“โครงการวิจัยเพื่อศึกษากระบวนการกำหนดนโยบายทางการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์สถาบัน” ที่ได้มีการวิเคราะห์ไว้ถึง “อุปสรรค” ของ “การปฏิรูปการศึกษาของไทย” ว่า…นอกจาก “มุมมองการเมืองไทย” ที่มีต่อหน่วยงานด้านการศึกษาแล้ว กับ “ปัญหาเชิงงบประมาณ” ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคเช่นกัน…

ทำให้ “ปฏิรูปการศึกษาไม่เป็นดังหวัง”

แม้ไทยจะทำเรื่องนี้มานานกว่า 30 ปี!!

ทั้งนี้ รศ.วีระยุทธ หนึ่งในทีมวิจัยที่ได้ทำการศึกษาปัญหานี้ ผ่าน “มุมมองเศรษฐศาสตร์สถาบัน” ได้สะท้อนไว้ทางบทความที่เผยแพร่ใน เว็บไซต์ กสศ. ว่า…ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ช่องทางการปฏิรูปการศึกษาจากฝั่งรัฐเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อยู่ตลอด ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มักจะขึ้นอยู่กับ “จังหวะการเมืองไทย” ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งทีมวิจัยพบว่า…องค์ประกอบที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาจากฝั่งรัฐสำเร็จได้จะต้องมี 3 องค์ประกอบ คือ 1.เศรษฐกิจการเมืองปลายเปิด ที่กระตุ้นให้คนอยากเข้ามามีส่วนร่วม 2.การได้รับการสนับสนุนจากข้าราชการ และ 3.การปฏิรูปจะต้องมียุทธศาสตร์เชิงกฎหมายรองรับ ภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน …เหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาทำได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม แต่ก็กลับพบว่า…ตลอดเวลาที่ผ่านมา ถึงแม้ในสังคมไทยจะเกิด “คลื่นของการปฏิรูปการศึกษา” มาแล้วถึง 3 ระลอกใหญ่ แต่ช่วงเวลาเหล่านั้น ไม่มีช่วงใดเลยที่กลไกรัฐทำได้ครบทั้ง 3 องค์ประกอบ จนส่งผลทำให้ ไทยปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ ขณะที่“ปัญหาการจัดงบประมาณการศึกษา” นั้นก็เป็นอีกอุปสรรคไม่แพ้ปัญหาจากการเมืองและปัญหาจากกลไกรัฐ โดย รศ.วีระยุทธ ได้สะท้อนถึงปัญหางบประมาณไว้ว่า… มีปัญหาสำคัญอยู่ 2 ระดับ คือ 1.ปัญหางบประมาณทั้งระบบ ที่ส่งผลกับทุกส่วนราชการ และ 2.ปัญหาเฉพาะตัวของกระทรวงศึกษาธิการเอง ที่ทำให้ การปฏิรูประบบการศึกษาไทยที่เกิดขึ้น ไม่สามารถออกดอกออกผลได้อย่างที่สังคมคาดหวัง

ทาง รศ.ดร.วีระยุทธ ยังได้แจกแจงถึงปัญหาเชิงงบประมาณที่เกิดขึ้นนี้ไว้ว่า… ปัญหาใหญ่ขณะนี้คือ ไทยต้องใช้งบประมาณหมดไปกับค่าใช้จ่ายบุคลากรที่ค่อนข้างเยอะ นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายบุคลากรที่เกิดขึ้นจริง ก็ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในกลุ่มงบบุคลากรทั้งหมด แต่ยังไปแทรกอยู่ในงบประมาณประเภทอื่น ๆ อีกด้วย เช่น งบดำเนินงาน (ลูกจ้างตามสัญญาจ้าง) งบเงินอุดหนุน เช่น บุคลากรองค์การมหาชน หรือแม้แต่งบกลาง ดังนั้น เวลาที่งบประมาณโดยรวมลดลง กระทรวงศึกษาฯ เองก็ต้องไปปรับลดงบลงทุน เพราะงบบุคลากรและงบเงินอุดหนุนที่มีอยู่นั้นค่อนข้างตายตัวจนขยับแทบไม่ได้แล้ว…

จะปลดล็อก…อาจต้องเริ่มแก้จากวิธีคิด

และก็รวมไปถึงการแก้ระดับ “กฎหมาย”

“ข้อเสนอ” ต่อการ “แก้ปัญหา” นี้ ทาง รศ.วีระยุทธ ระบุไว้ว่า…เมื่อนำหลักเศรษฐศาสตร์สถาบันมาใช้ประเมินปัญหา ทำให้พอจะแยกข้อเสนอเรื่องนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ 1.ภาพย่อย (micro) ที่สามารถนำหน่วยงานที่ทำงานเชิงลึกด้านการศึกษา เช่น กสศ. เข้ามาช่วยได้ เพราะมีจุดเด่นด้านการเก็บข้อมูลนักเรียนยากจนระดับครัวเรือนในพื้นที่ ซึ่งอาจจะเสริมด้วยการออกแบบวิธีเก็บข้อมูลใหม่ เพื่อขยายมุมมองในการเก็บข้อมูลไปสู่มิติอื่นด้วย 2.ภาพใหญ่ (macro) ด้วยการผลักดันให้ ผู้ปฏิรูป มองเห็นว่า…การปฏิรูปการศึกษาจะสำเร็จจะต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องที่ใหญ่กว่าการศึกษาไปพร้อมกันด้วย

นอกจากนี้ นักวิจัยท่านเดิมยังเสนอไว้อีกว่า…ไทยสามารถ “ใช้วิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์สถาบัน” เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการศึกษา โดยเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยทำให้ไทยสามารถ “จัดวางตำแหน่งระบบการศึกษา” ให้ “ตอบโจทย์กับสถานการณ์ปัจจุบัน” รวมถึงช่วยให้ “รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน” ในสังคมไทย เนื่องจากการศึกษาไม่ใช่ต้นตอของทุกสิ่งเสมอไป เพราะบางเรื่องนั้นการศึกษาเป็นต้นตอจริง แต่บางเรื่องก็ถูกตัวแปรอื่น ๆ กำหนด …นี่เป็นข้อเสนอเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ

ทั้งนี้ ในช่วงที่ ไทยกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง 2566 จากกรณีนี้ทาง รศ.วีระยุทธ ก็ได้มีข้อเสนอแนะผ่านบทความไปถึงตลาดการเมืองไทยด้วยว่า… การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นถือเป็นโอกาสดีในการกระตุ้นตลาดการเมือง และถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการผลักดันเรื่องนี้ในเวทีการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิด การแข่งขันทางนโยบายการศึกษา ระหว่างพรรคการเมือง ด้วยการเสนอนโยบายออกมาว่า จะพัฒนาการศึกษาไทยอย่างไรต่อไป?? ซึ่งการที่มีการ “เปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย” ก็เป็นอีก “อุปสรรค” โดยตั้งแต่ปี 2540-2565 ไทยมีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ มาแล้ว 22 คน ในรอบ 25 ปี

“พอดูลึก ๆ ลงไป คนที่อยู่เกิน 1 ปีมีน้อยมาก สะท้อนได้ว่า…ทำไมการปฏิรูปการศึกษาถึงทำไม่สำเร็จ ทั้งที่การศึกษาเป็นเรื่องรากฐานที่จะต้องอาศัยการทำงานระยะกลางและระยะยาว แต่ก็ยังเปลี่ยนแปลงบ่อยขนาดนี้ สะท้อนว่า… ตลาดการเมืองไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่สังคมคาดหวัง ซึ่งนักการเมืองคงจะต้องมีการปรับเปลี่ยนมุมมอง เรื่องนี้” …ทาง รศ.วีระยุทธ สะท้อนอีกอุปสรรคเรื่องนี้ไว้ พร้อมยังระบุไว้ด้วยว่า…การ “เลือกตั้งปี 2566” นั้น…

“เป็นโอกาสที่สังคมจะได้เห็น” วิสัยทัศน์

“แต่ละพรรคจริงจังปัญหานี้แค่ไหน??”.