ลองมาดูคำตอบของคนรุ่นใหม่จากรั้ว มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผ่าน 3 คำถาม มองบทบาทสังเกตการณ์เลือกตั้งสำคัญอย่างไร วิธีจับตาเลือกตั้งไปจนถึงความเชื่อมั่นพลังการตรวจสอบภาคประชาชน และอาสาสมัคร
นายศักดิ์สิทธิ์ ศรีเดช อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐประศาสนศาสตร์ ระบุ การเลือกตั้งครั้งนี้ที่ทราบอาจไม่มีการนับคะแนนเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ ซึ่งต้องยอมรับว่าสังคมกำลังจับตามองและถกเถียงเรื่องนี้กันมาก เพราะเกี่ยวข้องกับความโปร่งใสในการนับคะแนน โดยเฉพาะส่วนตัวเรียนคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวงการบริหารงานภาครัฐและการเมือง
ดังนั้น นักศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตร์อย่างตนจึงมองว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และเป็นเรื่องใกล้ตัว เราควรเข้าถึงข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ได้เห็นการนับคะแนนเสียงแบบเรียลไทม์ อันนำมาซึ่งความเชื่อมั่น และภาคภูมิใจในกระบวนการเลือกตั้งสังเกตการณ์จากทุกฝ่ายสำคัญอย่างยิ่งต่อการเลือกตั้งครั้งนี้
“การเลือกตั้งครั้งนี้กำหนดทิศทางของประเทศไทยในอีก 4 ปี ว่าจะก้าวหน้าหรือถอยหลัง เราทุกคนจึงหวังจะเห็นการเลือกตั้งที่สุจริตและใสสะอาด ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกคนที่ช่วยกันจับตามองและร่วมกันสอดส่อง”
ขณะที่ การจับตาเลือกตั้งนั้น ทำได้ง่าย ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุน่ ใหม่ต้องเข้าใจถึงการเป็นพลเมืองที่ดีว่า มีหน้าที่ในสังคมอย่างไรบ้าง หนึ่งในหน้าที่พลเมืองดีคือการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการตรวจสอบความโปร่งใสนั้นสามารถดูได้ทั้งระหว่างหาเสียง และการนับคะแนน
โดยช่วงหาเสียงต้องดูเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียงในแต่ละพื้นที่อย่างที่ทราบกันดีกับวลีที่ว่า “คืนหมาหอน” ตามหมู่บ้านหรือชุมชนต่าง ๆ ก็ต้องช่วยกันดู ช่วยกันตรวจสอบ หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบประวัติและคุณสมบัติของผู้ลงสมัครว่าผ่านเกณฑ์ หรือมีอะไรไม่ถูกต้องหรือไม่
ส่วนในช่วงนับคะเเนนเสียงนั้นสำคัญมากต่อระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ในฐานะที่เคยปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยเลือกตั้ง และลงสนามเลือกตั้งในสถาบันการศึกษาอย่างนายกสโมสรนักศึกษา ซึ่งการนับคะแนนแบบเรียลไทม์ โปร่งใส ปลอดการทุจริต ผลคะเเนนนั้นไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่เลือกเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วย ดังนั้น หากช่วยกันเป็นหูเป็นตาคนละนิดคนละหน่อย เพียงเท่านี้ก็มีส่วนช่วยทำให้การเลือกตั้งโปร่งใสมากขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ ย้ำว่าส่วนตัวค่อนข้างเชื่อมั่นระดับหนึ่งกับพลังการตรวจสอบของภาคประชาชนและอาสาสมัคร ปัจจุบันมีเยาวชนที่สามารถเข้าถึงสิทธิเลือกตั้งมากขึ้น จึงเชื่อได้ว่าทิศทางของคนรุ่นใหม่และอาสาสมัครต่าง ๆ ในการช่วยกันตรวจสอบสังเกตการณ์จะแข็งแรงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีกับประชาชนที่อยากเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต เพื่อประเทศที่เป็นเสมือนบ้านของทุกคน
นายนันทกร หาญชัย อายุ 18 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มองบทบาทสังเกตการณ์ว่าในการเลือกตั้งทุกคนล้วนอยากเห็นผลการเลือกตั้งว่ารวมผลแล้วบุคคลใดสมควรได้รับตำแหน่ง ผลนั้นเกิดจากผู้แทนจำนวนมากในแต่ละท้องที่อาสาสมัครภาคประชาชนที่มาช่วยกันจับตาจะทำให้ผลคะแนนแต่ละเขตย่อย ๆ มีความถูกต้อง เชื่อถือได้ แล้วจึงรวมผลไปเป็นภาพรวมที่ทุกคนให้การยอมรับ
ส่วนแนวทางจับตากระบวนการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะก่อนเลือกหรือหลังเลือกตั้งก็ต้องจับตาใกล้ชิด เพราะมีโอกาสเกิดอะไรขึ้นก็ได้บทบาทของประชาชนทุกคนควรเสมือนตัวเองเป็นอาสาสมัครช่วยกันดูแล
สำหรับความเชื่อมั่นการตรวจสอบภาคประชาชน ส่วนตัวให้น้ำหนักอยู่ตรงกลางระหว่าง “เชื่อ” กับ “ไม่เชื่อ” เพราะไม่สามารถรับรู้ได้ว่า กระบวนการตรวจสอบจะเป็นอย่างไร ตรวจเจอหืรอไม่เจอ หรือมีอะไรคลาดเคลื่อน หรือมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่
น.ส.ศิรินันทา ธรรมปุรา อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะศิลปกรรมศาสตร์ เชื่อว่าการสังเกตการณ์เลือกตั้งโดยอาสาสมัครประชาชนเป็นภาคส่วนที่สำคัญมากเพราะจะช่วยให้เห็นถึงความโปร่งใสในการเลือกตั้งทั้งก่อนและหลัง เกิดความสบายใจทั้งประชาชนและภาครัฐ
ส่วนวิธีที่จะช่วยกันจับตาเลือกตั้งสามารถทำได้โดยช่วยกันสอดส่องเริ่มตั้งแต่การมอนิเตอร์ (Monitor) ว่าในชุมชน ในท้องถิ่นมีการซื้อสิทธิขายเสียง หรือข่มขู่ให้เลือกหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงการนับคะแนน กระบวนการต้องเปิดเผยและโปร่งใสต่อหน้าประชาชน
ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อมั่นระดับหนึ่งต่อการตรวจสอบของภาคประชาชน แต่ที่ไม่มั่นใจทั้งหมด เพราะเชื่อว่าหากมีการกระทำอะไรบางอย่าง เราไม่สามารถรู้เบื้องลึกเบื้องหลังได้
ส่วน นักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ อีกราย (ไม่ประสงค์ออกนาม) มองบทบาทสังเกตการณ์เลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญมาก ทุกคนอยากได้ผู้นำ ผู้แทนที่ดีเข้ามาทำงานจริง ๆ ดังนั้น สำคัญสุดคือผู้แทนดังกล่าวต้องมาอย่างโปร่งใส ไม่ว่าจะช่วงหาเสียงต้องไม่ซื้อเสียง การนับคะแนนต้องเป็นธรรม ไม่โกงการนับคะแนน
ขณะที่การจับตาเลือกตั้ง เชื่อว่าจะช่วยลดการซื้อเสียง และช่วยให้เกิดการหาเสียงแบบเป็นธรรม ไม่ใส่ร้ายกัน ประชาชนได้เลือกผู้แทนที่มาโดยไม่ซื้อเสียง หรือบังคับ หน่วยงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้บริหารจัดการเลือกตั้ง และคุมกติกา ต้องทำงานเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ การจับและลงโทษคนโกงเลือกตั้งต้องรวดเร็วและเป็นธรรม ต้องใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาดว่าโดนลงโทษอย่างไรบ้าง
สุดท้ายเชื่อมั่นว่าหากภาคประชาชนรวมตัวกันอย่างมีประสิทธิภาพมากพอ จะช่วยจับตามองการเลือกตั้ง ทำให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น แต่ต้องระวังว่า ประชาชนกลุ่มที่มาช่วยทำหน้าที่นั้น มีประสิทธิภาพ และถูกคัดเลือกตรวจสอบมาอย่างดี ไม่ใช่นำมาแล้วเกิดความไม่โปร่งใสไปอีก
กว่าจะถึงวันนัดกากบาท 14 พ.ค. 66 คงมีอีกหลายประเด็นให้ถกเถียง แลกเปลี่ยนความเห็น เพราะการเมืองคืออนาคตของคนทั้งประเทศ.