ช่วงนี้ดูเหมือนแวดวง “ทนายความ” จะมีกระแสร้อน ๆ ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวเกี่ยวกับทนายความในมุมที่ไม่ร้อนมานำเสนอ โดยเป็นเรื่องราวชีวิตของทนายความคนหนึ่ง ที่ตัดสินใจหันหลังให้กับแวดวงนี้ ก่อนจะมุ่งไปถือจอบแบกเสียม โดยเลือกเส้นทางชีวิตใหม่บน “เส้นทางเกษตรกร” ที่แม้จะถูกครอบครัวและคนรอบข้างคัดค้าน แต่เขาก็ตัดสินใจมุ่งสู่เส้นทางใหม่ที่เลือก วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปรู้จักกับ “ทนายกร-สิริกร ลิ้มสุวรรณ” คนนี้กัน…

“ทนายกร-สิริกร” ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “เกษตรอินทรีย์วิถีไทย (Earth Safe)” วิสาหกิจสังคมบ้านรักษ์ดินจังหวัดกาญจนบุรี บอกเล่าชีวิตให้ฟังว่า ปัจจุบันอายุ 34 ปี แต่งงานแล้ว โดย ภรรยา ชื่อ “ลูกปัด-ปัทมาภรณ์ ธาราสุนทร” ซึ่งภรรยาของเขาเรียนจบด้านแพทย์แผนไทย และมาต่อปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจ ทั้งนี้ เขาเองเกิดและโตมาในครอบครัวนักกฎหมาย ทำให้ครอบครัวคาดหวังว่าเขาจะได้เดินตามรอยเช่นกัน ทำให้เขาเข้าศึกษาต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเรียนจบมาเป็นรุ่นที่ 9 ของคณะ แต่เมื่อทำงานไปสักระยะหนึ่ง เขากลับพบว่าทางที่เดินอยู่นี้ไม่ใช่ตัวตนของเขา แต่กลับเป็นชีวิตเกษตรกร ที่ทำให้เขารู้สึกดีและมีความสุขมากกว่า โดยหลังจากทบทวนตัวเองอยู่นาน ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจหันหลังให้กับอาชีพเก่า และมุ่งหน้าทำตามสิ่งที่ใจตัวเองเรียกร้อง แม้จะถูกครอบครัวท้วงติงและห้าม แต่เขาก็ตัดสินใจเดินหน้าตามความฝันของเขาต่อ

“จุดเริ่มต้น” ใน “อาชีพเกษตรกร” นี้ ทนายกร เล่าว่า จริง ๆ มีแรงบันดาลใจมาตั้งแต่สมัยที่เขายังเรียนอยู่ที่โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เพราะคุณครูมักจะพานักเรียนไปทัศนศึกษาดูงานตามศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ที่เป็นโครงการพระราชดำริ เช่น โครงการห้วยองคต โครงการช่างหัวมัน เพื่อเรียนรู้เรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ และตอนเรียนจบชั้น ม.6 ตอนแรกเขาตั้งใจจะสอบเข้าเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ แต่ทางคุณแม่ ซึ่งทำงานเจ้าหน้าที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรี บอกว่า ถ้าเรียนสาขานี้ จบออกมาคงจะหางานยาก จึงได้แนะนำให้เรียนทางด้านกฎหมาย เพราะน่าจะทำงานได้กว้างกว่า เขาจึงเลือกเรียนในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอีกสาเหตุที่เลือกเรียนกฎหมายนั้น เขาบอกว่า ที่เลือกเรียนด้านนี้เพราะตั้งใจว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะได้นำเอาความรู้ทางกฎหมายมาใช้ช่วยเหลือชุมชนบ้านเกิด ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งพอเรียนไปสักพัก กลับพบว่าตัวเองไม่ชอบงานด้านกฎหมายเท่าไหร่ แต่ก็เรียนจนจบ โดยพยายามใช้เวลาว่างจากการเรียนไปทำงานจิตอาสาต่าง ๆ และออกค่ายพัฒนาชนบท ซึ่งหลังเรียนจบ เขาตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะหาออฟฟิศที่เขาสามารถปั่นจักรยานไปทำงานได้ และก็โชคดีที่ได้งานในธนาคารแห่งหนึ่ง ใน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โดยที่เขาขี่จักรยานจากบ้านไปที่ทำงานได้ใน 5 นาที

อย่างไรก็ตาม หลังจากทำงานที่ธนาคารแห่งนี้ได้สักพักหนึ่ง เขาก็รู้สึกไม่ชอบการทำงานในระบบธนาคาร แต่การได้ทำงานในธนาคารก็ช่วยทำให้เขาได้ความรู้และมุมมองเกี่ยวกับการทำธุรกิจว่า การทำธุรกิจจะให้อยู่รอดได้ต้องมีแผนธุรกิจที่ดี และต้องรู้จักวิเคราะห์จุดแข็ง-จุดอ่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยรู้มาก่อนเลย เพราะไม่เคยร่ำเรียนมา และพอตั้งเป้าว่าจะลาออกจากงานธนาคารมาทำธุรกิจของตัวเอง เขาจึงนั่งทบทวนตัวเองว่า เขาชอบอะไร เขาอยากทำอะไร จนค้นพบว่า อยากจะทำเกษตร ซึ่งพอดีกับที่ในช่วงนั้นคุณยายของเขาได้ยกที่ดินให้ลูก ๆ แบ่งกันคนละไร่ เขาก็ได้ใช้ที่ดินมรดกที่เป็นของคุณแม่มาทำเป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตร เพื่อเป็นห้องทดลองชีวิตให้กับตัวเองว่า ถ้าอยากทำเกษตรกรรมจะต้องเริ่มจากอะไร จากนั้นจึงหาเวลาว่างช่วงวันหยุดและใช้วันลาไปเรียนรู้ตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ อาทิ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติของ อ.ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร ไปเรียนรู้ที่บ้านดินกับ โจน จันได ที่ จ.เชียงใหม่ นอกเหนือจากนั้นก็หาข้อมูลโดยศึกษาจากยูทูบ และลงพื้นที่จริงเพื่อดูงาน

ทนายกร เล่าว่า ตอนที่ได้ไปเรียนกับ อ.ยักษ์ ทำให้รู้ว่าการทำเกษตรไม่ใช่แค่ปลูกผักปลูกหญ้ากินเท่านั้น แต่ การทำเกษตร คือการค้นหาศักยภาพความเป็นมนุษย์ เพราะเกษตรกรรมเปรียบเสมือนรถยนต์ที่พาไปเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งการที่ได้เรียนรู้จาก อ.ยักษ์ เป็นเหมือนกับการทำให้เชื้อเพลิงในใจเขาจุดระเบิดออกมา จนเขาตัดสินใจเลือกที่จะเดินทางสายนี้อย่างจริงจัง และเกิดความคิดว่า คนหนึ่งคนสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่โลกทุนนิยมหรือโลกปัจจุบันสร้างขึ้นมา เช่น ระบบการศึกษาที่ทำให้คิดตามกันว่า ต้องทำแบบนี้สิ…ถึงจะมีงานทำ แต่พอได้ซึมซับแนวคิดของ อ.ยักษ์ และรวมถึงของ โจน จันได ทำให้เขารู้ว่า การกินอยู่เป็นเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมากกว่าการทำงาน โดยเขายอมรับว่า เมื่อเกิดความคิดนี้ขึ้นแล้ว ทำให้เขาไม่สนุกและไม่มีความสุขกับการทำงานแบบเดิมอีกเลย เรียกว่า…ไม่มีความสุขกับการใส่สูทผูกไทไปทำงานอีกแล้ว ซึ่งเขาวางแผนว่าจะไม่ลาออกมาแล้วค่อย ๆ เริ่ม แต่จะลาออกแล้วก็ทำเลย

พร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว

“ช่วงนั้นจึงทำควบคู่กันไป เริ่มจากทำปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือน โดยตั้งใจว่าจะทำขายให้กับเกษตรกร อยากให้ชาวนาเปลี่ยนจากนาเคมีมาเป็นอินทรีย์ แต่ทำไประยะหนึ่ง ก็รู้ว่าคงเปลี่ยนใครไม่ได้ ก็เลยคิดว่าต้องกลับมาเปลี่ยนตัวเองก่อน จากนั้นจึงสร้างแบรนด์และทำให้เป็นสถานที่เรียนรู้ เป็นพื้นที่เปิดสำหรับลองผิดลองถูก สำเร็จหรือไม่สำเร็จไม่รู้ แต่มาเรียนรู้กัน” เขาเล่าถึง “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ของชีวิตเขา

ก่อนจะบอกต่อไปว่า ตอนนั้นคิดว่าหากมีปุ๋ยอินทรีย์แล้ว เขาจะต้องเริ่มผลิตอาหารจริง จึงไปเช่านา 3 ไร่ พร้อมกับลาออกจากงานมาทำนา ซึ่งแต่ก่อนเคยสงสัยว่า ทำไมไม่ใส่รองเท้าบู๊ตทำนา ซึ่งพอได้ลงมือทำเองจริง ๆ ก็พบคำตอบเรื่องนี้ โดยเขาเล่าว่า รู้เลยทำไมชาวนาไม่ใส่บู๊ตทำนา เพราะโคลนมันร้อนมันหนืด จนทำให้เดินไม่ได้เลย และประโยคที่ว่า ชาวนาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน มันคือเรื่องจริงและหนักกว่าคำพูดนั้นไม่รู้กี่เท่า เพราะพอได้ลงมือทำเอง มันทั้งร้อน ทั้งปวดหลัง ทั้งเหนื่อย จนรู้สึกสงสารชาวนามาก ซึ่งตอนที่ผมลองใช้ชีวิตชาวนา ตอนช่วงเที่ยง พอมองที่คันนา ผมจะเห็นแม่ยืนร้องไห้อยู่ใต้ต้นไม้ ซึ่งมันบีบหัวใจมาก แต่ไม่ได้ท้อแท้นะ เพราะความรู้สึกตอนนั้นคือ ผมต้องทำให้สำเร็จ ซึ่งข้าวที่ปลูกจะได้มากน้อยไม่รู้ แต่ผมคิดถึงการแปรรูปไว้ล่วงหน้าแล้ว

กับ “ลูกปัด-ปัทมาภรณ์” ภรรยา

ทนายกร เล่าอีกว่า ระหว่างนั้นเขาได้ไปศึกษาเรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคม จนตัดสินใจกลับมาตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อชุมชนบ้านรักษ์ดิน และเริ่มสร้างเครือข่ายขึ้น โดยจะมีทีมงานให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัว เขาก็เริ่มวางแผนต่อว่า หลังจากนี้ อีก 4-5 ปีจะวางแผนทำอะไรต่อ เพราะมาถึงวันนี้ได้ก็เรียกว่าเกินคุ้มไปแล้ว โดยเขาเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่ชีวิตเริ่มอยู่ตัว ในช่วงนั้นก็มีเพื่อน ๆ ที่เคยทำงานธนาคารด้วยกันหลายคนที่เห็นชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของเขาแล้วก็อยากจะทำตามอย่างบ้าง โดยมีหลายคนบ่นว่าน่าจะลาออกมาทำตามเขาตั้งแต่ตอนนั้น แต่เขาก็ได้บอกกลับไปว่า ชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน และย้ำว่า สิ่งที่คนอยากทำตาม แต่ทำไม่ได้ ก็ด้วยเหตุผลของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน

บางครั้งเรานั่งทำงานอยู่ และไปเห็นชีวิตคนโน้นคนนี้ เราก็มักจะเกิดความคิดว่าอยากจะเป็นแบบเขา น่าจะมีความสุขดี แต่เราไม่เคยใช้ชีวิตแบบคนนั้น เราก็ไม่รู้หรอกว่า พอเป็นจริง ๆ เราจะมีความสุขไหม ถ้าลองเป็นแล้วเราอาจไม่ชอบก็ได้ หรือเป็นแล้วอาจจะชอบก็ได้ อันนี้ไม่มีใครรู้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือ ต้องทดลองและเรียนรู้กับมัน จะผิดจะถูกไม่เป็นไร เพราะคนที่ลุกได้ก่อน คือคนที่ล้มก่อน ถ้าคุณไม่ล้มเลย คุณไม่มีทางได้ลุกแน่นอน อย่างผมก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่นานกว่าจะลงตัวในวันนี้ และอีกอย่างคือ ผมไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง เพราะผมคิดว่า คนเราถ้าหยุด คือถอยหลัง ทนายกร เผยแง่มุมความคิดนี้ให้เราฟัง เพื่ออธิบายถึง “เบื้องหลัง” ก่อนถึงวันที่ “ชีวิตลงตัว”

กับ “อ.ยักษ์” หนึ่งในแรงบันดาลใจ

ทนายกร-สิริกร ทิ้งท้ายไว้กับ ทีมวิถีชีวิต ในการสนทนากันว่า วันนี้เขาคือเกษตรกรเต็มตัว ซึ่งทุก ๆ เวลา ทุก ๆ นาทีของเขา คือการทำงาน การเรียนรู้ และบางครั้งเขาก็ได้ค้นพบ “บทเรียนชีวิต” ว่า…เรื่อง “การเงิน” นั้นเขาก็ควรจะ “ยึดหลักความพอประมาณ” เพราะหากชีวิตมีความพอดี ก็จะมีภูมิคุ้มกัน ป้องกันสิ่งที่จะเข้ามาเย้ายวนได้ และ “การทำเกษตร” เขาจะ “ยึดหลักปลูกกินก่อนปลูกขาย” ส่วน “การดำเนินชีวิต” นั้น ทนายกร ย้ำว่า หลังตัดสินใจเปลี่ยนแปลงทางเดินชีวิต ทำให้ค้นพบว่า บางครั้งความสุขมาในรูปแบบของความทุกข์ก่อนก็มี ดังนั้น การใช้ชีวิตการดำเนินชีวิตต่อไปเขาจึงยึดถือคติหนึ่งที่สำคัญคือ…

แค่ไม่ทุกข์…ชีวิตก็สุขแล้ว.

เตรียมจัดส่งไข่ไก่อินทรีย์
มาตรฐาน “Earth Safe”

‘จะรุ่ง…ต้องยุ่งนวัตกรรม’

“ทนายกร-สิริกร ลิ้มสุวรรณ” บอกเล่าไว้ด้วยว่า จากการศึกษาหาความรู้ ทำให้รู้ว่าข้าวหอมมะลิ 105 ของไทยนั้น ประเทศญี่ปุ่นนำไปทำเป็นเซรั่มบำรุงผิวหน้า เขาเลยปิ๊งไอเดียว่า ปลูกข้าวอาจจะไม่ได้กิน แต่จะได้สิ่งอื่นแทน ทำให้หลังเก็บเกี่ยวเขาจึงเอาข้าวหอมมะลิไปโม่บดเป็นผงพอกหน้า ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่า ข้าวที่เหมาะจะใช้ทำเครื่องสำอางสำหรับผิวหน้านั้น “ข้าวอินทรีย์ตอบโจทย์ที่สุด” เขาจึงได้นำข้าวแต่ละสายพันธุ์มาทดลอง ปรากฏข้าวอินทรีย์จะให้กลิ่นหอมกว่าข้าวที่ใช้สารเคมี นี่ก็เป็นตัวอย่างที่เขาได้ค้นพบจากการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองจนพบ “ทางที่ใช่” ก่อนที่เขาจะให้คำแนะนำไปถึงเพื่อน ๆ เกษตรกร ว่า การทำเกษตรอินทรีย์ให้เกิดประสิทธิภาพและมูลค่าที่ดี เกษตรกรต้องใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ โดยหลังจากเรียนรู้และทดลองด้วยตัวเอง ทำให้ผมรู้เลยว่า…เราเดินมาถูกทางแล้ว.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน