การเมืองของจังหวัดบุรีรัมย์ถือว่ามีกลุ่มการเมือง (บ้านใหญ่) เพียงกลุ่มเดียวในห้วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ที่สามารถฝังรากความนิยมลึกลงไปเกือบแทบทุกพื้นที่ใน 189 ตำบล จาก 23 อำเภอ จากประชากรทั้งหมดกว่า 1.5 ล้านคน มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 7.8 แสนคน เพราะมีการบริหารจัดการที่ดีแบบเบ็ดเสร็จ เรียกได้ว่าเป็น “นักเลือกตั้ง” ได้โดยไม่อายใคร เพราะทุกคนของบ้านใหญ่ที่ถูกส่งไปสมัครรับเลือกตั้งมักจะชนะคู่แข่งทั้งสิ้น ยกเว้นการเมืองระดับท้องถิ่นเช่นการเลือกตั้ง อบต. หรือเทศบาล หรือผู้นำหมู่บ้าน จะมีคนของพรรคการเมืองอื่น (เพื่อไทย) เข้ามาเสียบได้บ้างแต่จะมีเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือเป็นของคนบ้านใหญ่แทบทั้งหมด

เช่นเดียวกับการเลือกตั้งใหญ่ทุกครั้ง ที่จังหวัดบุรีรัมย์ แทบจะไม่มีพรรคการเมืองอื่นเข้ามาแทรกในพื้นที่ได้ ถึงแม้จะมีการย้ายพรรคหรือเปลี่ยนชื่อพรรคก็ตาม ชาวบ้านจะจำแม่นหากมีผู้นำแต่ละพื้นที่มาชี้เป้าให้เลือกใคร ทำให้ชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด

หากย้อนไปเมื่อการเลือกตั้งปี 54 ถือว่าเป็นความเจ็บปวดที่สุดของพรรคภูมิใจไทย เพราะนอกจากจะถูกพรรคเพื่อไทยแย่งที่นั่งในจังหวัดบุรีรัมย์ไป 2 เขตเลือกตั้งคือ เขต 6 และเขต 7 จากทั้งหมด 9 เขตเลือกตั้งในตอนนั้น โดยเฉพาะภาพรวมทั้งประเทศ พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. มาเพียง 29 ที่นั่ง ทั้งที่ลงทุนลงแรงส่งผู้สมัครจนครบทั้งประเทศ หนำซ้ำยังกลายมาเป็นฝ่ายค้าน จากที่ไม่เคยเป็นฝ่ายค้านมานานกวา่ 14 ปี

การเลือกตั้งปี 2566 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พรรคภูมิใจไทย มีเป้าหมายที่จะเลื่อนชั้นจากพรรคขนาดกลางมาเป็นพรรคขนาดใหญ่ คือจะต้องมี ส.ส.ในสังกัดมากกว่า 100 ที่นั่ง เพราะมี ส.ส.คนเด่นคนดัง ลาออกจากพรรคอื่น มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย เป็นจำนวนมาก

ดังนั้นเ บื้องต้นจะต้องคุมสถานการณ์ในบ้านของตัวเองให้ได้ จาก 8 เขตเลือกตั้งเดิม กลายเป็น 10 เขตเลือกตั้งของบุรีรัมย์ กุนซือบ้านใหญ่ “เพื่อนเนวิน” ได้เตรียมผู้สมัครหน้าใหม่เพิ่มอีก 2 เขตแล้ว หนึ่งในนั้นที่เปิดตัวไปแล้วคือ นายไชยชนก ชิดชอบ ในวัย 35 ปี ลูกชายของนายเนวิน ชิดชอบ

ถึงเวลานี้ กลุ่มเพื่อนเนวิน ยังไม่เปิดตัวผู้สมัครครบทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดบุรีรัมย์ แต่ส่วนใหญ่น่าจะเป็น ส.ส.คนเดิมที่เป็นลูกหม้อของบ้านใหญ่ “เนวิน ชิดชอบ” แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ คู่แข่งของบ้านใหญ่บุรีรัมย์ ไม่ใช่มีเพียงพรรคเพื่อไทยพรรคเดียว ยังมีพรรคอื่นคอยจ้องที่จะแย่งเก้าอี้อีกหลายพรรค หากจะเปรียบข้อด้อยข้อเด่นของการเลือกตั้งใหญ่ 66 ใครได้เปรียบใคร ใครลองใคร ชี้เป็นเขต ๆ ดังนี้

เขตเลือกตั้งที่ 1 เจ้าของพื้นที่เดิมคือ นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. เมื่อปี 2550 มาจนถึงปัจจุบัน คู่แข่งเป็นทนายความชื่อดัง นายพีรภัทร ทองธีรสกุล หรือชาวบ้านรู้จักกันดีคือ ทนายปีเตอร์ ทั้งสองถือเป็นมวยคนละชั้นเชิง สนอง เทพอักษรณรงค์ เป็น ส.ส.ที่ลงพื้นที่ตลอดทั้งปี ขณะ ทนายปีเตอร์ เพิ่งลงสมัครเป็นครั้งแรก จะอาศัยเกาะกระแสเพื่อไทย ได้มากน้อยแค่ไหนยังไม่มีใครทราบ

เขตเลือกตั้งที่ 2-3 ถือว่ายังเงียบไม่หวือหวามากนัก จะมีแรงที่เขตเลือกตั้งที่ 4 ระหว่างนายรังสิกร ทิมาตฤกะ อดีต ส.ส. 3 สมัย ครั้งนี้มาเจออดีต ส.ส.เพื่อไทย นายสุรศักดิ์ นาคดี คู่นี้ถ้าเปรียบเทียบกันตัวต่อตัว จะมีความเหมือนที่แตกต่าง รังสิกร ที่ผ่านมาอาศัยขยันลงพื้นที่ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน ส่วนนายสุรศักดิ์ ถึงแม้จะร้างเวทีการเมืองมานาน แต่ยังมีกระแสของพรรคเพื่อไทยมาหนุน คอการเมืองที่บุรีรัมย์ บอกว่า หากสุรศักดิ์ นาคดี มีกระสุน มีโอกาสเฉือนเอาชนะได้เลยทีเดียว

เขตเลือกตั้งที่ 5 นายสมบูรณ์ ซารัมย์ พี่ชายนายโสภณ ซารัมย์ หลังเกษียณราชการตำแหน่ง ผอ.สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในสมัยที่ผ่านมาเป็นสมัยแรก สายนี้เป็นสายเกษตรเดิม เพราะเคยเป็นเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ เลือกตั้งครั้งที่แล้วใช้ฐานเสียงจากเกษตรกร บวกกับการสนับสนุนจาก “น้องชาย” โสภณ ซารัมย์ ทำให้ชนะขาดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ครั้งนี้มาแข่งกับอดีตครู พรรคเพื่อไทย สายนี้ต้องใช้กระแสของเพื่อไทยเพียงอย่างเดียวจึงจะมาต่อกรกับนายสมบูรณ์ได้

เขตเลือกตั้งที่ 7 ส.ส.ภูมิใจไทย เดิม นายรุ่งโรจน์ ทองศรี จะต้องมาสู้กับ นายพรรณธนู วรรณกางซ้าย ลูกชาย นายหนูแดง วรรณกางซ้าย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เสียชีวิตไปแล้ว เป็น 1 ใน 2 พรรคเพื่อไทย ที่แย่งเก้าอี้กลุ่มเพื่อนเนวินมาได้เมื่อปี 54 ครั้งนี้ นายพรรณธนู จะได้คะแนนสงสารจากพ่อที่เสียชีวิตไปแล้ว บวกกับกระแสของเพื่อไทย ว่าจะสามารถตีตื้นขึ้นมาได้มากน้อยแค่ไหน

เขตเลือกตั้งที่ 8 ภูมิใจไทยยังไม่ประกาศตัวผู้สมัคร แต่มีคู่แข่งแล้วคือ นายสมนึก เฮงวาณิชย์ พรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.พรรคมัชฌิมา คราวนี้ลงมาเป็นคู่ประกบในนามพรรคเพื่อไทย มองด้วยตาเปล่ากลุ่มเพื่อนเนวินจะได้เปรียบในเชิงพื้นที่เดิม แต่พื้นที่ของเขต 8 ยังมีกลุ่มคนเสื้อแดงฝังอยู่ใต้ดินเป็นจำนวนมาก

เขตเลือกตั้งที่ 9 เป็นอีกเขตเลือกตั้งหนึ่งที่ยังไม่หวือหวามากนัก จะมีแรงอีกหนึ่งเขตคือเขตเลือกตั้งที่ 10 หลังจาก กำนันจำรัส เวียงสงค์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย คราวนี้ปัดฝุ่นมาสู้กับ นายจักรกฤษณ์ ทองศรี ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีฐานคะแนนเดิมอย่างแน่นหนา แต่ยังประมาทไม่ได้ เพราะเริ่มมีตัวชี้วัดแล้ว หลังจากทีมครอบครัวเพื่อไทยนำโดยอุ๊งอิ๊ง มาเปิดเวทีปราศรัยที่ อ.ประโคนชัย ปรากฏว่ามีคลื่นมหาชน หลั่งไหลมาดูการปราศรัยมากกว่า 12,000 คน จากที่ตั้งเป้าเอาไว้เพียง 7,000 คนเท่านั้น

การเลือกตั้งใหญ่ของจังหวัดบุรีรัมย์ 66 จะเป็นตัวชี้ความสามารถของกลุ่มเพื่อนเนวินเป็นอย่างมาก เพราะการเมืองมีความเป็นไปได้หลายประตู จากกลุ่มเพื่อนเนวิน เคยสู้เพียงพรรคเพื่อไทยเท่านั้น ครั้งนี้จะต้องมาสู้กับพรรคอื่น เช่น พรรคก้าวไกลอีก หลังจากผลคะแนนการเลือกตั้งของจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปี 62 พรรคอนาคตใหม่ ในตอนนั้น ได้คะแนนเสียงถึง 113,794 คะแนน เป็นรองพรรคพลังประชารัฐ เพียง2 เปอร์เซ็นต์เศษ ทั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เคยเห็นตัวจริงของผู้สมัครแม้แต่คนเดียว

มีความเป็นไปได้ทุกอย่างว่า ภูมิใจไทยที่บุรีรัมย์จะสามารถกวาดทั้ง 10 ที่นั่งของจังหวัดบุรีรัมย์ได้อีกหรือไม่ และจะช้ำใจเหมือนการเลือกตั้งปี 54 อีกหรือไม่ ต้องคอยจับตาดูแบบไม่กะพริบตา.

วันชัย ผิวอร่าม