“ประชาธิปไตยยืนหนึ่ง” จึงอยากเปิดพื้นที่นำเสนออีกด้านของความปลอดภัย เพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ในสนามการเมือง ผ่านการพูดคุยกับ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย เกี่ยวกับสภาพปัญหาของประเทศไทย พร้อมข้อเสนอแนะโดยเฉพาะความแข็งแรงของอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ที่อาจช่วยลดความสูญเสียเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันได้
ฉายปัญหาน่าห่วงแผ่นดินไหว-อัคคีภัย
นายกสมาคมวิศวกรฯ แนะให้ย้อนกลับไปดูภัยพิบัติในอดีตที่ส่งผลกระทบต่ออาคาร บ้านเรือนและชุมชน ซึ่งจะพบว่ามีทั้งภัยแผ่นดินไหว ไฟไหม้เป็นความเสี่ยง สาเหตุหลักของอาคารยุคเก่าคือการออกแบบก่อสร้างขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้รองรับแผ่นดินไหว หรืออัคคีภัย กฎหมายเพิ่งมากำหนดในระยะหลังนี้เองว่าอาคารสูงต้องติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ต้องมีสัญญานแจ้งเหตุ และมีทางหนีไฟ
ดังนั้น อาคารเก่าที่สร้างก่อนกฎหมายมีผลบังคับและเป็นอาคารที่ยังไม่หมดอายุใช้งาน ยังมีผู้คนเข้าไปใช้พื้นที่ จึงกลายเป็นอาคารที่มีความเสี่ยง พร้อมยกตัวอย่าง ภัยแผ่นดินไหวกฎกระทรวงยังค่อนข้างใหม่คือปี 2550 ทำให้อาคารหลายหลังก่อนหน้านั้นไม่ได้รับการออกแบบรองรับ บทเรียนจากภัยแผ่นดินไหวในต่างประเทศ เช่น ตุรกี ส่วนใหญ่เป็นอาคารเก่า และอาคารบางส่วนไม่ได้ออกแบบตามกฎหมายใหม่ คล้ายหลบเลี่ยงกฎหมายก็มี
ส่วนเรื่องอัคคีภัย ในอาคารสูงน่าเป็นห่วง เพราะเพิ่งมีกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522) ออกมาในปี 2535 กำหนดให้อาคารสูงต้องมีทางหนีไฟ มีน้ำดับเพลิงอัตโนมัติในอาคาร มีระบบแจ้งเหตุ และต้องมีถนนรอบข้างอาคารอย่างน้อย 6 เมตร เพื่อให้รถดับเพลิงเข้า-ออกได้ ขณะที่ อาคารสูงที่สร้างก่อนปี 2535 มีหลายพันหลังที่ไม่ผ่านกฎหมาย ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าแล้วจะทำอย่างไรกับอาคารสูงที่ยังไม่หมดอายุใช้งาน และยังมีคนใช้พื้นที่อยู่ ซึ่งบางอาคารมีคนใช้งานอยู่หลายพันคน หากเกิดเหตุฉุกเฉินอาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมได้
ผนวกความปลอดภัยอาคาร ติดนโยบายหาเสียง
นายกสมาคมวิศวกรฯ ระบุ การแก้ไขในแง่จะไปออกกฎหมายบังคับให้อาคารเก่าต้องปรับปรุงอาจไม่ถูกต้องนัก เพราะกฎหมายไม่สามารถบังคับย้อนหลัง และบางอาคารแก้ไขไม่ได้แล้ว จึงต้องหาแนวทางต่อไปเพราะความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมเสนอนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ควรผนวกเรื่องนี้เข้าไปด้วย โดยมาตรการหนึ่งที่สามารถทำได้ต้องไม่ใช่ “มาตรการเชิงบังคับ” แต่ต้องเป็น “มาตรการเชิงส่งเสริม” จูงใจ ซึ่งรัฐบาลมีอำนาจออกกฎหมายได้
สำหรับมาตรการเชิงส่งเสริม เช่น เจ้าของอาคาร คอนโดมิเนียมที่ประสงค์จะปรับปรุงอาคาร ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอาจนำมาลดหย่อนภาษีได้ หรืออาคารภาครัฐหลายแห่งที่เก่าแล้วรัฐควรจัดสรรงบประมาณ หรือทำเป็นแบบอย่าง อาคารโรงเรียนก็อาจต้องมีการสนับสนุนเงินบางส่วนให้
“อาคารเก่าที่ควรปรับปรุงสำหรับแผ่นดินไหวคือ อาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 และถ้าเป็นเรื่องอัคคีภัย จะเป็นอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2535 อาคารที่สร้างก่อนหน้านั้นจึงเข้าข่ายไม่ปลอดภัยหากเกิดภัยพิบัติ”
ปรับโครงสร้างเก่า ทำไม่ได้มากแต่…ดีกว่าปล่อยผ่าน
นายกสมาคมวิศวกรฯ ชี้ถึงความความปลอดภัยของอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2550 จากเหตุแผ่นดินไหวว่า สามารถทำได้ด้วยการเสริมกำลังอาคาร อาจทำได้ไม่ทั้งหมด แต่ทำเท่าที่ทำได้ดีกว่าปล่อยผ่านแล้วไม่ปลอดภัย อย่างน้อยควรเพิ่มอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย ซึ่งการจะทำให้โครงสร้างเก่ามีความปลอดภัยเท่าเทียมกับระดับกฎหมายสมัยใหม่นั้นทำได้ยาก เพราะมีข้อจำกัดทางกายภาพ แต่อย่างน้อยการติดตั้งสัญญาณเตือนภัยเมื่อเกิดเพลิงไหม้ได้ พร้อมมองการการแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรมทำได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่อยากทำเพราะไม่มีแรงจูงใจ นี่จึงเป็นประโยชน์ที่รัฐบาลควรต้องสร้างแรงจูงใจ
ขณะที่เหตุแผ่นดินไหว ยอมรับว่าแก้ไขยากกว่า เพราะแผ่นดินไหวเกี่ยวกับโครงสร้าง ต้องทำให้โครงสร้างที่แข็งแรง เช่น เสา คาน ต้องรองรับความยืนหยุ่น ปัจจุบันในเชิงนักวิจัย เชิงวิศวกร ก็มีแนวทาง “พอก” เสาให้ใหญ่ขึ้นโดยแผ่นเหล็ก โดยใช้วัสดุต่างๆ ซึ่งสามารถทำได้ตามหลักวิศวกรรม อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือปัจจุบันเจ้าของอาคารต่างๆ ยังไม่รู้เลยว่า อาคารไหนเสี่ยงมากเท่าไหร่ ยังไม่มีการไปสำรวจอย่างจริงจัง
“เอาตรงๆ เอกชนที่อยากจะปรับปรุงก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องปรับปรุงตรงไหน ถ้าจะต้องไปหาคนเข้าไปตรวจสอบให้ก็เป็นค่าใช้จ่ายอีก”
หน่วยตรวจ “ความเสี่ยง” ฟรี ช่วยชี้เป้าข้อปรับปรุง
นายกสมาคมวิศวกรฯ แนะว่า รัฐบาลควรจัดตั้งสถาบัน หรือหน่วยงานขึ้นมาเข้ามาดูแลเรื่องความเสี่ยง โดยอาจเข้าไปทำการตรวจสอบอาคารแต่ละหลังที่มีคนอาศัยจำนวนมากๆ แล้วดูว่ามีความเสี่ยงจุดใดบ้าง จุดใดที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย และทำออกมาเป็นข้อเสนอแนะในการปรับปรุง ไม่ถึงกับต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่อย่างน้อยควรให้เจ้าของอาคารรู้ว่าอาคารเสี่ยงตรงไหน เสี่ยงมากน้อยอย่างไร ควรปรับปรุงตรงไหน และหากจะปรับปรุง รัฐบาลก็ไปออกมาตรการจูงใจแบบที่เสนอไว้ข้างต้น การให้บริการนี้ควรเป็นการให้บริการฟรีแก่ประชาชนด้วย
“เหมือนอย่างนโยบายกระตุ้นคนโดยทั่วไป เช่น ลดภาษี โครงการไทยเที่ยวไทย โครงการอะไรรัฐบาลก็มาช่วย แต่ทำไมเรื่องความปลอดภัยตึก รัฐบาลไม่ออกนโยบายทั้งๆ ที่เป็นเรื่องความเป็นความตายของคน แล้วมันก็เกิดเหตุซ้ำ เช่น เหตุไฟไหม้ 1 ปีเกิดขึ้นหลายร้อยครั้ง ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำ” นายกสมาคมวิศวกรฯ ระบุ
ติดตามข้อเสนอแนวทาง “เพิ่ม” ความปลอดภัยด้านโครงสร้างต่อได้วันพรุ่งนี้.