ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2564 คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นมีมติเห็นชอบ การเตรียมระบายน้ำเสีย “ปนเปื้อนกัมมันตรังสีในระดับต่ำมาก” ปริมาณมากกว่า 1 ล้านตัน จากอ่างเก็บ 1,020 แห่ง ภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ประมาณช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือไม่เกินฤดูร้อนของปี 2566 โดยจะดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน และจะมีการจ่ายค่าชดเชยอย่างเหมาะสม ให้แก่ภาคธุรกิจ ภาคเกษตรกรรม ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งมีการประเมินแล้วว่า จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานตรวจสอบนิวเคลียร์ญี่ปุ่น ( เอ็นอาร์เอ ) มีมติเมื่อเดือนพ.ค. ปีที่แล้ว รับรองแผนการดำเนินงานของบริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียว ( เทปโก ) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ในการทยอยปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี ที่ผ่านกระบวนการกรองเพื่อลดสารอันตรายลงไม่น้อยกว่า 40% ลงสู่ทะเล และทุกขั้นตอนผ่านการรับรองโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ( ไอเออีเอ )
ด้านเทปโกยืนยันการใช้ครื่องกรองน้ำเสียประสิทธิภาพสูง เพื่อคัดแยกสารอันตรายออกจนเกือบหมด คงเหลือเพียงทริเทียม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าต้องเป็นการบริโภค “ปริมาณมหาศาล” จึงจะก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แม้การระบายน้ำเสียทั้งหมดนี้ ต้องใช้เวลา “นานหลายสิบปี” แต่ในระหว่างนี้ เทปโกจะสร้างสถานที่เก็บแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางส่วนที่หลอมละลายจนใช้การไม่ได้แล้ว ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันว่า “เป็นหนทางหลีกเลี่ยงไม่ได้” และการทำแบบนี้ “เป็นวิธีการซึ่งเป็นไปได้มากที่สุด” ในการกำจัดน้ำเสียออกจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงในการต่างประเทศญี่ปุ่นให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับเดลินิวส์ ว่าน้ำปนเปื้อนทริเทียมที่จะมีการระบายลงสู่ทะเล เหลือเพียงไอโซโทปของกัมมันตรังสีเท่านั้น ซึ่งมีปรืมาณต่ำมาก หากรับประทานเข้าไปสามารถกำจัดออกจากร่างกายได้ด้วยการดื่มน้ำสะอาด
สำหรับหน่วยวัดกัมมันตรังสีคือ “เบคเคอเรล” หรือ “บีคิว” ( Bq ) โดยองค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของปริมาณกัมมันตรังสีในน้ำดื่มไว้ที่ 10,000 บีคิวต่อลิตร ในส่วนของทริเทียมไม่ควรเกิน 60,000 บีคิวต่อลิตร
ส่วนการระบายน้ำเสียออกจากโรงไฟฟ้าฟุกชิมะครั้งนี้ จะมีระดับกัมมันตรังสีอยู่ที่ประมาณ 22 ล้านเบคเคอเรลต่อปี หรือเท่ากับ 1,500 บีคิวต่อลิตรเท่านั้น ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกแห่งบนโลกระบายน้ำเสียปนเปื้อนทริเทียมอยู่ตลอด และญี่ปุ่นขอยืนยันว่า ปริมาณน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะถือว่า “ต่ำมาก” เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่อีกหลายแห่งบนโลก
ผลการศึกษาโดยหน่วยงานหลายแห่งของญี่ปุ่นระบุว่า ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะล่วงเลยมานานกว่า 12 ปีแล้ว ความวิตกกังวลของประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชาวจังหวัดฟุกุชิมะ ไม่ใช่เรื่องของสุขภาพมากเป็นอันดับหนึ่งอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สุดในปัจจุบันคือ ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของจังหวัด เนื่องจากหลายฝ่ายทั้งในและต่างประเทศยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับ “ความปลอดภัย” และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
อย่างไรก็ตาม บรรดาประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นจีนและเกาหลีใต้ ตลอดจนกลุ่มประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงองค์กรการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก ( พีไอเอฟ ) ซึ่งมีสมาชิก 17 ประเทศ รวมถึง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฟิจิ ยังคงคัดค้านแผนการระบายน้ำเสียดังกล่าวอย่างหนัก โดยให้เหตุผลว่า “จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง” ต่อแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลและพื้นที่จับปลาในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่ง “ครึ่งหนึ่ง” ของประชากรทูน่าทั้งหมดบนโลกอาศัยอยู่ในทะเลบริเวณนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ญี่ปุ่นทบทวนการดำเนินการ
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำปนเปื้อนทริเทียมที่มีการชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบ แม้เป็นเพียงในเบื้องต้น แต่น่าจะช่วยให้ประชาชนได้รับทราบเป็นองค์ความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับ “ความโปร่งใส” ของข้อมูล และการดำเนินการที่กำลังจะเกิดขึ้น.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : REUTERS