อย่างไรก็ตาม จังหวะการเมืองช่วงนี้ไม่ได้มีแค่บทบาท “กองเชียร์” ที่ถูกจับตา เพราะกลุ่ม “สังเกตการณ์” การเลือกตั้ง ก็ทยอยออกมาเคลื่อนไหวกันมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าครั้งนี้มีหลายประเด็นที่ภาคสังคมตื่นตัว หนึ่งในนั้นคือ ขั้นตอนการนับคะแนน และการรายงานผลคะแนนที่ต้องโปร่งใส ไร้ข้อกังขา ท่ามกลางเงื่อนไขที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะไม่รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งแบบ “เรียลไทม์”
“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” ชวนแลกเปลี่ยนมุมมองถึงประเด็นการสังเกตการณ์เลือกตั้งกับบุคลากรแวดวงการศึกษา ดร.ณัทธสิฐษิ์ สิริปัญญาธนกิจ ผอ.ฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สะท้อนความคิดเห็นไว้น่าสนใจ
รู้ช้า-พาร้อนใจ ผลคะแนนทางเดียว ยากสอบทาน
ดร.ณัทธสิฐษิ์ ระบุ การที่ กกต.ประกาศยกเลิกรายงานผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ จะทำให้เริ่มทราบผลการเลือกตั้งในหลายชั่วโมงหลังเลือกตั้งเสร็จสิ้น ทำให้ประชาชนส่วนมากรู้สึกร้อนใจเพราะต้องการทราบผลโดยเร็ว รวมถึงอาจเกิดความไม่มั่นใจถึงความโปร่งใสในผลคะแนนเลือกตั้ง เนื่องจากมีระยะเวลานาน อาจเปิดโอกาสให้มีผู้ทุจริตผลคะแนน รวมถึงการมีผลคะแนน “ทางเดียว” และยากที่จะตรวจสอบได้
สถานการณ์นี้เป็นที่น่าสนใจเพิ่มขึ้น เนื่องจากในประเทศมีกลุ่ม New Voters ที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากขึ้น ข้อนี้เป็นผลดีเพราะแนวคิดการเลือกตั้งของ New Voters มีความแตกต่างจากที่ผ่านมา
“เชื่อว่าวิธีการทุจริตแบบที่กังวลจากอดีตเรื่องการซื้อเสียง หรือการชักจูงด้วยอิทธิพลของครอบครัวจะทำได้ยากหรือไม่สามารถทำได้เลยกับคนรุ่นใหม่นี้”
“จับตา” อย่างไร ตั้งแต่หาเสียงจนนับคะแนน
ดร.ณัทธสิฐษิ์ ชี้ว่า โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในแทบทุกส่วนของชีวิตคนปัจจุบัน สัดส่วนของผู้ที่ใช้สมาร์ตโฟนในประเทศไทยก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้กล่าวได้ว่า ประชาชนสามารถรับข่าวสารได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันก็ยังเป็นผู้รายงานข่าวสารในพื้นที่ของตัวเองผ่านไลฟ์ หรือโพสต์
ดังนั้น เชื่อว่าการเลือกตั้งจะโปร่งใสได้ ประชาชนต้องเป็นผู้มีส่วนร่วม และคอยสังเกตการณ์ทั้งในช่วงการหาเสียงของผู้สมัคร และช่วงการนับผลคะแนนเลือกตั้ง หากพบเห็นสิ่งใดผิดปกติในขั้นตอนไหนประชาชนจะช่วยสื่อสารต่อๆ กันทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ ทำให้ป้องกันการโกงได้ พร้อมย้ำในการสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน
“ขณะนี้ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เองก็ได้ส่งนักศึกษาที่มีความตั้งใจจะเห็นความโปร่งใสในการเลือกตั้งเข้าไปเป็นอาสาสมัครประจําหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่เขตเลือกตั้งโดยรอบของมหาวิทยาลัย และพื้นที่อื่นๆ เพื่อทำหน้าที่สังเกตการณ์และรายงานการนับผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการร่วมกับสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และเครือข่ายทุกภาคส่วนกว่า 50 องค์กรด้วย”
ประชาชน-อาสาสมัคร ช่วยเลือกตั้งสะอาดขึ้น
ดร.ณัทธสิฐษิ์ เชื่อว่า การที่ประชาชนมีส่วนร่วมและสังเกตการณ์จำนวนมากจะเป็นประโยชน์กับการเลือกตั้ง เพราะทำให้ผู้ที่มีอำนาจจัดการการเลือกตั้ง และหน่วยงานเกี่ยวข้องทำงานรัดกุมขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด หรือจะพยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้องโปร่งใสในที่สุด
อิทธิพลสื่อออนไลน์ “ดาบสองคม”
ดร.ณัทธสิฐษิ์ มองช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียว่า มีอิทธิพลและสำคัญมากในการใช้เป็นเครื่องมือของภาคประชาชน ในการเข้าไปมีส่วนร่วม และสังเกตการณ์การนับผลคะแนนการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งในด้านของการติดตามผลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเกิดภาพของอาสาสมัครผู้รายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการผ่านสื่อโซเชียลมีเดียในทุกหน่วย แต่ก็มีข้อกังวลที่อาจตามมาด้วยเรื่องของข่าวที่ไม่เป็นจริงผ่านโซเชียลมีเดียจากผู้ไม่หวังดี
สื่อหลักควรเพิ่มน้ำหนักการทำหน้าที่
นอกจากสื่อมวลชนจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและรายงานผลการนับคะแนนการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการได้เป็นอย่างดี เพราะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าแล้ว ดร.ณัทธสิฐษิ์ แนะให้สื่อมวลชนเพิ่มบทบาทสำคัญ อีกหลายจุด อาทิ
-การถ่ายทอดความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ของผู้สมัครและนโยบายพรรคการเมือง ตลอดจนความรู้ทางการเลือกตั้งอย่างถูกต้องให้แก่ประชาชนโดยปราศจากอคติ
-การแสดงตนเองเป็นเครื่องมือตรวจสอบความถูกต้องของขั้นตอน ข้อมูล และผลการนับคะแนนการเลือกตั้ง
-การทำหน้าที่ประสานและเชื่อมโยงข้อมูลกับภาคประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพ
-การเปิดโอกาสแก่ประชาชนในด้านพื้นที่แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกตั้งและผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้ปราศจากข้อสงสัยที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอน
ดร.ณัทธสิฐษิ์ ย้ำว่า ส่วนตัวคาดหวังให้สื่อมวลชนเป็นผู้ที่มีคุณภาพในการคัดกรองข่าวสาร มีความรวดเร็วในการนำเสนอข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบและนำเสนอโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมเป็นหลักด้วย.