เหตุการณ์ตามมาด้วยข่าวดราม่า เรือบรรทุกน้ำมันดิบที่ขุดได้ชุดแรกเกือบ 3 แสนบาร์เรล แล่นหนีออกจากน่านน้ำกัมพูชา และถูกกองทัพเรืออินโดนีเซียสกัดจับ ควบคุมไว้ทั้งเรือ และลูกเรือนานาชาติ 20 คน

ตอนนี้รัฐบาลกัมพูชา กำลังหาทางนำกลับ เรือบรรทุกน้ำมัน สโตรโวลอส (MT Strovolos) พร้อมกับน้ำมันดิบในเรือที่ “ถูกขโมยไป” ประมาณ 290,000 บาร์เรล ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ และชาวกัมพูชาทั้งประเทศ

เรือสโตรโวลอส ติดธงบาฮามาส ขนาดความยาว 183 เมตร กว้าง 32 เมตร ซึ่งบริษัทคริสเอเนอร์จีเช่าจากบริษัทเวิลด์ แทงเคอร์ แมเนจเมนท์ ในสิงคโปร์เช่นกัน เพื่อบรรทุกน้ำมันดิบที่ขุดได้ไปส่งโรงกลั่น ถูกหน่วยเรือลาดตระเวนกองทัพเรืออินโดนีเซียจับกุม เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา ขณะจอดทิ้งสมอ ใกล้เกาะบาตัมของอินโดนีเซีย นอกชายฝั่งทางตะวันออก ของเกาะใหญ่สุมาตรา

การจับกุมเรือมีขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังทางการพนมเปญแจ้งความไปยังอินเตอร์โพล หรือองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ให้ช่วยประสานไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศต่าง ๆ เพื่อสกัดจับกุมเรือสโตรโวลอส ที่แล่นหนีไป โดยไม่ได้รับอนญาตจากเจ้าหน้าที่กัมพูชา

โฆษกกองทัพเรืออินโดนีเซีย กล่าวว่า เรือสโตรโวลอสแล่นออกจากน่านน้ำกัมพูชา เข้าสู่น่านน้ำไทย ก่อนจะเข้าสู่น่านน้ำอินโดนีเซีย โดยไม่เปิดระบบแสดงตน กองทัพเรือ ฯ เตรียมตั้งข้อหากัปตันเรือชาวบังกลาเทศ ฐานขนถ่ายน้ำมันขึ้นเรือโดยผิดกฎหมายในกัมพูชา และทิ้งสมอในเขตน่านน้ำอินโดนีเซียโดยไม่ได้รับอนุญาต หากศาลตัดสินว่าผิดตามนี้ อาจถูกลงโทษจำคุก สูงสุดไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 200 ล้านรูเปียห์ (450,000 บาท)

Khmer Times

นายชีพ เสาร์ อธิบดีกรมปิโตรเลียม กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา เผยว่า จากการชี้แจงของตัวแทนบริษัทเจ้าของเรือ บริษัทคริสเอเนอร์จีค้างชำระค่าเช่าเรือ และไม่ส่งน้ำมันเชื้อเพลิงเรือให้ ตามที่ระบุในสัญญาเช่า นอกจากนั้น เรือต้องเปลี่ยนกะลูกเรือ ตามกฎระหว่างประเทศ เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่บนเรือสโตรโวลอส ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2563 แล้ว

โครงการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยของกัมพูชานี้ รัฐบาลกัมพูชาเซ็นลงนาม ในสัญญาร่วมทุน กับบริษัทคริสเอเนอร์จี เมื่อปี 2560 เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำมัน 5 แปลง ในทะเลนอกชายฝั่งจังหวัดสีหนุวิลล์ ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกของกัมพูชา ตั้งเป้าหมายผลิตน้ำมันวันละ 7,500 บาร์เรล หรือ 2.73 ล้านบาร์เรลต่อปี โดยคริสเอเนอร์จีถือหุ้นในโครงการ 95% ส่วนที่เหลือ 5% เป็นของรัฐบาลกัมพูชา

วันที่ 29 ธ.ค. 2563 สมเด็จฮุน เซน ประกาศข่าวใหญ่ กัมพูชาสามารถผลิตน้ำมันในเชิงพาณิชย์ ได้เป็นครั้งแรก จาก “แปลง เอ”  ใต้ทะเลห่างชายฝั่งจังหวัดสีหนุวิลล์ ประมาณ 160 กม. การเริ่มผลิตน้ำมันครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี และเป็นก้าวแรกของกัมพูชา ในการสร้างอุตสาหกรรมพลังงาน น้ำมันและก๊าซในประเทศ วันนี้ กัมพูชาได้กลายเป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่ประเทศ ที่สามารถผลิตน้ำมันได้เอง

รัฐบาลกัมพูชาคาดหวังได้เงินเข้าคลัง จากโครงการในเฟสแรกประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (16,290 ล้านบาท) ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพา เงินช่วยเหลือทั้งจากกลุ่มชาติตะวันตก และรัฐบาลจีน ได้อีกไม่น้อย

แต่แล้ว ช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โครงการฯ ก็พลังทลายลง เมื่อบริษัทคริสเอเนอร์จีได้ยื่นขอคุ้มครองล้มละลายต่อศาล เนื่องจากระดับหนี้สินของบริษัทเพิ่มพูน จนเกินความสามารถที่จะชำระได้ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก น้ำมันดิบที่ขุดได้จากโครงการกัมพูชา “น้อยเกินคาด” ทำให้ไม่มีรายได้พอใช้หนี้

สมเด็จฮุน เซน กล่าวยอมรับ เมื่อต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาว่า โครงการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทยของกัมพูชา “ประสบความล้มเหลว” เนื่องจากบริษัทคู้สัญญา คริสเอเนอร์จี ของสิงคโปร์ “ล้มละลาย” ผลิตน้ำมันได้น้อยกว่าเป้าหมายหลายเท่า ได้เพียงแค่วันละ 1,000 บาร์เรล

ต้องติดตามข่าวดูว่า ท้ายที่สุดรัฐบาลกัมพูชาจะได้น้ำมันดิบเกือบ 3 แสนบาร์เรล กลับคืนมาหรือไม่ หรือได้มากน้อยเท่าใด และจะจัดการอย่างไร กับน้ำมันซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งหมดที่ได้ จากโครงการที่พังทลายลง.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS