การเลือกตั้งปี 62 ผู้คนยังขุ่นข้องใจเรื่อง “บัตรเขย่ง” กันไม่หาย! แต่การเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 66 ซึ่งใช้บัตร 2 ใบ คือบัตรเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต จะมีเฉพาะหมายเลขของผู้สมัคร แต่ไม่มีโลโก้พรรค และชื่อพรรค ทั้งนักการเมืองและประชาชนอย่างเรา ๆ จึงเรียกว่า “บัตรโหล”

คือแทนที่เครือข่ายการรัฐประหารเมื่อปี 57 ที่ยังมีอำนาจแฝงอยู่ในปัจจุบัน จะสนับสนุนการออกกฎหมายระเบียบปฏิบัติเพื่อทำเรื่องง่าย ให้กลายเป็นเรื่องง่าย ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก ตั้งแต่การใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ (เลือกคนเลือกพรรค) ใช้เบอร์เดียวกันไปก็หมดเรื่อง!

แต่กลับทำเรื่องง่าย ให้เป็นเรื่องยากเย็นไปเสียฉิบ! เนื่องจากบัตรที่ไม่มีโลโก้พรรคและชื่อพรรค แถมยังเป็นพรรคเดียวกัน แต่คนละเบอร์ จะทำให้ประชาชนสับสน! ส่วนบัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) มีหมายเลขผู้สมัคร มีสัญลักษณ์ของพรรคและชื่อพรรคด้วย อันนี้ไม่มีปัญหา

แต่เมื่อมีการบัญญัติศัพท์ว่า “บัตรโหล” คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องทำทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส ควรเปิดเผยข้อมูลหลายๆอย่างให้สาธารณะทราบว่า 1.ไปพิมพ์บัตรเลือกตั้งกันที่โรงพิมพ์ไหน จำนวนเท่าไหร่ 2.เก็บรักษา “เพลท” กันอย่างไร 3.ขั้นตอนการกระจายบัตรเลือกตั้ง (ทางไปรษณีย์) ตั้งแต่ต้นทางปลายทาง ควรให้สื่อมวลชน และผู้สังเกตการณ์เข้าไปดูได้

เนื่องจากตอนนี้หลายคนตั้งคำถามว่ากรณี “บัตรโหล” จะมีปัญหาลามไปยัง “บัตรปลอม-บัตรเกิน” รวมทั้ง “บัตรเติมเต็ม” ตามมาหรือไม่?

“บัตรเติมเต็ม” ในที่นี้หมายความว่า ถ้าหน่วยเลือกตั้งนั้นมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 500 คน แต่มาใช้สิทธิเลือกตั้งกันแค่ 300 คน ตรงนี้มีโอกาสที่จะเกิด “บัตรเติมเต็ม” ด้วยการซื้อตัวเจ้าหน้าที่กันแบบยกหน่วย ถ้าหน่วยนั้นไม่มีกล้องวงจรปิด และไม่มีผู้สังเกตการณ์อย่างจริง ๆ จัง ๆ

ตอนนี้กังวลว่า จะมีการใช้วิชามารยิงกระสุนกันแบบยกหน่วย! และจะเลือกยิงกระสุนหนักแบบหวังผลกันเป็นเขต ๆ เขตละ 50-60 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส. 25-30 คน ตุนเอาไว้ป่วนเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีให้ได้ก่อน แล้วจะมีกองหนุนตามมา รวมทั้งไว้ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีด้วย

การยิงกระสุนหนักแบบหวังผลกันเป็นเขตๆก็ว่ากันไป! แต่การหาช่องทางซื้อแบบยกหน่วย! อันนี้สิน่าคิด ว่าจะใช้รูปแบบวิธีไหน? ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบัตรปลอม บัตรเกิน และบัตรเติมเต็ม

กกต.ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการพิมพ์บัตร-การ ขนส่ง-หีบเลือกตั้งให้มากที่สุด และต้องหาทางอุดช่องโหว่เกี่ยวกับการซื้อตัวเจ้าหน้าที่ ขั้นตอนการนับคะแนน การอ่านผลคะแนนแบบผิด ๆ ถูก ๆ และการวินิจฉัยว่าเป็น “บัตรเสีย”

ปัญหาเหล่านี้เป็นภาระของพรรคการเมืองที่ต้องมี “ผู้สังเกตการณ์” ไปเฝ้าดูความเคลื่อนไหวทุกหน่วย และต้องบันทึกภาพไว้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มเปิดหีบในตอนเช้า ไปจนถึงการนับคะแนนเสร็จเรียบร้อยในตอนเย็น

เนื่องจากการเลือกตั้งเที่ยวนี้ จะประมาท “วิชามาร” ไม่ได้เด็ดขาด! เพราะจากการหยั่งกระแสโพลของหลาย ๆ สำนัก และฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้าน บางพรรคการเมืองจะได้ ส.ส. ถึง 25 คน ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย

ในส่วนของ “กกต.” ส่วนใหญ่อายุมากแล้ว จึงทยอยเกษียณกันตั้งแต่ปี 65 ดังนั้นการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 อาจเป็นการทำหน้าที่ครั้งสำคัญ ครั้งสุดท้ายของกกต.ชุดนี้ จึงต้องทำหน้าที่อย่างรอบคอบและโปร่งใส อย่าให้เหมือนปี 62 ที่โดนถล่มเละเป็นโจ๊กอีก!!

————————–
พยัคฆ์น้อย