วันที่ 3 เม.ย. ก็จับเบอร์ ส.ส.เขตกันไปแล้ว และวันที่ 4 เม.ย. ก็จะมีการจับเบอร์ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ต่อ เพื่อเตรียมการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งไม่ว่าอย่างไร ที่สุดการเมืองก็ต้องแบ่งสองขั้ว คือขั้วการเมืองปัจจุบัน กับขั้วการเมืองฝ่ายค้าน ว่าขั้วไหนจะมาเป็นรัฐบาล จะพลิกโผหรือไม่ จากที่โผหลายสำนักบอกว่า พรรคเพื่อไทย จะนำมาเป็นที่หนึ่ง ..ซึ่งโอกาสเป็นจริงก็มีสูงมากจากกระแสอะไรต่างๆ การสร้างคำขวัญ (motto) เรื่อง แลนด์สไลด์ ให้ติดปากคนแต่เนิ่นๆ และ เพื่อไทย ดูจะเป็นขั้วตรงข้ามกับฝั่ง คสช. ค่อนข้างชัดเจน
คนใจร้อนอยากรู้กันเยอะว่า รัฐบาลจะมีโฉมหน้าอย่างไร ก็ต้องบอกว่า เพื่อไทยอาจไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ได้ เนื่องจาก รัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้กำหนดให้พรรคเสียงข้างมากอันดับหนึ่งเป็นรัฐบาล แต่ขึ้นอยู่กับการรวมเสียงของขั้วใดขั้วหนึ่งจนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสภาผู้แทนราษฎร (และต้องลอบบี้ ส.ว.ได้) ดังนั้น หลังเลือกตั้ง ก่อนเปิดสภาเลือกนายกฯ ก็มีโอกาสที่ขั้วรัฐบาลเดิมจับกันเอง + งูเห่าอีกบางส่วน มาจัดตั้งรัฐบาลเสียงปริ่ม… และมันก็เลยมีข่าวลือหนาหูว่า มีโอกาสสูงที่ เพื่อไทย จะไปจับมือกับ พลังประชารัฐ (พปชร.) จัดตั้งรัฐบาล เพราะอย่างไร คน พปชร.หลายคนก็คนเพื่อไทยเก่า อีที่ย้ายกลับไปเพื่อไทยก็มี ยังอยู่กับบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ก็มี
ถ้าเอา พปชร. มา ภาพที่สังคมมองคือ บิ๊กป้อมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้สมัคร ส.ส.พะเยา พรรค พปชร. จะเป็น “ดีลเมคเกอร์” ในการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีโอกาสจะเขี่ย พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ออกเพราะเราก็พอจะเห็นกระแสข่าวว่า บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค รทสช. ดูจะเขม่นกับ ร.อ.ธรรมนัสอยู่ …ที่เลือกจับขั้ว พปชร. เพราะอาจต้องการ เสียง ส.ว.โหวตสนับสนุน เพื่อไทยตั้งรัฐบาล ขณะที่จะให้จับขั้วกับ พรรคก้าวไกล ภาพจำที่ออกมาคือกองเชียร์ของ 2 พรรคไม่ถูกกัน โดยเฉพาะในเรื่อง นโยบายเกี่ยวกับ ม.112 ซึ่งถ้าเป็นเงื่อนไขต้องเป็นนโยบายของรัฐบาล เพื่อไทยอาจอิดออด
หรือไม่ก็ประวิงเวลาไปเรื่อย ไม่แก้ไขกฎหมาย แต่อ้างตั้งคณะกรรมการพิจารณาการบังคับใช้ ซึ่งเรื่องนี้ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) เคยให้ข่าวว่า บิ๊กตู่รับทราบถึงแนวทางการตั้งกรรมการพิจารณาการบังคับใช้ ม.112 แล้ว ..แต่ก็พูดมาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงขณะนี้ก็ยังมีม็อบต้าน ม.112 เย้วๆ อยู่ ..เรื่อง ม.112 นี้ก็เป็นเรื่องที่น่าจะเรียกได้ว่า “รัฐบาลไม่เห็นจะทำอะไรเลย” เพราะโยนให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมเสียหมด
พอพูดถึงคำว่า “รัฐบาลนี้ไม่เห็นจะทำอะไรเลย” บางคนขยายปัญหาไปถึงขนาดว่า บิ๊กตู่อยู่ต่อคงได้อดตายกันทั้งแผ่นดิน ก็ต้องบอกว่าช้าก่อน ..นี่ ประเทศไทยไม่ใช่ทะเลทรายที่มันจะถึงขนาดเพาะปลูกอะไรไม่ได้ พื้นที่เราก็เป็นยุทธศาสตร์ศูนย์กลางสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การลงทุน การท่องเที่ยวก็เข้ามาเยอะ ไม่ถึงกับอดตายหรอก..แต่ปัญหาที่บอกว่า “รัฐบาลไม่เห็นทำอะไรเลย” บ่อยครั้งที่ มันมาจากการเมือง ฝ่ายค้านขยายเหตุการณ์ ขยายความทุกข์อะไรเกินความจำเป็นเพื่อหวังผลการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง
ประเทศไทยไม่ได้ถึงขนาดถูกแช่แข็งไว้แบบเกาหลีเหนือ รัฐบาลนี้ก็มีความซวยจากปัจจัยภายนอกคือ เรื่องโควิดและสงครามรัสเซีย ยูเครน ทำให้ค่าพลังงานสูงขึ้น แค่ตัวแปรสองตัวนี้คนก็รู้สึกว่า ชีวิตมันลำบากมากแล้ว และความซวยจากปัจจัยภายในคือ “รัฐบาลคุมเสียง ส.ส.ไม่ได้” ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเองไม่เป็นองค์ประชุมกฎหมายสำคัญๆ ฝ่ายค้านเองก็ไม่เป็นองค์ประชุมในกฎหมายหลายฉบับ สภาล่มกันถี่ๆ ทั้งนี้ เพราะความเป็นรัฐบาลผสม เสียงปริ่มน้ำ
และบิ๊กตู่เองเพิ่งให้สัมภาษณ์ไปเมื่อวันที่ 3 เม.ย.นี้เอง ทำนองว่า เป็นคนที่ พปชร.เลือกเป็นนายกฯ แต่ไม่มีอำนาจอะไรจะไปสั่ง ส.ส.พปชร. บอกไปบางเรื่องเขายังเฉยๆ พอสภาล่มก็มาว่านายกฯ เลยตัดสินใจแยกพรรคออกมาอยู่ รทสช. กับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. ดีกว่า.. แสดงให้เห็นว่า ถ้านายกฯ ไม่ผูกพันกับพรรค ไม่มีอิทธิพลในพรรคพอ ก็สั่ง ส.ส.ไม่ได้ กลายเป็นปัญหาในเชิงนิติบัญญัติ (และเชิงบริหารกรณีรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลที่มือแข็งพอที่จะต้านอำนาจนายกฯ เช่น ไม่อยู่เป็นองค์ประชุม ครม.บางเรื่อง) มันก็เลยย้อนไปว่า นายกฯ ควรเป็น ส.ส.
จะว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หรือ นายเศรษฐา ทวีสิน ก็ ไม่เป็น ส.ส. ..ก็อย่าลืมว่า พ่อ น.ส.แพทองธารเป็นใคร มีอิทธิพลต่อพรรคแค่ไหน ..แต่เรื่องนายกฯ ควรเป็น ส.ส.นี่ ก็มีประเด็นโปกฮาเกิดขึ้นอีก เมื่อบิ๊กป้อมโพสต์ยาวเหยียดเรื่องการเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เบอร์ 1 เพื่อความสง่างามในการเป็นนายกฯ ว่าประชาชนเลือกมา ปรากฏว่า วันที่ 3 เม.ย. ดันไปตอบคำถามสื่อมวลชนว่า “ไม่ใช่เรื่องความสง่างาม แต่ลูกพรรคว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น” ..ใครเป็นกองเชียร์หรือฝ่ายดูแลภาพลักษณ์คงกุมหัว ..ตาป้อมเอ๊ย..อุตส่าห์เขียนให้สวยหรูมาทำบ้งเสียเอง
สิ่งที่ บิ๊กป้อม เปิดตัวในการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กครั้งแรก เป็นเรื่องอะไรที่ฮือฮาพอสมควร ในการยอมรับว่า “รัฐประหารไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาของประเทศ” ทำนองว่า ในไทยมีสองกลุ่มคือ ฝ่ายประชาชน และฝ่าย “ชนชั้นสูง” หรือ elite ที่เป็น กลุ่มมีอำนาจทางความคิดในสังคม กลุ่มมีความรู้สูง กลุ่มมีอำนาจบังคับ (เช่น ตำรวจ ทหาร กระบวนการยุติธรรมที่มีอำนาจให้คุณให้โทษ) ที่ยังมองประชาชนไม่มีความพร้อมในการเลือกตั้งหารัฐบาลที่ดีมาบริหาร ก็เลย อยากได้อำนาจมาบริหารเองโดยไม่ผ่านระบอบประชาธิปไตย แต่วิธีประสานก้าวข้ามความขัดแย้ง คือ เอา ส.ส.จากการเลือกตั้งโดยประชาชนกับกลุ่ม elite นี้มาทำงานด้วยกันให้ได้ ซึ่ง บิ๊กป้อม บอกว่าตัวเองมี วิธี
แต่จะให้โพสต์เฟซบุ๊กสวยหรู ให้ใครเขียนให้แล้วขัดเกลาให้งามสักเท่าไร ถ้า “วุฒิภาวะ” ในการตอบคำถามไม่ค่อยดี ก็มีผลกระทบต่อความนิยม เพราะเกิดไปวีนแตก หรือไม่รู้ๆ เวลาสื่อสัมภาษณ์ ก็ถูกเอาไปล้อเลียนหรือถูกเอาไปเพ่งเล็งว่ามาดไม่เหมาะกับการเป็นผู้นำ อย่าง บิ๊กตู่ เอง ก็มีปัญหาเรื่องการ ควบคุมอารมณ์อยู่ และดูย้ำคิดย้ำทำบ่อยๆ เวลาลงพื้นที่ว่า ตัวเองไม่ได้ขี้โมโห ขณะที่ บิ๊กป้อม เองสัมภาษณ์ก็ประเภท ถามคำตอบคำ และบอกว่า ทำงานเก่งกว่าพูด ..แต่อย่าลืมว่า การสื่อสารวาทะที่ดีนี่เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ..เอาเป็นว่า การสื่อสารในระดับนานาชาติ เราคงไม่อยากเห็นผู้นำประเภทไปซุกอยู่ตรงไหนไม่รู้ในเวทีโลก ไม่มีความโดดเด่นเลย ทั้งที่ไทยมีศักยภาพประกาศความโดดเด่นได้
การ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” กับ “จะพัฒนาอย่างไร” กลายเป็นสองประเด็นหลักในการหาเสียงเที่ยวนี้ ..พอถามว่า จะก้าวข้ามความขัดแย้งได้อย่างไร ก็มีคนบอกว่า วิธีที่ง่ายที่สุด คือทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพไปเลย คือพรรคหลักในการจัดตั้งรัฐบาลต้องได้เสียงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเกินกึ่งหนึ่งของเสียงในสภาไปเลย แล้วก็ไปจับขั้วพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ไม่เรื่องมาก ไม่ต่อรองอะไร พอการเมืองนิ่ง ก็ทยอยค่อยแก้ปัญหาได้ราบรื่น เสียงของความขัดแย้ง กลุ่มที่ไม่ชอบเสียงข้างมากนั้นก็ค่อยๆ ทยอยเงียบลงไป ..บางคนก็ว่า การก้าวข้ามความขัดแย้งคือการจัดการเรื่องระบอบยุติธรรมให้มันยุติธรรมจริงๆ เพื่อเกิดปัญหาอะไร ทุกคนยอมรับคำตัดสิน จบ
จะว่าไป เราก็วนเวียนกับความขัดแย้งกันมานานเกินไปแล้ว อยู่กับการต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองนานเกินไปแล้ว เอาจริงๆ คืออยากฟังว่า แต่ละพรรคจะเดินหน้าพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมอย่างไร เหมือนสมัยเลือกตั้งรัฐบาลทักษิณ 2 ใช้คำขวัญ “สี่ปีซ่อม สี่ปีสร้าง” มันทำให้รู้สึกมีความหวังว่าจะมานั่งแก้โจทย์ความขัดแย้งอย่างไร.. แต่เราก็ยังวนกันอยู่อย่างนี้เพราะเรื่องความขัดแย้งก็ยังไม่จบ ปัญหาความต้องการให้ได้มาซึ่งอำนาจ การเอาเปรียบก็ยังมี เพราะการเมืองคือเรื่องของผลประโยชน์ ก็ต้องช่วงชิงกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมไปใช้สิทธิเลือกตั้งกัน สำหรับผู้เลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. เลือกตั้งจริง 14 พ.ค. ระวังเรื่องบัตรเลือกตั้งที่ ส.ส.เขตกับปาร์ตี้ลิสต์คนละเบอร์ จำกันให้ได้ และรอลุ้นตามที่ กกต.บอกว่า ราวห้าทุ่มน่าจะรู้ผลไม่เป็นทางการ
………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”