแนน ซึ่งจะมีการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งนั้น เข้าใจง่าย ๆ ก็ลงคะแนนที่ไหน ไปนับคะแนนที่นั่น

“ถ้าไม่ลำบากก็นั่งเฝ้า สังเกตการณ์การแสดงบัตรเลือกตั้ง ขานชื่อ และนับคะแนนไปพร้อม ๆ กันกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยที่เรียกว่า กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ว่าตรงกันกับเราหรือไม่ โดยสามารถบันทึกเป็นวิดีโอผ่านสมาร์ตโฟน ซึ่งทุกคนก็คงมีกันหมด”

พลังภาคประชาสังคมเติบโต จนเข้มแข็ง

สำหรับความเชื่อมั่นพลังการตรวจสอบของประชาชน ตลอดจนอาสาสมัคร ผศ.ศาสตรินทร์ ชี้ว่า นับแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา บทบาทของอาสาสมัครหรือภาคประชาชนไทยเติบโตและเข้มแข็งมากในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นวาระการปฏิรูปการเมืองในปี 2540 การเรียกร้องให้ทหารและกองทัพออกจากการเมือง การชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ทั้งปี 2549, 2553 และ 2557 การกดดันให้นักการเมืองต้องยอมรับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน การติดตาม ถ่วงดุลนักการเมืองผ่านองค์กรอิสระ และการมีสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน

ดังนั้น การตรวจสอบโดยอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งในแต่ละหน่วยลงคะแนน จะมีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวังทุจริตการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใด และจับตาดูการทำงานขององค์กรอิสระอย่าง กกต. อย่างใกล้ชิด

ข้อดีโซเชียลส่งตรงข้อมูล สดจากมือสู่สาธารณะ

ผศ.ศาสตรินทร์ มองอิทธิพลของสื่อโซเชียลกับการตรวจสอบเลือกตั้งครั้งนี้ว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะ แท็บเล็ต (Tablet) หรือโทรศัพท์มือถือ จะกลายเป็นเครื่องมือรายงานสถานการณ์เลือกตั้ง ส.ส. ได้ตลอดทั้งวัน จนถึงการนับคะแนน นอกจากนี้ ยังสามารถส่งข้อมูลต่อสาธารณะหากการเลือกตั้งในหน่วยนั้นๆ เกิดความไม่ชอบมาพากล ไม่ว่าจะหน่วยเลือกตั้งในเขตเมืองหรือต่างจังหวัด

“ข้อดีของการมีสื่ออุปกรณ์เหล่านี้ก็คือ สามารถบันทึกไว้ได้อย่างทันท่วงที และนำเสนอออกอากาศสดได้โดยเจ้าของโทรศัพท์มือถือเองผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ชัดเจน รวดเร็ว และครอบคลุมในทุกพื้นที่ และน่าสนใจว่าแม้แต่ กกต.เองก็ยังร่วมมือกับ TikTok Thailand ในการรณรงค์ให้คนไทยไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งนี้กันให้มากๆ ด้วย”

สื่อหลัก ขยายบทบาทเปิดพื้นที่-ลดชี้นำ

ขณะที่บทบาทสื่อหลักในการจับตาเลือกตั้ง ผศ.ศาสตรินทร์ แนะว่าสื่อมวลชนต้องเปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองและผู้สมัคร มีโอกาสในการนำเสนอตัวตนและนโยบายของพรรคการเมือง ไม่ใช่เพียงแค่ให้เวลาและพื้นที่แก่พรรคการเมืองใหญ่ 8-9 พรรค เพราะพรรคการเมืองขนาดเล็กก็สมควรได้รับโอกาส เพื่อนำเสนอทางเลือกให้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ขณะเดียวกันสื่อหลายสำนักไม่ควรทำตัวเป็นผู้ชี้นำ หรือเสนอแต่ข้อมูลของพรรคการเมือง ผู้สมัครตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งมากเป็นพิเศษ ควรให้เวลาในการออกอากาศกันอย่างเป็นธรรม เพราะท้ายที่สุดเมื่อผลการนับคะแนนสิ้นสุดและผลเลือกตั้งปรากฏ สื่อก็ต้องทำหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบนักการเมืองและรัฐบาลกันอย่างตรงไปตรงมาตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพนั่นเอง.