หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตา นิ้ง-ชัญญา แม็คคลอรี่ย์ ในฐานะนางเอกสาวลูกครึ่งหน้าเก๋ที่ฝีมือการแสดงไม่ธรรมดา เจ้าของรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมบนเวทีงาน 24th Asian Television Awards ก่อนที่จะมาโด่งดังสุด ๆ จนใครก็พูดถึงจากการรับบท “ยูริ” ในซีรีส์ “เด็กใหม่ ซีซัน 2” และล่าสุดกับบท “สาว” ในภาพยนตร์เรื่อง “แสงกระสือ 2” คอลัมน์ “ดาวต่างมุม” เลยไม่พลาดชวนนิ้งมานั่งพูดคุยแบบเอ็กซ์คลูซีฟ พร้อมเจาะลึกเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งบอกเลยว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ ชีวิตของเธอผ่านบททดสอบ มาแล้วมากมาย ทั้งขายของตลาดนัด เจอภาวะซึมเศร้า และตรวจพบเนื้องอกที่สมอง

จุดเริ่มต้นงานในวงการบันเทิง?

“หนูเคยเป็นตัวประกอบมาก่อน ได้ค่าตัว 300 บาท หนังเรื่องแรกคือ Suckseed ห่วยขั้นเทพ เลยนะคะ (ยิ้ม) แต่ตอนนั้นเรียกแค่ว่าถ่ายติดดีกว่า (หัวเราะ) ส่วนผลงานที่เป็นจริงจังของนิ้ง คือ ซีรีส์ THE DEADLINE ที่ต้องเล่นเป็นผู้ป่วยมะเร็ง เราคิดว่าเราได้เริ่มเข้าสู่วงการซีรีส์และเริ่มเป็นนักแสดงจริง ๆ จากเรื่องนั้น ซึ่งเป็นหนังฟีลกู๊ด คนที่ได้ดูจะบอกว่าขอบคุณมากเลยที่ทำให้เขามีแรงบันดาลใจในการสู้กับโรคร้าย อยากมีชีวิตอยู่ต่อ เราเลยรู้สึกว่าเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มากที่ได้เป็นตัวละครตัวนี้”

ผลงานที่ทำให้คนจำได้เลยคือ ‘เด็กใหม่ ซีซัน 2’ หรือเปล่า?

“ต้องบอกว่าซีรีส์แต่ละเรื่องมีกลุ่มเป้าหมายไม่เหมือนกัน อยู่แพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน คนที่ชอบตัวละคร “ยูริ” ใน “เด็กใหม่
ซีซัน 2”
อาจจะไม่ชอบดู THE DEADLINE ที่ดูแล้วฟีลกู๊ดก็ได้ เพราะตัวละครค่อนข้างห่างไกลกันมาก แต่ก็ทำให้เรามีฐานคนดูที่เพิ่มขึ้น”

พยายามเลือกบทบาทไม่ให้ซ้ำกันด้วยไหม?

“ใช่ค่ะ อย่างล่าสุดเป็นตำรวจมาตั้ง 6 เดือน แล้วเรื่องใหม่จะต้องมาเป็นตำรวจอีกแล้วหรอ (ยิ้ม) นิ้งเป็นคนชอบทำอะไรใหม่ ๆ อยากพัฒนาตัวเองตลอดเวลา อยากเก่งกว่านี้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งเลย เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ เพราะฉะนั้นถ้าเรายังทำอะไรที่เหมือนเดิมก็จะไม่ได้ผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไป ยอมรับว่ากลัวนะคะ แต่ถ้าเราไม่ทำ เราก็จะไม่กล้าออกมาจากคอมฟอร์ตโซน”

กับผลงานล่าสุด “แสงกระสือ 2”

“นิ้งรับบทเป็น “สาว” ในแสงกระสือ 2 ค่ะ บุคลิกร่าเริง อ่อนโยน ใสซื่อ แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว สาวรู้อยู่แล้วว่าตัวเองเป็นกระสือ ด้วยเชื้อที่ผ่านมาทางพ่อ ซึ่งรับบทโดย พี่น้อย วงพรู แต่จริง ๆ เขาแค่อยากเป็นคนธรรมดา อยากใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป แต่เกิดมาโดยข้อจำกัดทำให้เขาไม่ปกติ แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้น่ากลัวเลย”

ทำการบ้านหนักแค่ไหน?

“นิ้งไม่ได้ดูหนังเกี่ยวกับกระสือเลย เพราะคนเขียนบทเขาละเอียดมากว่า กลายร่างยังไง อ้างอิงมาจากสัตว์อะไร นิ้งเลยทำการบ้านจากสิ่งพวกนี้ ไปดูสารคดีปลาหมึก ไปอ่านเรื่องราวของแมงกะพรุน ปูเสฉวน เพื่อให้เรามีภาพพวกนี้อยู่ในหัว แต่สุดท้ายแล้วเราจะเอาสิ่งเหล่านี้นำเสนอมาในแบบของเราอยู่ดี ซึ่งในส่วนนี้เราค่อนข้างใช้เซนส์ของเราพอสมควร เพราะสุดท้ายไม่มีใครรู้ว่ากระสือที่ต้องเป็นมอนสเตอร์ การถอดหัวของมันจะเป็นยังไง เพราะไม่เคยมีคนทำสิ่งนี้ให้เราเห็นมาก่อน เพราะฉะนั้นเราเป็นคนแรกที่จะเป็นตัวละครตัวนี้

เล่าบรรยากาศการถ่ายทำให้ฟังหน่อย?

“คิวแรก สัตว์ เด็ก เอฟเฟกต์ สลิง มาครบเลย (หัวเราะ) โหดมาก เพราะมีส่วนที่เป็นซีจีที่ต้องใช้พลังและเทคนิคเยอะ ต้องใส่คอนแท็กเลนส์ ใส่วิก ใส่ฟัน ใส่บอดี้สูท แน่นสุด ๆ ไม่เหลืออะไรที่เป็นตัวเราแล้ว นอกจากผิวหนังและการแสดง ตอนที่เคยทำตอนเวิร์กช็อป หรือซ้อมในห้องน้ำว่าต้องขยับยังไงเส้นเอ็นถึงจะขึ้นคอ ขนาดเล่ายังรู้สึกเลยว่าตัวเองแปลก”

ก่อนเข้าวงการบันเทิงทำมาทุกอย่างแล้ว?

“ทำมาเยอะมากจริง ๆ หนูขายของที่สวนจตุจักรมาตั้งแต่ ม.2 ร้านพี่แป้นกับพี่ดล ร้านกางเกงยีน ของพี่เอกกับพี่ตาล ร้านเสื้อยืดพี่แพท ฯลฯ หลังจากทำงานที่สวนจตุจักร หนูก็ไปทำงานที่ ซีดีซี ไปกดเบียร์สดครั้งแรก หลังจากนั้นก็ไปทำร้านขนมปัง แล้วไปเปิดร้านขนมปังที่ตลาดนัดเพราะตอนนั้นต้องหาเงิน หนูทำมาเยอะมากเลย ทั้งเบื้องหลังคอนเสิร์ต ทีมงาน ถ้าให้มานั่งนับจริง ๆ คงทำมาแล้วเกิน 10 อาชีพค่ะ ยังไม่รวมขายของตอนมหาวิทยาลัยนะคะ”

เด็ก ม.2 ทำไมต้องทำงานเยอะขนาดนั้น?

“บ้านหนูไม่ได้มีเงินมาก่อน ไม่ได้มีต้นทุนที่ดีขนาดนั้น พ่อต้องเลี้ยงลูกสองคน กว่าแม่จะกลับมาอยู่ด้วยกันก็ตอนที่เราอยู่ ม.4 แล้ว เรากล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่าเรามีทุกวันนี้ได้ด้วยตัวเอง อย่างตอนอยู่ ปี 1 ที่มหาวิทยาลัย หนูต้องไปรับถุงผ้าที่สวนจตุจักรมาขาย แล้วยืมกล้องถ่ายรูปของเพื่อน ๆ มาถ่าย ยอมเป็นแบบให้เขามาถ่ายรูปเล่น เพราะเราไม่มีกล้อง แล้วก็ขอรูปเขามาแต่งกราฟิกขายในอินสตาแกรม ปรากฏว่าขายดีเลย มีคำคมอันนึงที่บอกว่า อย่าหยุดทำงาน จนกว่าจะนอนอยู่บนเตียงเฉย ๆ แล้วมีเงินเข้า ตอนนั้นหนูก็รู้สึกว่า ว้าว…มันเป็นแบบนี้นี่เอง แต่สิ่งที่ตามมา คือ การที่เราใช้เงินไม่เป็น เป็นขั้นหนึ่งของการเติบโตที่ต้องผ่านมา”

การใช้เงินไม่เป็นของนิ้งเป็นยังไง?

“เราไม่เคยมี พอมีเงินก็ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย อยากกินนั่นอยากกินนี่ ชอบไปเที่ยว เลยใช้เงินแบบไม่เก็บ แต่นิ้งว่าตอนนั้นเราเด็ก แล้วไม่ได้มีคนสอนด้วยว่าต้องใช้ชีวิตยังไง เราอยู่คนเดียวจนมีภาวะซึมเศร้า เราก็พยายามจัดการมันด้วยตัวเองมาตลอด ตกกลางคืนก็นั่งทำกราฟิกขายของ ตอบแชตลูกค้า แพ็กของ วนอยู่แบบนั้น แล้วก็มีปัจจัยอีกหลายอย่างที่จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ที่เล่ามานี่แค่นิดเดียวของชีวิตนิ้งนะ เราผ่านอะไรมาเยอะจริง ๆ”

เราผ่านจุดที่ล้มเหลว และเติบโตมาได้ยังไง?

“นิ้งว่าตัวเองเป็นคนมีความหวังเสมอ คิดว่าชีวิตเราดีมากกว่านี้ได้ แม้ว่าเราจะเกิดมาไม่ได้มีต้นทุนอะไรมาก ไม่ว่าวันนั้นมันจะแย่หรือดูไม่มีหวังก็ตามที ตอนนั้นต้องถ่ายละคร แล้วหนูต้องดัดฟัน แต่ค่าดัดฟันแบบใสแพงมาก ๆ มันหนักมากสำหรับเรา พอรู้ราคาเดินออกมาแล้วก็ร้องไห้บนสะพานลอยตรงถนนลาดพร้าว ตอนนั้นเรายอมประหยัด นอนอยู่หอแบบไม่เปิดแอร์ ไม่เปิดพัดลม แต่ก็มาคิดได้ว่าหนึ่งเดือนมีตั้ง 30 วัน มันต้องมีอะไรดี ๆ เข้ามาบ้างแหละ เราแค่คิดไปก่อน กังวลไปก่อนว่าเราทำไม่ได้ ต้องแตกสลายแน่ ๆ เลย แต่กว่าเราจะคิดได้ก็จะปล่อยให้ตัวเองจมอยู่อย่างนั้นสักพักหนึ่งมันไม่เหมือนกับสวิตช์ไฟที่จะปิดได้เลย แต่พอเราร้องไห้จนเหนื่อยเดี๋ยวก็หยุดเอง หนูไม่เคยร้องไห้ได้เกิน 3 ชั่วโมง คุยกับตัวเอง ปลอบประโลมตัวเอง แบบนี้วนไปเรื่อย ๆ ตอนนี้อายุ 25 เองนะ แต่เราผ่านบททดสอบมาเยอะมาก ไม่รู้ว่าเราเข้มแข็งไปหรือเปล่า ชีวิตเลยโยนบททดสอบมาให้หนักขนาดนี้”

อัปเดตอาการเนื้องอกในสมองเป็นยังไงบ้าง?

“คุณหมอบอกว่าจะไม่หายขาดค่ะ ต้องผ่าตัดตลอดชีวิต แต่อาจจะอยู่ได้นานหน่อย แล้วค่อยผ่า เช่น 3 ปี หรือ 5 ปี ยังไงก็ตามเราไม่อาจจะเอาสิ่งนี้ออกจากสมองได้ เพราะเป็นจุดที่อันตรายมาก สิ่งที่เราทำได้คือ เอาออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างตอนนี้เนื้องอกมีขนาด 2 ซม. ถ้าหนึ่งปีมันโตขึ้นมาน้อยก็อาจจะไม่ต้องผ่าออก”

ตอนรู้ว่าตัวเองมีเนื้องอกในสมองตอนนั้นเป็นอย่างไร?

“หนูไม่รู้ว่าจะเรียกว่าข้อดี หรือโชคดีหรือเปล่า แต่การที่เราเคยเล่นเรื่อง THE DEADLINE และได้รับบทตัวละครที่ป่วยเป็นมะเร็ง ทำให้เราเข้าใจอะไรบางอย่าง เพราะเราเคยเจ็บปวดมาก่อน พอเจอจริง ๆ ก็รู้สึกว่า ว้าว…นี่ถ่ายหนังอยู่หรือเปล่าเนี่ย หนูร้องไห้ประมาณ 10 นาที แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงต่อ คิดไปก็ไม่ได้คำตอบ เลยคิดได้ว่าไหน ๆ ก็มีโอกาสได้นอนโรงพยาบาลแล้ว เราจะกินอะไรแถว ๆ นี้ที่อร่อยดีกว่า”

มุมมองความรักของนิ้งในวัยนี้เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน?

“ถ้าแฮปปี้ที่จะอยู่ด้วยกันก็อยู่ด้วยกัน ถ้าไม่แฮปปี้ก็ไม่ต้องอยู่ด้วยกัน นิ้งว่าคงยากมาก ๆ ที่เราจะเจอแฟนคนแรกที่ดีพร้อม แต่งงาน มีลูก แฮปปี้แฟมิลี่ อาจจะเป็นเพราะเราไม่เคยมีครอบครัวแบบนั้นด้วย เลยมีความกลัวบางอย่าง เราเป็นคนกลัวความสัมพันธ์ กลัวการผูกมัด เพราะพ่อแม่เราแยกกันอยู่ตั้งแต่เด็ก มีปัญหากัน เราเลยเติบโตมากับความกลัวว่าครอบครัวเราจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า เพราะตอนเด็ก ๆ เราก็อยากมีครอบครัวอย่างคนอื่น อยากให้พ่อแม่อยู่ด้วยกัน แต่พอโตมาจนช่วงอายุ 20 ปีเพิ่งมาเข้าใจว่า พ่อต้องมีชีวิตของพ่อ แม่ต้องมีชีวิตของแม่ เราต้องดูแลชีวิตของตัวเองให้ได้ เราทำได้แค่เดินต่อไปเท่านั้น ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะควบคุมได้ด้วยซ้ำ ความรักเป็นเรื่องที่ซับซ้อน มนุษย์มีอารมณ์ ความรู้สึก และพื้นเพที่แตกต่างกัน เลยทำให้เราเข้าใจเหตุผลของทุกคน ไม่ว่าใครจะเลิกกัน หรือไม่แฮปปี้ที่จะอยู่ด้วยกันก็โอเค หนูเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงมาก ๆ”

การถูกจับตามองเรื่องความรักจากสื่อหรือโซเชียลฯ ยากสำหรับนิ้งไหม?

“ยากค่ะ นิ้งไม่คุ้นชินกับการจับจ้องด้วยมั้ง เราเป็นคนธรรมดาสุด ๆ เป็นเนื้องอกด้วยซ้ำ ไม่ได้มีพาวเวอร์พิเศษเหมือนตัวละครที่เล่นเลย พอมีคนมาสนใจมากมายในเรื่องแบบนี้ เลยไม่คุ้นชิน และเป็นเรื่องยากเหมือนกัน เพราะเราไม่สามารถอธิบายให้ทุกคนเข้าใจได้ และยังมีตัวแปรและบริบทอีกเยอะมาก แต่ทุกคนก็พร้อมจะตัดสินกันตลอดเวลาบนโลกโซเชียลฯ บางครั้งเราพูดไปเต็มเลย แต่เขาตัดแค่ท่อนนั้นออกไป คนก็ได้ยินแค่สิ่งนั้นอยู่ดี เลยเป็นเรื่องง่ายมากที่เราอาจจะไปทำร้ายใครก็ได้ อย่าคิดว่าสิ่งที่เราพิมพ์ไปก็แค่ตัวหนังสือ ลองจินตนาการว่าถ้าเราโดนแล้วเราไม่โอเค เราก็ไม่น่าจะทำอย่างนั้นกับคนอื่น หนูไม่ซื้อการสร้างบาดแผลให้ใครเลยก็ตาม ยิ่งเราเข้าใจผ่านความเจ็บปวดมาเยอะมาก เราจะยิ่งไม่อยากให้คนเจอแบบนั้น เพราะรู้ว่ามันแย่ขนาดไหน”.

นฤมล แซ่แต้ : เรื่อง