ในปี 2564 ประเทศญี่ปุ่นมีรายงาน “คนหาย” ราว 80,000 คน ซึ่งในกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่หายตัวไปโดยเจตนาด้วยสาเหตุต่าง ๆ กันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีหนี้สินติดตัวจนชดใช้ไม่ไหว ต้องการหลบหนีจากการโดนทำร้ายร่างกายในครอบครัว หรือเพียงแค่ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่โดยทิ้งอดีตทุกอย่างไว้เบื้องหลัง

ในสารคดีว่าด้วยธุรกิจพาคนหนีของสำนักข่าวเซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ นาโอะกิ อิวะบุกิ เป็นหนึ่งในผู้ทำธุรกิจช่วยเหลือให้คน “หายตัว” ไปอย่างไร้ร่องรอย โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของการลอบติดตามจากพวกโรคจิตหรือเหยื่อของการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เขาจะช่วยคนเหล่านี้ให้หลบหนีไปจากสังคมเดิม ๆ และเดินทางไปพำนักในที่ใหม่อย่างปลอดภัย

แน่นอนว่า งานของอิวะบุกิเป็นงานที่มีทั้งความเสี่ยงและอันตราย ด้วยเหตุนี้เขาจึงพกกระเป๋าเอกสารใบหนึ่งติดตัวอยู่เสมอ ภายในกระเป๋าใบนี้ไม่มีเอกสาร แต่เต็มไปด้วยอาวุธและอุปกรณ์ป้องกันตัว นอกจากนี้เขายังพกไม้เท้าพับได้ซึ่งสามารถใช้เป็นอาวุธเอาไว้ป้องกันตัวเองได้ด้วย

อิวะบุกิมักคาดการณ์ฉากที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างทำงานเสมอ เนื่องจากมักเป็นการปฏิบัติการช่วงกลางคืน เขากล่าวว่าธุรกิจนี้จึงมีแต่ปัญหา ต้องเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์ที่อาจเป็นไปในทางลบตลอดเวลา 

อิวะบุกิเริ่มต้นทำธุรกิจนี้เมื่อ 16 ปีก่อน หลังจากที่เขาพบว่ามีผู้หญิงจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในญี่ปุ่นที่ต้องประสบปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและไม่สามารถหนีออกจากบ้านได้ เขาจึงเริ่มให้ความช่วยเหลือพวกเธอให้ “หายตัว” ไป

90% ของลูกค้าของเขาเป็นผู้หญิง ที่เหลือเป็นลูกค้าชาย และในปัจจุบันนี้ จำนวนคนที่ต้องการให้เขาช่วยเหลือเพื่อให้ “หายตัว” ไปจากโลกที่พวกเขาอาศัยอยู่นั้นมีมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาถึง 3 เท่าในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด 

แม้จะไม่ได้มีการเปิดเผยอัตราค่าบริการของธุรกิจที่มีชื่อเรียกว่า ‘โยนิเงยะ’ ในภาษาญี่ปุ่นอย่างแน่ชัด แต่มีข้อมูลว่าเริ่มกันที่หลักหมื่นบาทไปจนถึงแสนหรือมากกว่านั้น ตามระดับความต้องการของลูกค้าและความซับซ้อนของงาน

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลิสไทมส์ เคยรายงานไว้ว่า ธุรกิจ โยนิเงยะ มีอัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ 2,000 เหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 70,000 บาท และอาจสูงถึง 20,000 เหรียญสหรัฐหรือเกือบ 700,000 บาท แล้วแต่ความยาก-ง่ายของการพาหนี

ในญี่ปุ่นนั้น เมื่อคน “หายตัว” หรือ “หายสาบสูญ” ไปได้สำเร็จ สถานการณ์หลังจากนั้นจะง่ายขึ้น เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เคารพความเป็นส่วนตัวสูงมาก การติดตามหรือหาร่องรอยตัวบุคคลสูญหายนั้น ทำได้ยาก เพราะกฎหมายญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ใช้กล้องวงจรปิดเป็นเบาะแส ยกเว้นกรณีที่เกี่ยวข้องกับคดีอาชญากรรมหรืออุบัติเหตุ อีกทั้งยังจำกัดสิทธิ์ของครอบครัวในการติดตามร่องรอยการทำธุรกรรมทางการเงินของบุคคลสูญหาย ด้วยเหตุนี้ คนที่ “หายตัว” ไป จึงยังคงใช้บัตรเอทีเอ็มเบิกถอนเงินได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างนักสืบเอกชนเพื่อตามหาคนหายยังแพงมาก อีกทั้งลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นเองก็มีส่วน เช่น อาจเกิดความอับอายหรือละอายใจที่มีคนในบ้านแอบหนีไป กลัวคนอื่นจะมองในแง่ลบว่าตนเป็นสาเหตุที่ทำให้สมาชิกในบ้านทนไม่ได้จนต้องหนี จึงมีครอบครัวจำนวนมากที่ไม่ได้แจ้งความหรือตามหาตัวคนหายอย่างโจ่งแจ้ง

ในเมื่อ “ทางสะดวก” ขนาดนี้ จึงมีคนญี่ปุ่นจำนวนมากที่อยากทิ้งชีวิตเดิมๆ แล้วไปเริ่มต้นใหม่กับสังคมใหม่ ยินดีจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อใช้บริการจากบริษัทโยนิเงยะ โดยมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่แสนคุ้มค่าในการทิ้งโลกใบเก่าและเปิดทางสู่โลกใบใหม่ที่พวกเขาจะได้ใช้ชีวิตตามใจฝันเสียที.

แหล่งข้อมูล : insider.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES