นายโดนัลด์ ทรัมป์ ถือเป็นอดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีอาญา โดยทรัมป์เดินทางมายังศาลคดีอาชญากรรมเขตแมนฮัตตัน ในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา 34 กระทง เกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสารทางธุรกิจ เพื่อปกปิดการกระทำความผิดอาชญากรรม ซึ่งอาจผิดกฎหมายเลือกตั้ง เนื่องจากเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน ก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อปี 2559 ที่ทรัมป์ได้รับชัยชนะเหนือนางฮิลลารี คลินตัน

นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางมายังศาลอาชญากรรม ที่เขตแมนฮัตตัน ในนครนิวยอร์ก

ทั้งนี้ การสอบสวนพุ่งเป้าไปที่กรณีอดีตผู้นำสหรัฐมอบหมายให้ นายไมเคิล โคเฮน อดีตทนายความ และต้องรับโทษจำคุกนาน 3 ปี จากการเป็นผู้นำเงิน 130,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.4 ล้านบาท) มอบให้แก่ น.ส.สตอร์มี แดเนียลส์ นักแสดงภาพยนตร์ผู้ใหญ่ เพื่อเป็น “ค่าปิดปาก” ไม่ให้ฝ่ายหญิง “เปิดโปง” ความสัมพันธ์ฉันชู้สาว ระหว่างเธอกับทรัมป์

แน่นอนว่า ทรัมป์ปฏิเสธข้อกล่าวทั้งหมด และประณามว่าเป็น “ทฤษฎีสมคบคิดทางการเมือง” โดยพรรคเดโมแครต เพื่อทำลายการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2567 ซึ่งตัวเขาต้องการลงสมัครด้วย และสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น “คือการพาการเมืองของสหรัฐดำดิ่งลงสู่ขุมนรก”

ขณะเดียวกัน ทรัมป์ยังเรียกร้อง “สมาชิกพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสควรร่วมกันลงมติตัดงบประมาณ กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานสอบสวนกลาง ( เอฟบีไอ ) จนกว่าหน่วยงานทั้งสองแห่ง “จะรู้สึกผิดชอบชั่วดี” และกล่าวว่า “อาชญากรรม” ที่เขาก่อ คือการปกป้องบ้านเมืองจากกลุ่มคนที่จ้องทำลาย

มวลชนฝ่ายต่อต้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ชุมนุมหน้าศาลอาชญากรรมเขตแมนฮัตตัน ในนครนิวยอร์ก

ด้านกระทรวงยุติธรรมและเอฟบีไอต่างปฏิเสธให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ ต่อคำกล่าวของอดีตผู้นำสหรัฐ ทั้งนี้ เอฟบีไอถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานภายใต้กระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน คือนายคริสโตเฟอร์ เรย์ เสนอชื่อโดยทรัมป์ และวุฒิสภาให้การรับรอง เมื่อเดือนส.ค. 2560

ขณะที่ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ทรัมป์สนับสนุนการเพิ่มงบประมาณให้แก่กระทรวงยุติธรรมหลายครั้ง โดยรายละเอียดที่ปรากฏบนฐานข้อมูลของทำเนียบขาวระบุว่า งบประมาณของกระทรวงยุติธรรมเพิ่มขึ้น 4% ระหว่างปี 2560-2564 อยู่ที่ราว 38,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1.3 ล้านล้านบาท )

สำหรับการฟ้องร้องทั้งหมดเป็นไปตามกฎหมายของรัฐนิวยอร์ก มีบทลงโทษจำคุกกระทงละ 4 ปี อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายวิเคราะห์ไปในทางเดียวกันว่า หากศาลตัดสินว่ามีความผิดจริง มีความเป็นไปได้ต่ำมาก ที่ศาลจะพิพากษาบทลงโทษจำคุกให้กับอดีตผู้นำสหรัฐ โดยน่าจะเป็นการปรับเงินมากกว่า

กลุ่มผู้สนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ชุมนุมหน้าศาลอาชญากรรมเขตแมนฮัตตัน ในนครนิวยอร์ก

นอกจากนี้ ไม่มีกฎหมายข้อใดของสหรัฐที่ระบุว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องยุติแคมเปญหาเสียง และถอนตัวออกจากการแข่งขัน อีกทั้งแม้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เจ้าตัวสามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายห้ามเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการกลับมาอยู่ในวาระเป็นสมัยที่สอง แม้ไม่ต่อเนื่องกันก็ตาม

เป็นที่ชัดเจนว่า คดีนี้ของทรัมป์ “เป็นมากกว่าเรื่องทางตุลาการ” เพราะสร้างแรงกระเพื่อมโดยตรงมาสู่เรื่องการเมือง จากการที่อดีตผู้นำสหรัฐยังคงยืนกราน ขอร่วมชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกัน สู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า

คดีความระหว่างรัฐนิวยอร์กกับทรัมป์ น่าจะสร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้กับทรัมป์ได้ “อย่างน้อยในระยะนี้” ผลสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกัน โดยรอยเตอร์/อิปซอส ซึ่งจัดทำ 1 วันก่อนการขึ้นศาลครั้งประวัติศาสตร์ของอดีตผู้นำสหรัฐ ปรากฏว่า 51% ของกลุ่มตัวอย่าง ในจำนวนนี้ 80% สนับสนุนพรรครีพับลิกัน มองว่าเรื่องนี้ “เป็นคดีการเมือง” สะท้อนว่า ชาวอเมริกันที่นิยมพรรครีพับลิกัน ยังคงมีความชื่นชอบทรัมป์อยู่มาก

อีกหลายเดือนกว่าพรคครีพับลิกันจะเริ่มจัดการเลือกตั้งระดับไพรมารี เพื่อเฟ้นหาตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งต่อไป และมีความเป็นไปได้สูงเช่นกัน ว่าน่าจะมีสมาชิกระดับแถวหน้าของพรรคประกาศเสนอตัวอีกหลายคน อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐบอกกับทุกภาคส่วนแล้วว่า นับตั้งแต่ดินแดนแห่งเสรีภาพเคยมีผู้นำชื่อทรัมป์ “อเมริกาเปลี่ยนไปตลอดกาล”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS, GETTY IMAGES