เร็ว ๆ นี้ Thai Climate Justice For All ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กลุ่มการเมืองสิ่งแวดล้อม สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ และ The Reporters จัดเวทีนโยบายสาธารณะ เพื่อทำข้อเสนอในด้านต่าง ๆ ต่อพรรคการเมือง มีหลายมุมมองน่าสนใจ ตั้งแต่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ดิน น้ำ ไปจนถึงพลังงาน

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ ฝากข้อเสนอถึงรัฐบาลชุดต่อไปจัดการปัญหา PM 2.5 ยกตัวอย่าง การต้องมีข้อมูลวิชาการ และองค์ความรู้ที่ถูกต้อง รอบด้าน เปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อความเข้าใจของประชาชน และควรมีนโยบายสนับสนุนการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขฝุ่นแบบกระจายอำนาจ ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นตัวประสาน และงานวิชาการเป็นตัวสนับสนุน

น.ส.พรพนา ก๊วยเจริญ กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน เสนอเพิ่มบัญญัติสิทธิที่ดินและที่อยู่อาศัยให้เป็นสิทธิของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ทบทวนแนวทางนโยบายป่าไม้แห่งชาติและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ ปรับปรุงแผนบริหารจัดการที่ดิน ยุติการอนุญาตให้เอกชนเช่าที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและมาตรการทางภาษี เพื่อลดการกระจุกตัวของที่ดิน

ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า หัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังอุทกภัยเพื่อนพึ่งภาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุ ขณะนี้ทั่วโลกเกิดภัยพิบัติ เช่นเดียวกับไทยที่เกิดอุทกภัย พนังแตก ผันน้ำข้างเดียว ไปจนถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่คาดการณ์ช่วง 10 ปีจากนี้พื้นที่ กทม.จะถูกน้ำท่วมทั้งหมด หากไม่ทำอะไรเลย ดังนั้น จึงเสนอรัฐจัดการน้ำที่สมดุลบนวัตถุประสงค์หลายอย่าง จัดการน้ำที่ไม่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของผู้คน ตอบโจทย์บริบทประเทศ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ มูลนิธิอันดามัน เสนอประเด็นทะเลและชายฝั่ง อาทิ ปรับปรุงกฎหมายการเดินเรือในน่านน้ำไทย กฎหมายอุทยานแห่งชาติ กฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าให้รับรองสิทธิชุมชน จริงจังกับการประมงด้วยเครื่องมือที่ผิดกฎหมาย ส่งเสริมการจัดทำพื้นที่คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลโดยชุมชน ยุติการนำเข้าเศษพลาสติก และขยะพลาสติกทุกประเภท ตลอดจนตั้งรับปรับตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน

นายมนตรี จันทวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง สะท้อนนโยบายสถานการณ์แม่น้ำโขงผันผวน อาทิ ยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำโขงทั้งหมด จัดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยต้องเปิดเผยและรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณะ จัดการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขง จัดการเจรจาระดับทวิภาคีกับจีนและลาว ในเรื่องการชดเชยเยียวยาผลกระทบเขื่อนน้ำโขง

ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอข้อกังวลและคำถามว่าพรรคการเองจะมีนโยบายและมาตรการลดโลกร้อน และ PM 2.5 อย่างไร และจะมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีสิทธิใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างไรบ้าง

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง  ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ เสนอว่ารัฐบาลต้องมองเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ และผนวกเข้ากับการจัดทำนโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การดูแลด้านสุขภาพ และการศึกษาของประชาชน ควบคุมการขยายตัวอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ก่อมลพิษสูง และกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีเก่า มีการวางแผนการคุ้มครอง และป้องกันความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม

ดร.กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice For All เสนอนโยบายความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ บัญญัติหลักการสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี ใช้แนวคิด Degrowth แทน GDP ยืนหยัดในหลักการผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เลิกการปล่อยมลพิษ และไม่นำประชาชนมาเป็นแรงงานรับจ้างจัดการสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ก่อมลพิษอย่างคาร์บอนเครดิต

นายสุรชัย ตรงงาม  มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เสนอนโยบาย อาทิ แก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดเพิ่มสิทธิในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อร่างกฎหมายที่สนับสนุนสิทธิ และความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน ตลอดจนยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559

นายภูริณัฐ เปยานนท์ กลุ่มการเมืองสิ่งแวดล้อม นำเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมจากมุมมองคนรุ่นใหม่ อาทิ ยุติการฟอกเขียว ปรับปรุงนโยบายตลาดคาร์บอน ปฏิรูปกฎหมาย EIA EHIA การเกษตรนิเวศเพื่ออนาคต กำกับแหล่งอาหารจากโรงงาน และสนับสนุนเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ โดยชุมชนเป็นเจ้าของร่วม

ขณะที่ ผู้แทนพรรคการเมือง ให้การตอบรับหลายข้อเสนอ ยกตัวอย่าง นายทันธรรม วงษ์ชื่น จากพรรคเส้นด้าย ระบุ การจัดการสิ่งแวดล้อมจะให้เป็นหน้าที่ของเอกชนหรือประชาชนไม่พอ รัฐมีหน้าที่สำคัญต้องกล้าเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านด้วยทั้งเรื่องเขื่อนและฝุ่นควัน              

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด จากพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญมาก ภาพรวมของการกระจายอำนาจต้องพูดเรื่องงบประมาณเสมอ พรรคก้าวไกลเสนอจัดงบประมาณให้ตำบลจัดการเอง              

ดร.พรชัย มาระเนตร์ จากพรรคชาติพัฒนากล้า เผยว่า พรรคเชื่อในตลาดเสรี การแข่งขัน ทุนนิยมแบบก้าวหน้า การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดจากแรงจูงใจ ซึ่งสำคัญสุดคือเงินในกระเป๋า การกระจายอำนาจนอกจากการเลือกตั้งคือ นำข้าราชการในท้องถิ่นกลับไปทำโครงการละเอียดในท้องถิ่นของตัวเอง

นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส จากพรรคไทยสร้างไทย ระบุ วันนี้พูดถึงภาวะโลกร้อน แต่การแก้ปัญหาไม่มี ปัญหาที่นำเสนอแสดงให้เห็นความล้มเหลว ไม่บูรณาการจากภาครัฐ และการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น หากเป็นรัฐบาล ต้องจริงจัง กล้าคุยกล้าพูด มีการเจรจากับกระทรวงมหาดไทย และ กทม. พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร.